Skip to main content
sharethis

ครม. มีมติอนุมัติ หลักการ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... ส่ง สนช.พิจารณาต่อ แม้ 'คนรักหลักประกันสุขภาพ' เคยเรียกร้องให้ตีกลับร่างดังกล่าว

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

10 ต.ค.2561 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (10 ต.ค.61)  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีมติหนึ่งที่น่าสนใจคือ ครม. มีมติอนุมัติ หลักการร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 

สำหรับ สาระสำคัญของเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... เว็บไซต์ทำเนียบระบุว่า มีสาระสำคัญเป็นการกำหนด ให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเป็นคณะกรรมการระดับชาติ  ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพของประเทศและประชาชน  ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีเอกภาพและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งกำกับดูแล หน่วยงานด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการในระบบสุขภาพ ตลอดจนทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพในระดับประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างเอกภาพในทางนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการจัดทำบริการสาธารณสุขและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดี  อันสอดคล้องกับมาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้รัฐดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง  และยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นกระจายการให้บริการภาครัฐ ทั้งด้านการศึกษา  สาธารณสุข  และสวัสดิการ ที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมและทั่วถึง ตลอดจนเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุขซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้มีการอภิบาลระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ระบบสุขภาพ ของประเทศมีเอกภาพการดำเนินงานด้านสุขภาพของทุกภาคส่วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำนักข่าว Hfocus รายงานด้วยว่า คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติมี 45 คน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานคนที่ 2 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการและเลขานุการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นสำนักงานเลขานุการ กรรมการอื่นแบ่งตามสัดส่วน ดังนี้

โดยตำแหน่งจากหน่วยงานของรัฐ 12 คน, โดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่มีกฎหมายจัดตั้งเฉพาะด้านสุขภาพ 6 คน, จากสภาวิชาชีพ 9 คน, ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 คน, ผู้แทนภาคประชาสังคมและเอกชน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน

สำนักข่าว Hfocus ยังรายงานว่า ในการรับฟังความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่างๆ พบว่ามีหลายหน่วยงานที่มีความเห็นท้วงติง เช่น กระ ทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการมีจำนวนมากเกินไปอาจส่งผลต่อการปฏิบัติงานและสร้างภาระเบี้ยประชุม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การกำหนดให้คณะกรรมการเสนอแนะต่อ ครม.เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการทางการเงินหรือการคลังที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพนั้น อาจกระทบต่อการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินและเงินกองทุนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.แร่, พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือไม่ นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังเห็นว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีความคล้ายคลึงกัน ขณะที่สำนักงาน ก.พ.ร.มีความเห็นว่า ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อมีกฎหมายนี้แล้วประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการเสนอกฎหมายนี้อย่างไร

'คนรักหลักประกันสุขภาพ' จี้ ครม.ตีกลับร่างซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ

ขณะที่เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า  ขณะนี้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่พูดไว้ในเรื่องแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา แผนปฏิรูประบบสาธารณสุขนี้กระทรวงสาธารณสุขชงเอง กินเอง ตัดขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ยึดอำนาจให้ข้าราชการเป็นผู้ชี้ขาดทุกอย่าง และดูแลเฉพาะผลประโยชน์ของพวกพ้องตัวเองเท่านั้น ที่ผ่านมา รัฐบาลและ รมว.สาธารณสุข ต่างนำผลสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปอวดกับประชาคมโลก ล่าสุดในการประชุมที่คิวบา และบอกว่าจะพัฒนาในด้านต่างๆ เรียกได้ว่า เป็นวาทกรรมสวยหรู แต่แผนปฏิรูปกลับทำตรงข้ามทุกอย่าง และบ่อนทำลายระบบ 30 บาทของประชาชนในที่สุด

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ มีเป้าหมายเป็นซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพชาติ ยึดและกินรวบทุกบอร์ดสุขภาพ ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพที่ สธ.กำลังจะผลักดันและจะเสนอเข้า ครม.เร็วๆ นี้ เป็นการยึดอำนาจคืนจากประชาชน และให้ข้าราชการเป็นผู้กินรวบและชี้ขาดทุกอย่าง โครงสร้างคณะกรรมการมี 45 คน มีประชาชนอยู่ในนี้แค่ 3 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการ วิชาชีพทางการแพทย์ มีแม้กระทั่งสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้า และกลาโหม ถามว่าเอากลุ่มนี้เข้ามาเขาก็ต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม 

ที่สำคัญ มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ระบุว่า นโยบายด้านระบบสุขภาพใด ขัดหรือแย้งกับนโยบายด้านระบบสุขภาพตาม พ.ร.บ.นี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ ปราศจากการมีส่วนร่วม หากปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้ผ่าน ระบบหลักประกันสุขภาพจะได้รับผลกระทบมาก แม้แต่บอร์ดหลักประกันสุขภาพ อาจถูกแทรกแซงโดยคณะกรรมการจาก พ.ร.บ.นี้ได้ ดังนั้ร่างกฎหมายที่ สธ.กำลังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบนี้ ประชาชนต้องช่วยกันหยุด ไม่เช่นนั้น ระบบ 30 บาทหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของประชาชนที่ได้มาจากรัฐบาลทที่เป็นประชาธิปไตย จากที่เคยเป็นสิทธิจะถูกทำให้กลายเป็นระบบอนาถา ถูกบังคับให้ร่วมจ่ายเมื่อป่วย เพราะคนกลุ่มนี้พูดตลอดเวลาว่า 30 บาทคือภาระประเทศ แต่สวัสดิการของข้าราชการไม่เคยเป็นภาระสำหรับพวกเขา 

“ดังนั้นแผนการปฏิรูปที่ละเลยการมีส่วนร่วม และเสียงของประชาชนมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่กระบวนการจัดทำแผนที่พยายามกีดกันข้อเสนอของภาคประชาชน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัดขาดมาตรฐาน และเมื่อได้แผนออกมาก็ยิ่งประจักษ์ชัดว่าเป็นแผนที่มุ่งเน้นแต่การดูแลผลประโยชน์เฉพาะพวกพ้องเท่านั้นซึ่งจะทำให้ระบบประกันสุขภาพถดถอยกลายเป็นระบบสงเคราะห์อนาถา เพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนทางกับสุนทรพจน์ที่สวยหรูข้างต้นอย่างสิ้นเชิง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และครม.ต้องไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นี้ และต้องตีกลับ หากเห็นชอบเท่ากับว่ารัฐบาลนี้จ้องทำลายและจะยกเลิก 30 บาท เหมือนความพยายามที่เคยทำมาตลอดตั้งแต่มาเป็นรัฐบาล ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพของ สธ.นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบ 30 บาทของประชาชน” นิมิตร กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net