Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเปิดตัว "พรรคนิวบลัด" ทำให้การเมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง สื่อสายการเมืองดูจะตื่นเต้นกันมากกับข่าวนี้ ปัจจัยสำคัญคิดว่าเป็นเพราะความอึดอัด อัดอั้นจากปัญหาวิกฤตการเมืองต่อเนื่องยาวนานมานับสิบปี

คำถามประเด็นต่อมาคือ นโยบายของพรรคยุคใหม่ควรจะเป็นอย่างไร ถ้าหากเรามองไปไกลกว่าความขัดแย้งทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ไปยังอนาคตระยะไกลอีก 10-20 ปีต่อไป พรรคการเมืองรุ่นใหม่มีโจทย์อะไรที่ต้องแก้ไข

ผมมานั่งนึกๆ ดูแล้ว คิดว่ามีธีมใหญ่ๆ อยู่ 2 เรื่องที่ยังไงเสียก็ต้องทำ เพื่อความเท่และความชัดเจนในแง่ความหมาย ขอเรียกเป็นภาษาอังกฤษดังนี้

1. Bring back justice

2. Bring back prosperity

ขออธิบายแบบยาวสักหน่อยดังนี้

ข้อแรก Bring back justice สังคมไทยทุกวันนี้มีความ "อยุติธรรม" แทรกตัวอยู่ทุกอณู ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ อย่างรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว ไปจนถึงเรื่องที่ดูเหมือนเล็กๆ และพบได้ในชีวิตประจำวัน  จะลองสังเกตจากข่าวรอบตัวก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวป้าทุบรถ ยิงเสือดำ ล็อตเตอรี่ 30 บาท ล้วนแต่เป็น "ความอยุติธรรม" ทั้งนั้น แถมหลายเคส กลายเป็นว่า "รัฐ" และ "เจ้าหน้าที่รัฐ" นี่แหละเป็นผู้สร้างความอยุติธรรมนี้เอง

ความอยุติธรรมที่พบได้ทุกหย่อมหญ้า ทำให้คนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำย่อมไม่พอใจและเก็บกด อัดอั้นอยู่เสมอมา ดูอย่างป้าทุบรถเป็นตัวอย่างได้ (สังคมแบบนี้จะไปถามหาความปรองดองได้อย่างไร)

สิ่งที่พรรคการเมืองยุคหน้าต้องทำ คือทวงคืนความยุติธรรมกลับมาสู่สังคมไทย ซึ่งก็ต้องทำในทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ๆ อย่างการแก้รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงโจทย์ย่อยๆ (แต่รวมกันแล้วไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย) อย่างการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นอย่างไม่มีจิตสำนึก

ข้อสอง Bring back prosperity เคยมีเพื่อนผมคนหนึ่งพูดเอาไว้ว่า สมัยทักษิณเป็นนายก รู้สึกว่าอนาคตสดใส เรามองไปข้างหน้าด้วยความหวัง แต่หลังจากนั้นมา เรามองไม่เห็นอนาคต เราเลยเปลี่ยนมาโหยหาอดีต (ที่คิดว่า) เรืองรอง ถ้ามองอดีตสั้นๆ ยังไม่เจอความเรืองรองก็ย้อนไปอีกเรื่อยๆ ก็จะเจออะไรดีๆ เข้าสักอย่างจนได้

ถ้ามองย้อนกลับไปในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในแทบทุกเรื่อง เรื่องการเมืองระดับนานาชาติ การเป็นผู้นำระดับภูมิภาค เศรษฐกิจโลกนี่แพ้ไปนานแล้วไม่ต้องพูดถึง ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอันดับมหาวิทยาลัย กีฬา ก็ตกอันดับหมดแทบไม่มีอะไรเป็นความภาคภูมิใจกับเขาได้อีกเท่าไร

ผมคิดว่าสัญญาณที่ดีอันหนึ่งคือ คนไทยจะมีอาการ "กลัวเวียดนามแซง" อยู่เสมอ นี่เป็นภาพสะท้อนความกลัวอันนั้นที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในจิตใจของคนจำนวนมาก

ประเทศที่เคยรุ่งเรือง มีความภูมิใจในขีดความสามารถขอตัวเองมาก่อน พอจู่ๆ มันเข้าสู่ช่วงขาลง คนไทยจึงโหยหาความภาคภูมิใจเหล่านี้มาก จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เวลามีคนไทยสักกลุ่มเก่งขึ้นมาในระดับโลก คนจึงให้ความสนใจอย่างถล่มทลาย (เหมือนอั้นความสะใจนี้มานาน)  ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ ฟุตบอลทีมชาติที่กลับมาเป็นเจ้าแห่งภูมิภาคได้อีกครั้ง หรือทีมวอลเลย์บอลหญิงที่สร้างผลงานได้ดีในระดับเอเชีย

ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าลึกๆ แล้ว คนไทยโหยหาความรุ่งเรืองเหล่านี้อยู่ และนี่เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะเป็นผู้นำประเทศในยุคหน้า ต้องเสนอแนวทางเพื่อสร้างความรุ่งเรืองนี้กลับมาอีกครั้ง ทำให้ประเทศไทยกลับมายืนแถวหน้าได้บนเวทีโลก ทำให้คนไทยภูมิใจกับความสามารถในการแข่งขันของตัวเองอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องแก้ไขในทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์

สองเรื่องนี้คือ Big Questions แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล แต่นั่นก็คือกำแพงที่จะต้องก้าวข้ามผ่านไปเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของพวกเราทุกคน

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.isriya.com

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net