อินเทอร์เน็ตเปลี่ยน 'สมอง' คนจากวิธีการอ่านแบบใหม่จริงหรือ?

ยุคอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องคนรุ่นใหม่ขาดความสามารถในการ 'อ่านช้า' และ 'อ่านแบบละเอียดลึกซึ้ง' เพราะปริมาณข้อมูลจำนวนมาก ทำให้สมองต้องปรับตัวเน้นอ่านแบบผ่านๆ หาคำสำคัญโดยไม่ลงลึก แต่ก็มีผู้ศึกษาเทคโนโลยีมองว่าอินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นพื้นที่สำหรับคนอ่านช้าได้

15 เม.ย. 2557 เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศมีข้อถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมการอ่านในยุคอินเทอร์เน็ต โดยขณะที่นักประสาทวิทยาด้านการรับรู้และการคิดมองว่าการท่องเว็บไซต์ทำให้คนเราหันมาอ่านด้วยวิธีการ "อ่านผ่านๆ" มากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมการอ่านช้าๆ อย่างซึมซับรายละเอียดน้อยลง แต่นักเขียนเรื่องเทคโนโลยีกลับมองว่าอินเทอร์เน็ตไม่น่าจะส่งผลเช่นนั้น ตรงกันข้ามน่าจะเป็นการส่งเสริมการอ่านหนังสือเล่มหนาด้วยซ้ำ

วอชิงตันโพสต์เล่าถึงแคลร์ แฮนด์สคอมบ์ นักศึกษาปริญญาโทด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์จากมหาวิทยาลัยอเมริกันในรัฐวอชิงตันดีซี บอกว่าเธอมีปัญหาด้านการอ่านเรื่องต่างๆ จากอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน เธอจะคลิกลิงก์จากโซเชียลเน็ตเวิร์ก อ่านเนื้อหาเพียงไม่กี่ประโยค ค้นหาคำที่น่าสนใจ หลังจากนั้นก็เริ่มกระวนกระวายและอ่านหน้าอื่นอย่างผ่านๆ

แฮนด์สคอมบ์บอกว่าเธอใช้เวลาไม่ถึงนาทีแล้วก็เปลี่ยนไปอ่านอย่างอื่น เธอยังติดนิสัยแบบนี้จากการอ่านในโลกออนไลน์มาสู่การอ่านอย่างอื่นเช่นวนิยายด้วย

"มันราวกับว่าตาเรามองผ่านๆ คำไป แต่ไม่ได้รับรู้มันด้วย พอฉันรู้ตัวแล้ว ฉันก็จะกลับไปอ่านมันซ้ำๆ อีก" แฮนด์สคอมบ์กล่าว

สำหรับนักประสาทวิทยาด้านการรับรู้และการคิด (cognitive neuroscientists) สิ่งที่แฮนด์สคอมบ์ประสบอยู่เป็นสิ่งที่น่าศึกษาและมีคนประสบแบบเดียวกันเพิ่มมากขึ้น พวกเขาบอกว่ามนุษย์เราพัฒนาสมองในแบบดิจิตอลที่เอื้อต่อการอ่านแบบผ่านๆ เพื่อให้สามารถรับรู้ข้อมูลจำนวนมหาศาลในโลกออนไลน์ได้ วิธีนี้ถือเป็นการอ่านอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากการอ่านช้าๆ แบบเก่าที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน

มาร์ยานน์ วูลฟฺ์ นักประสาทวิทยาด้านการรับรู้และการคิดจากมหาวิทยาลัยทัฟส์กล่าวว่า เขากังวลเรื่องวิธีการอ่านแบบผ่านๆ จะส่งผลต่อคนทั่วไปเวลาที่ต้องอ่านแบบลงรายละเอียดด้วย

