Skip to main content
sharethis

'ประชาชาติ' แนะหนทางสำคัญที่จะนำการพูดถึงเหตุการณ์ตากใบกลับคืนมา อันจะเป็นการพูดถึงที่สามารถคืนศักดิ์ศรีให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นการพูดถึงที่จะไม่ปิดกั้นการรื้อฟื้น ที่จะนำความมาสู่ความจริงและการก้าวพ้นจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของผู้สั่งการ

25 ต.ค.2561 เนื่องในวาระครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส จากนั้นมีผู้ชุมนุมถูก ‘ขน’ ขึ้นรถ วางทับซ้อนกัน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน นั้น

เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'ประชาชาติ - People's Nation' โพสต์รำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว ในหัวข้อ "14 ปีเหตุการณ์ตากใบ บาดแผลที่ต้องแปรมาสู่การสร้างหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน" 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

14 ปีเหตุการณ์ตากใบ บาดแผลที่ต้องแปรมาสู่การสร้างหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน

“เหตุการณ์ตากใบ” เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างบาดแผลต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้พิการ ผู้ถูกคุมขัง และผู้สูญหายอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญเหตุการณ์นี้ได้สะท้อนถึงปัญหาวิกฤติและข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่ไม่สามารถอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างหลักประกันในเรื่องความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ผู้สูญเสียได้ ทั้งนี้ แม้ในปี พ.ศ. 2549 อัยการได้ยกคำฟ้องประชาชน 58 คนที่รอดชีวิตและถูกดำเนินคดี และต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการชดเชยเยียวยาแก่ผู้สูญเสีย แต่ความทุกข์ทนและบาดแผลก็ยังคงมีอยู่กับครอบครัวและญาติมาโดยตลอด 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นก่อนวันสุดท้ายเดือนรอมฎอน (อีดิลฟิฏรี) มีการชุมนุมของประชาชนที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้นได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มีคำสั่งให้สลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้เข้าร่วมชุมนุมนำขึ้นรถยนต์บรรทุกทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในการขนย้ายผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการจับมัดมือเรียงคว่ำซ้อนทับกัน เป็นเหตุให้มีคนตายรวม 78 ศพ (ไม่รวมผู้เสียชีวิตอีก 7 รายจากการสลายการชุมนุมก่อนการขนย้ายผู้ที่ถูกจับกุม) และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก 

กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลของเหตุการณ์นี้จบลงตรงที่ศาลจังหวัดสงขลาได้ทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ช. 16/2548 และ คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ว่า ผู้ตายทั้ง 78 รายขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย และคำสั่งนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ทั้งนี้ คำสั่งของศาลนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคมว่า ได้มีการพิจารณาถึงการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาและการปฏิบัติที่ประมาทจนทำให้ประชาชนเสียชีวิตหรือไม่ อีกทั้งคำสั่งของศาลนี้หมายความว่าไม่มีผู้ใดเลยแม้แต่คนเดียวถูกลงโทษทางอาญาจากการตายของประชาชน 78 ราย

อนึ่ง สิ่งที่ยังค้างคาอยู่ในใจของผู้คนในกรณีเหตุการณ์ตากใบ โดยเฉพาะในส่วนของครอบครัวและญาติผู้สูญเสียก็คือ ทำไมกระบวนการยุติธรรมจึงไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดได้ ดังนั้น สิ่งที่ทุกฝ่าย รวมทั้ง "ประชาชาติ” จะต้องร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นก็คือ “ความยุติธรรมตามความเป็นจริงบนฐานการมีของส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ทั้งนี้ การป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดอย่างกรณีเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้น ต้องกระทำในบริบทการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านที่ต้องปฏิรูปและปรับปรุงกฎหมายพิเศษต่างๆ ได้แก่ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน รวมทั้งในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายด้วย 

ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมต้องธำรงหลักนิติธรรมที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ สำหรับกรณีที่การเสียชีวิตเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังเช่นกรณีเหตุการณ์ตากใบที่ทางกฎหมายเรียกว่า “คดีวิสามัญฆาตกรรม” ต้องมีกรรมการอิสระที่เป็นกลาง มีความรู้และประสบการณ์ และต้องไม่ใช่บุคคลในหน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้ตาย มาเป็นผู้สอบสวนหรือไต่สวนสาเหตุการตาย 

