Skip to main content
sharethis

อ่านแนวคิดนักปรัชญาฝรั่งเศสที่อดีตนายกรัฐมนตรีต้องอ้างอิงในประเด็น "ความเลวร้ายที่กระทำในนามกระบวนการยุติธรรม" เจ้าของทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ซึ่งยังคงเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในรัฐสมัยใหม่ พร้อมพิจารณาข้อวิจารณ์การใช้ความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรมสมัยรัฐบาลทักษิณ

กรณีที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งหลบหนีไปต่างประเทศและไม่มาฟังคำพิพากษาคดีซื้อขายที่ดินรัชดาในปี 2550 และต่อมาในปี 2558 ถูกกระทรวงการต่างประเทศสั่งเพิกถอนพาสปอร์ตหลังให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีใต้โชซอนอิลโบ รวมทั้งถูกถอดยศพันตำรวจโท ล่าสุดได้ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์บัญชี @ThaksinLive ว่า "มงแต็สกีเยอ เคยกล่าว "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม"

สำหรับมงแต็สกีเยอที่ทักษิณอ้างถึง คือ ชาร์ล-หลุยส์ เดอ เซอกงดา บารอนแห่งแบรด และมงแต็สกีเยอ (Charles-Louis de Secondat, baron de La Brède et de Montesquieu) หรือรู้จักกันในชื่อ มงแต็สกีเยอ (Montesquieu) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1689 และเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1755 (พ.ศ. 2298) เขาเป็นนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส เจ้าของทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อรูปแบบการปกครองของรัฐสมัยใหม่และอยู่ในหลักการรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ

ส่วนข้อความที่ทักษิณอ้างถึงในทวิตเตอร์ มาจากหนังสือของมงแต็สกีเยอที่ชื่อ Considérations sur les causes de la grandeur des Romains/Considerations on the Causes of the Grandeur and Decadence of the Romans หรือ ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่และความเสื่อมถอยของชาวโรมัน ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1734 (พ.ศ. 2277) เขียนถึงจุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐโรมันเมื่อ 735 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงยุคสิ้นสุดของคอนสแตนติโนเปิล เมื่อ ค.ศ. 1453 หลังการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมาน โดยเขียนวิเคราะห์สาเหตุความยิ่งใหญ่และเสื่อมถอยของจักรวรรดิโรมัน

 

ภาพหน้าแรกของหนังสือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย (ที่มา: Smuconlaw/Wikipedia)

ในหนังสือ  De l'Esprit des Lois/The Spirit of the Laws หรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1748 (พ.ศ. 2291) มงแต็สกีเยอ ได้เสนอหลักของการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) ซึ่งยังคงเป็นหลักการสำหรับการปกครองในปัจจุบัน

โดยเขาอธิบายว่า อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจเกี่ยวกับการวางระเบียบบังคับทั่วไปในรัฐ เช่น ออกกฎหมายพิจารณาเงินงบประมาณและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจ

อำนาจบริหาร เป็นอำนาจปฏิบัติการซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน เช่น การนำกฎหมายมาบังคับใช้หรือออกกฎหมายบางส่วนที่มีความสำคัญน้อยกว่านิติบัญญัติ โดยมีรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจ

และอำนาจตุลาการ เป็นอำนาจปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่ง คือ อำนาจในการวินิจฉัยอรรถคดี เช่น ในการตีความตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งตัดสินพิจารณาคดีต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานศาลและกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจนี้ เป็นต้น

เขามองว่า รัฐบาลที่ดีที่สุดจะต้องเป็นรัฐบาลที่อำนาจแต่ละอำนาจถูกใช้โดยองค์กรที่แตกต่างกัน เมื่อบุคคลคนเดียวหรือองค์กรเดียวมีการรวมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารไว้ด้วยกัน เสรีภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ และถ้าอำนาจตัดสินคดีไม่ได้แยกออกจากอำนาจนิติบัญญัติหรือบริหารจะไม่มีเสรีภาพอีกเช่นกัน ในการแยกอำนาจก็เพื่อจะคุ้มครองและให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เพื่อมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งใช้อำนาจเพียงองค์กรเดียว

สำหรับหลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบการปกครองของรัฐสมัยใหม่ โดยในกรณีของสหรัฐอเมริกา เจมส์ แมดิสัน ประธานาธิบดีคนที่ 4 ของสหรัฐอเมริกา และบิดาแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองฝรั่งเศสอย่างยิ่ง โดยเขายึดหลักการที่ว่า "รัฐบาลควรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่มีมนุษย์ผู้ใดระแวงกันเอง" และนำมาสู่รัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย

 

ข้อวิจารณ์เรื่องละเมิดกระบวนการยุติธรรมสมัยทักษิณ

อนึ่งในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกวิจารณ์เรื่องของการละเมิดกระบวนการยุติธรรม โดยในปี 2546 เขาถูกวิจารณ์ในเรื่องนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยไม่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยในเวลานั้นเกิดคดีฆาตกรรมถึง 2,561 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,819 ศพ

เมื่อหลังเกิดความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ต้นปี 2547 รัฐบาลทักษิณและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็ถูกวิจารณ์ถึงมาตรการใช้ความรุนแรง เช่น การปราบปรามกลุ่มผู้ก่อเหตุเมื่อ 27 เมษายน 2547 จนมีผู้เสียชีวิต 108 ราย และเฉพาะมัสยิดกรือเซะมีผู้เสียชีวิต 32 ราย ซึ่งภายหลังคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ ที่ตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีข้อเสนอว่า "การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะด้วยสันติวิธีจึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนัก" นอกจากนี้ในช่วงเดือนรอมฎอน ก็มีการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 84 คน ฯลฯ

 

ที่มาของข้อมูล

อำนาจอธิปไตย, ผู้เรียบเรียง ปิยะวรรณ ปานโต, สถาบันพระปกเกล้า

Separation of powers, Wikipedia

Montesquieu, Wikipedia

กรณีตากใบ, วิกิพีเดีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net