วูลฟ์ บอกว่าการชมข่าวจากโทรทัศน์ทำให้เกิดวัฒนธรรม 'วรรคทอง' หรือ 'วลีเด็ด' (sound bites) โลกของอินเทอร์เน็ตก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมการมองหรือการอ่านเฉพาะคำเด่นๆ แบบที่วูลฟ์เรียกว่า 'อายไบต์' (eye byte)

นักวิจัยกำลังศึกษาเรื่องความแตกต่างระหว่างการอ่านในอินเทอร์เน็ตกับการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ส่งผลดีด้านความเข้าใจมากกว่า จนมีความกังวลว่าเด็กที่ใช้เครื่องมือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการอ่านมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจอย่างละเอียดหรือไม่ เพราะสมองของคนเรามักจะปรับตัวตามวิถีชีวิตที่ใช้

วูลฟ์ ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยเรื่องการอ่านเปิดเผยว่าเมื่อปี 2556 เธอค้นพบว่าสมองของเธอเองก็มีความสามารถปรับตัวด้วยเหมือนกัน เนื่องจากวิถีชีวิตของเธอต้องคอยกดปุ่มไล่อ่านเว็บต่างๆ หรืออ่านอีเมลเป็นจำนวนหลายร้อยฉบับ ทำให้เมื่อเธอพยายามจะอ่านวรรณกรรมเล่มหนาอย่าง "เกมลูกแก้ว" ของเฮอร์มาน เฮสเส เธอไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเธอไม่สามารถบังคับตัวเองให้อ่านแบบช้าๆ ได้ เธอกลับอ่านแบบผ่านๆ มองหาคำสำคัญต่างๆ ควบคุมการกลอกตาเพื่อรับรู้ข้อมูลให้ได้มากที่สุดภายในเวลาสั้นที่สุด

เรื่องนี้ทำให้ถึงขั้นมีการตั้งกลุ่มที่เรียกว่าขบวนการ "อ่านช้า" หรือ "สโลว์ริดดิ้ง" (Slow Reading) ซึ่งนำชื่อมาจากขบวนการ "สโลว์ฟู้ด" (Slow food) ที่ให้ความสำคัญกับความพิถีพิถันของอาหารมากกว่าความรวดเร็ว โดยขบวนการอ่านช้าไม่เพียงแค่ต่อต้านการอ่านแบบผ่านๆ อ่านแบบข้ามประโยคเท่านั้น พวกเขายังต่อสู้กับโซเชียลเน็ตเวิร์กและอีเมลที่มักจะส่งเสียงเรียกร้องรบกวนการอ่าน

สมองคนที่ปรับตัวเข้ากับการอ่านแบบใหม่

สมองของคนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการอ่าน ไม่มียีนในตัวคนที่เกี่ยวกับการอ่านมีแต่ยีนเกี่ยวกับภาษาและการมองเห็น แต่หลังจากการผลิตตัวอักษรและเทคโนโลยีการพิมพ์ก็ทำให้สมองคนปรับตัวต่อการอ่าน

ก่อนยุคอินเทอร์เน็ตสมองคนมักจะอ่านในแบบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ (linear) จากหน้าหนึ่งสู่อีกหน้าหนึ่ง แม้ว่าจะมีรูปภาพแทรกอยู่ในหนังสือแต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดึงความสนใจจากการอ่านไปได้ นักวิจัยบอกว่าการอ่านตามหน้ากระดาษทำให้คนมีความสามารถจดจำได้ว่าข้อมูลสำคัญอยู่ตรงจุดไหนจากการจัดหน้าหนังสือ เช่น เราจะทราบว่าตัวเอกเสียชีวิตในหน้านี้ ที่มีย่อหน้าราวๆ 2 ย่อหน้าหลังจากบทสนทนา