14 ปีที่ผ่านมา แม้ครอบครัวและญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบจะ “ไม่เคยลืม” สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในช่วงหลายปีมานี้ การ “พูดถึง” เหตุการณ์ตากใบดูจะค่อยๆ เลือนหายไป อีกทั้งการพูดถึงก็ถูกระมัดระวังไม่ให้เป็นการ “รื้อฟื้น” ขณะการรำลึกวันครบรอบด้วยมิติทางศาสนาผ่านการทำบุญ การละหมาดฮายัต ฯลฯ ดูจะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้ครอบครัวและญาติสามารถดำรงชีวิตอยู่กับบาดแผลต่อไปได้ ทั้งนี้ การร่วมกันสร้างหลักประกันความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน คือหนทางสำคัญที่จะนำการ “พูดถึง” เหตุการณ์ตากใบกลับคืนมา อันจะเป็นการ “พูดถึง” ที่สามารถคืนศักดิ์ศรีให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นการ “พูดถึง” ที่จะไม่ปิดกั้นการ “รื้อฟื้น” ใดๆ ก็ตามที่จะนำความมาสู่ความจริงและการก้าวพ้นจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของผู้สั่งการ

วันนี้ ที่ร้านบูคู ปัตตานี ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “ โศกนาฏกรรมตาบา เราต่างเป็นเหยื่อร่วมกัน โดย "สหพันธนิสิตนักศึกษา นักเรียนเเละเยาวชนปาตานี PerMAS อีกด้วย 

เหตุการณ์ตากใบ

เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์รุนแรงครั้งสำคัญที่เป็นบาดแผลของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตรงกับวันที่สิบสองของเดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ.1425  ตั้งแต่ช่วงเช้า ชาวบ้านมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตลาดและด่านตาบา ซึ่งชาวบ้านจำนวนมากนิยมมาซื้อสินค้าอย่างคึกคักมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อเวลาผ่านไป มีชาวบ้านมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเกือบพันคน จำนวนมากในนั้นไม่ได้ตั้งใจมาชุมนุม แต่มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนผ่านไปผ่านมา บางคนไปตลาด แต่เมื่อเข้าไปดูเหตุการณ์แล้วออกมาไม่ได้

ประมาณบ่ายสามโมง ทหารเริ่มสลายการชุมนุม แกนนำการชุมนุมก็สลายตัวไปรวมกับผู้ชุมนุม ทหารยิงแนวราบเข้าสู่ผู้ชุมนุม และยิงแก๊สน้ำตา เมื่อทหารควบคุมสถานการณ์ได้  ทหารให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อ นอนราบและมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงก็ส่งกลับบ้าน

ผู้ชุมนุมชายที่ถูกกวาดจับกว่า 1,300 คนถูกขนขึ้นรถทหาร 25 คัน รถตำรวจ และรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง โดยการนอนราบ 4-5 ชั้น ในสภาพที่ผู้ชุมนุมต่างอ่อนเพลียเพราะถือศีลอดและตากแดดร้อนเพราะการชุมนุมมาตลอดทั้งวัน

รถที่บรรทุกผู้ชุมนุมเดินทางเป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตรเป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง จากสถานีตำรวจตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี มีรายงานว่า เมื่อรถคันแรกถึงค่ายประมาณหัวค่ำ ก็พบว่ามีคนตาย แต่ก็ไม่มีการแจ้งเตือนไปยังรถคันที่เหลือให้ทราบ รถคันท้ายๆ ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเวลาประมาณ ตี 2 ของวันถัดไป

ทั้งเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตไปทั้งหมด 85 คน เสียชีวิตระหว่างการขนส่งบนรถบรรทุกของทหาร 78 คน เสียชีวิตในที่ชุมนุม 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน

คดีความที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมดสามคดี

ในปี 2552 ศาลสงขลาตัดสินในคดีไต่สวนการตายว่า ผู้ชุมนุม 78 คนที่ตายระหว่างการขนย้าย ตายเพราะ ‘ขาดอากาศหายใจ’ ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ในปี 2548 ผู้ชุมนุม 59 คน ถูกสั่งฟ้องที่ศาลนราธิวาสในข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย ต่อมาอัยการถอนฟ้องในปี 2549 

ในปี 2548 ญาติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตฟ้ององค์กรรัฐ กองทัพบก ให้จ่ายเงินชดเชย ต่อมามีการทำสัญญาให้ประณีประณอมยอมความ โดยมีเงื่อนไขให้ถอนฟ้องจำเลยอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งการ กระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทน 42 ล้านบาท กับญาติผู้เสียหาย 79 ราย

ต่อมาในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น เลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประกาศจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียหายจากกรณีตากใบเพิ่มอีก โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาเพิ่มจากเดิมจนครบรายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ 500,000 บาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net