แต่อินเทอร์เน็ตต่างออกไป มีข้อมูลมากมาย มีข้อความที่ถูกใส่ลิงก์เชื่อมต่อไปยังที่อื่น มีวิดีโอไปพร้อมๆ กับตัวหนังสือ และมีการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบอยู่ทุกที่ ทำให้สมองของเราสร้างทางลัดเพื่อจัดการกับมัน คือการอ่านแบบผ่านๆ ซึ่งเป็นวิธีการอ่านแบบไม่ต่อเนื่อง (nonlinear) ซึ่งมีการบันทึกไว้ในงานวิจัย นักวิจัยบางคนเชื่อว่าคนจำนวนมากเริ่มอ่านในแบบดังกล่าวนี้กับสื่ออื่นๆ นอกจากอินเทอร์เน็ตด้วย

เช่น กรณีของราเมช คูรับ บอกว่าเขามีปัญหากับการอ่านประโยคยาวๆ ที่มีการเชื่อมประโยคเต็มไปด้วยข้อมูลภูมิหลัง ประโยคในโลกออนไลน์มักจะสั้นกว่า และประโยคที่มีข้อมูลซับซ้อนมักจะใช้วิธีการทำลิงก์เชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลที่เป็นภูมิหลัง

ไม่ใช่แค่คูรับเท่านั้น วูลฟ์กล่าวว่ามีคนจากภาควิชาภาษาอังกฤษหลายคนอีเมลหาเธอบอกว่านักเรียนก็มีปัญหาเดียวกับในการอ่านวรรณกรรมคลาสสิก ตัววูลฟ์เองไม่ได้เป็นคนต่อต้านเทคโนโลยี เธอใช้อีเมลเป็นประจำและส่งแท็บเลตให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยส่งเสริมการอ่านแก่เด็ก แต่เธอก็เกรงว่าประโยคสั้นๆ เช่นในทวิตเตอร์จะทำให้คนสูญเสียเรื่องความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในรูปประโยค ซึ่งสำหรับเธอแล้วถือเป็นสิ่งสะท้อนความคิดของคนเราที่มีการเชื่อมโยงซับซ้อน

"สิ่งที่ฉันกังวลคือเราจะสูญเสียความสามารถในการแสดงออกหรือการอ่านร้อยแก้วที่มีการเชื่อมโยงซับซ้อน สมองของเราจะกลายเป็นสมองแบบทวิตเตอร์ไปหรือเปล่า" วูลฟ์กล่าว

นักเขียนเรื่องเทคโนโลยีชวนถก "อินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำลายการอ่านแบบละเอียด"

สิ่งที่วูลฟ์คิดอาจจะเป็นความกังวลที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ สำหรับสตีเวน พูลล์ ผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีในเว็บไซต์เดอะการ์เดียน มองในอีกมุมหนึ่งว่าความกังวลของวูลฟ์อาจจะไม่จริงเสมอไป โดยบอกว่าเขายังพบเห็นคนจำนวนมากเข้าไปใช้ห้องสมุด และเห็นคนอ่านหนังสือเล่มหนาๆ เช่น เกมออฟโธรน หรือ ฟิฟตี้เชดออฟเกรย์ ในขนส่งสาธารณะของลอนดอน

พูลล์เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงที่พัฒนาการทางระบบประสาทของคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและมีบางส่วนที่สูญหายไปตามกาลเวลา เช่นเราคงสูญเสียทักษะการล่าสัตว์ใหญ่ๆ ด้วยหอกไป ในยุคที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมก้าวหน้าเช่นนี้ และในทุกวันนี้เราไม่ได้อ่านจากลายมืออีกต่อไป ทำให้ต้องมาคิดกันว่า "สมองที่สามารถอ่านได้ละเอียดลึกซึ้ง" มีความจำเป็นหรือไม่

อย่างไรก็ตามพูลล์เป็นคนให้คุณค่ากับการอ่านแบบลงรายละเอียด เขายอมรับว่าอินเทอร์เน็ตมีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจมากและชวนให้คนอ่านแบบผ่านๆ หรือกระทั่งทำให้เกิดพวกที่บอกว่า "ยาวไปไม่อ่าน" ทำให้ต้องป้อนข้อเท็จจริงสั้นๆ เป็นคำๆ เท่านั้น

แต่เมื่อเทียบกับยอดขายหนังสือวรรณกรรมเยาวชนดังๆ รวมถึงงานวิจัยอีกส่วนหนึ่งที่มุ่งให้ความสนใจวัยรุ่นจริงๆ แล้ว พูลล์ก็บอกว่าการประกาศว่าอินเทอร์เน็ตทำให้เด็กยุคต่อไปมีสมองที่อ่านได้แบบเดียวไม่ใช่เรื่องจริง

พูลล์ยกตัวอย่างหนังสือที่ชื่อ 'บอร์น ดิจิตอล' (Born Digital) โดยจอห์น พัลฟรีย์ และเออร์ส แกสเซอร์ ซึ่งเกี่ยวกับการศึกษาคนรุ่นแรกในยุคดิจิตอล ในหนังสือระบุยกตัวอย่างวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีวิธีการเก็บข้อมูลข่าวสารทั้งวิธีการ "อ่านผ่านๆ" และวิธีการ "ลงในรายละเอียด" เมื่อเธอเจอสิ่งที่สนใจ

"งานเขียนที่มีความยาว ความเข้มข้น และมีคุณค่ากำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในอินเทอร์เน็ตที่คนมองโลกในแง่ร้ายกล่าวหาว่าทำลายสมาธิเรา มีนิตยสารออนไลน์เกิดใหม่ให้ความสำคัญกับรายงานเชิงลึก หรือการหารือออกไอเดียที่มีสีสัน จากคำแสดงประเด็นจำนวนมากซึ่งอาจจะเป็นอุดมคติแม้กระทั่งกับคนที่ชอบอ่านช้าๆ" พูลล์กล่าว

พูลล์บอกอีกว่าสำหรับเขาแล้วเรื่องการอ่านนี้เป็นเรื่องในเชิงวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องประสาทวิทยา ข้ออ้างเรื่อง "สมอง" จึงฟังดูเหมือนทำให้ข้อถกเถียงของอีกฝ่ายหนึ่งฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่านั้น

สมองที่อ่านได้ทั้งสองแบบ

นักวิจัยบอกว่าเรื่องความแตกต่างเกี่ยวกับการอ่านยังต้องมีการศึกษากันมากกว่านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับใช้ด้านการศึกษา การอ่านที่ให้ได้ทั้งสองแบบย่อมถือเป็นศักยภาพอย่างหนึ่ง
"พวกเราถอยกลับไม่ได้แล้ว" วูลฟ์กล่าว "พวกเราควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังไปพร้อมๆ กับการให้สื่อสิ่งพิมพ์เด็กอ่าน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยีในโลกดิจิตอล มันสำคัญทั้งคู่ พวกเราต้องถามคำถามว่า เราจะต้องการจะรักษาอะไรไว้"

วูลฟ์บอกว่าเธอเองก็กำลังฝึกอ่านให้ได้ทั้งสองแบบ เธอพยายามอ่านเฮสเสอีกครั้งโดยลดเวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ลง เธอบอกว่าอีก 2-3 คืนหลังจากนั้นยังเป็นเรื่องยากสำหรับเธอที่จะอ่านแบบช้าๆ อย่างละเอียดได้ แต่ 2 สัปดาห์หลังจากนั้นเธอก็สามารถเพลิดเพลินไปกับหนังสือได้

"ฉันอยากเพลิดเพลินกับการอ่านในแบบนี้อีก" วูลฟ์กล่าว "เมื่อฉันรู้สึกเหมือนได้ฟื้นฟูตัวเองแล้ว ฉันก็สามารถอ่านอย่างช้าลง ใช้ความคิด และลิ้มรสชาติของสิ่งที่อ่านได้มากขึ้น"

 

เรียบเรียงจาก

Serious reading takes a hit from online scanning and skimming, researchers say, Washington Post, 07-04-2014
The internet isn't harming our love of 'deep reading', it's cultivating it, The Guardian, 11-04-2014
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท