Skip to main content
sharethis

ชวนดู ‘การก่อกำเนิด-การดำเนินงาน’ ของ ‘ผั่งเหยา’ (Pangyao) แพลตฟอร์มชุมชนเพื่อแรงงานข้ามชาติในฮ่องกง มุ่งเป้าช่วยเหลือและสนับสนุนแรงงานข้ามชาติ ที่เริ่มจากการตามหาแม่ที่หายตัวไป

จากการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี 2559 พบว่า ฮ่องกงเป็นบ้านของคนงานทำงานบ้านที่มีเอกสารถูกต้องถึง 360,000 คน ‘ผั่งเหยา’ แพลตฟอร์มทางสังคมได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในเรื่องพื้นฐานความจำเป็นต่างๆ | ที่มาภาพ: pangyao.hk

Pangyao (อ่านว่า ‘ผั่งเหยา’ ในภาษาจีนสำเนียงกวางตุ้ง) เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการจัดงานกิจกรรมทางสังคมและการให้บริการต่างๆ แพลตฟอร์มนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทางสื่อทางสังคมออนไลน์ เรื่องเด่นที่ได้รับความสนใจมาก คือประเด็นที่เกี่ยวกับบุคคลและปัญหาครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ

ในปัจจุบัน Pangyao กำลังช่วยเหลือคนงานทำงานบ้านคนหนึ่งตามหาแม่ของเธอ แม่ผู้ซึ่งลูกสาวทั้ง 3 คนเห็นหน้าครั้งหลังสุดเมื่อปี 2544

เมื่อ Jennylyn Pascual เป็นจุดสนใจจากโพสต์เฟสบุ๊ค มีคนโพสต์ถามเรื่องราวของเธอเข้ามา เธอรู้สึกตื่นเต้นมาก เมื่อในที่สุด เธอพบว่า อาจจะมีคนบางคนสามารถช่วยเธอตามหาแม่ของเธอที่ไม่พบหน้ากันมาเกือบ 20 ปี

เช่นเดียวกับชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในฮ่องกง Pascual เป็นคนงานทำงานบ้าน เธอเดินทางเข้ามาในเมืองพร้อมกับความหวังในการค้นหาแม่ที่หายตัวไปอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เธอมาถึงฮ่องกงเมื่อปลายปี 2561 เธอพบคนจำนวนน้อยมากที่เต็มใจฟังเรื่องราวของเธอ เธอต้องตามหาแม่ด้วยตัวเธอเองโดยลำพัง

“ฉันเห็นโพสต์นี้ในนิวส์ฟีด (ของเฟสบุ๊ค) ของฉัน ซึ่งบอกว่า “บอกเรื่องราวของคุณกับฉัน” Pascual อายุ 39 ปี ผู้ที่อาศัยอยู่กับนายจ้างของเธอใน Tsuen Wan ย้อนนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

“ฉันคิดว่า พวกเขาเท่านั้นที่จะช่วยฉันได้ และฉันก็มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม”

โพสต์นั้นมาจาก Pangyao แพลตฟอร์มชุมชนเพื่อแรงงานข้ามชาติในฮ่องกง ที่เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งในปัจจุบันได้ใช้กำลังและทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ตามหา Florinda Espiritu Pascual แม่ของ Jennylyn Pascual

กว่า 30 ปีมาแล้ว Florinda Espiritu Pascual ได้เดินทางย้ายถิ่นไปยังประเทศมาเลเซีย และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เธอได้เห็นหน้าลูกสาวทั้ง 3 คนครั้งหลังสุดเมื่อปี 2544 ในงานฉลองจบการศึกษาของ Jennylyn ในเมือง San Agustin บ้านเกิดของครอบครัว ในจังหวัด Isabela ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์

ปัจจุบัน Jennylyn มีลูก 3 คน ทั้งหมดอยู่ในฟิลิปปินส์ Hillary ลูกคนโต จะจบการศึกษาในเดือนมีนาคมนี้ และความฝันของ Jennylyn ก็คือ การรวมคน 3 รุ่นของครอบครัวให้มาพบหน้ากันให้ๆได้ก่อนถึงงานฉลองจบการศึกษาของลูกสาวของเธอ

“มันเป็นเรื่องเศร้าใจมากๆ มันผ่านมา (เกือบ 2 ทศวรรษ) แล้วที่เราไม่ได้กอดเธอ เราไม่ได้เห็นหน้าเธอ เราไม่รู้ว่าเธอยังมีชีวิตอยู่หรือไม่” เธอกล่าว “นั่นจึงทำให้คริสต์มาสทุกๆครั้ง วันปีใหม่ทุกๆ ปี แม่ของฉันอยู่ในใจฉันอยู่ตลอดเวลา ฉันจะเจอเธอได้อย่างไร?”

“ฉันต้องการที่จะมาเป็นแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศ (OFW-overseas Filipino worker) เพื่อค้นหาแม่ของฉัน เราไม่ได้มีเงินมาก แต่เมื่อ Pangyao ส่งข้อความถึงฉัน และได้พบหน้ากันส่วนตัวกับฉัน ฉันรู้สึกว่าปี 2563 ของฉัน เป็นปีที่ช่างโชคดี ตอนนี้ ฉันมีศรัทธาอย่างมั่นคงว่า Pangyao สามารถทำอะไรได้มากที่จะช่วยฉัน”

ความศรัทธาในแพลตฟอร์มชุมชนที่เกิดขึ้นมายังไม่ถึง 3 เดือนและยังอยู่ในระยะเริ่มต้นซึ่งเพิ่ง “เริ่มเปิดตัว” อย่างเป็นทางการ บ่งชี้ให้เห็นถึงการขาดคนที่เต็มใจที่จะรับฟังแรงงานข้ามชาติในฮ่องกง เมื่อแพลตฟอร์มของคนกลุ่มนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม 2 คนได้เริ่มติดต่อกับชุมชนแรงงานข้ามชาติอย่างกระตือรือร้นและสม่ำเสมอ เหมาะสมกับชื่อของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Pangyao ซึ่งแปลว่า “เพื่อน” ในภาษาจีน

“สิ่งนี้คือครอบครัวในแบบหนึ่ง พวกเขาเต็มใจอย่างมากที่จะช่วยและฟังเรื่องราวความจำเป็นของพวกเรา” Annette Hope คนงานทำงานบ้าน และผู้ก่อตั้งองค์กร Bongbong Marcos United Hong Kong Chapter ซึ่งเป็นกลุ่มชาวฟิลิปปินส์ที่สนับสนุนอดีตวุฒิสมาชิก Marcos โดยองค์กรมีสมาชิกออนไลน์มากกว่า 66,000 คน “ในปัจจุบัน มีการทำงาน (ที่สนับสนุนแรงงานข้ามชาติ) น้อยเกินไป มันเป็นเรื่องเครียดมากในการทำงานในส่วนของฉัน แต่ปัจจุบัน ฉันมีคนเข้ามาแบ่งเบาภาระหน้าที่ ฉันดีใจจริงๆ ที่ Pangyao มาทำงานในส่วนนี้”

Aileen Alonzo-Hayward (ซ้าย) และ Martin Turner ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ผั่งเหยา’ | ที่มาภาพ: facebook.com/pangyaohk

ในปี 2559 จากการสำรวจสำมะโนประชากร พบว่า ฮ่องกงเป็นที่อยู่อาศัยของคนงานทำงานบ้านที่มีเอกสารถูกต้องจำนวน 360,000 คน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60 % ของประชากรที่ไมใช่ชาวจีนทั้งหมดที่อยู่ในฮ่องกงคือราว 584,000 คน และคาดการณ์ว่า จำนวนคนงานทำงานบ้านจะเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 คนภายในปี 2579 เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นของประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Pangyao ในเบื้องต้น เป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ต่อมาได้รับความสนใจและกำลังเติบโตในโซเชียลมีเดีย โดยเว็บไซต์ของ Pangyao ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในฮ่องกง นับตั้งแต่ข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติกลับไปยังประเทศต้นทาง การส่งเงินกลับประเทศ และการตอบคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ เพื่อทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลขององค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิ หน่วยงานรัฐบาล และภาคธุรกิจ ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ Pangyao เข้ามาเสริมเครือข่ายและกลไกการให้บริการที่มีอยู่ มากกว่าจะเป็นการเข้าไปแข่งขัน

“มีปัญหาจริงๆ กับการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับคนงานทำงานบ้าน” Marie Kretz Di Meglio ประธานและผู้ก่อตั้ง Uplifters องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการศึกษาสำหรับชุมชนที่ขาดโอกาสและแรงงานข้ามชาติ กล่าว “มันไม่ใช่การไม่มีข้อมูล แต่ข้อมูลกระจัดกระจายมาก พวกเขาอาจไม่รู้ว่าจะต้องไปหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลใด”

ทั้งมิติด้านลึก ด้านกว้าง และการเติบโตอย่างรวดเร็วของโครงการนี้ได้อาศัยความเชี่ยวชาญและสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ของผู้ร่วมก่อตั้งซึ่งก็คือ Aileen Alonzo-Hayward ที่รู้จักกันดีในฐานะนักจัดรายการ “ชีวิตชาวฟิลิปปินส์ (Pinoy Life)” ของ RTHK ในฮ่องกง และยังได้รับรางวัลรายการวิทยุซึ่งนำเสนอประเด็นคนฟิลิปปินส์ในฮ่องกง หลังจากได้รับข้อความจาก Pascual ผู้ตามหาแม่ของตน Alonzo-Hayward ก็เชิญเธอมาออกรายการวิทยุเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเธอในรายการซึ่งมีเครือข่ายผู้ฟังออนไลน์ทั่วโลก

ความคิดในการทำ Pangyao ครั้งแรกมาจาก Martin Turner เพื่อนของ Alonzo-Hayward ผู้ที่ขอลางาน 6 เดือนจากการเป็นผู้จัดการโครงการของฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น (HSBC) เพื่อคิดโครงการที่แตกต่างจากงานที่ทำอยู่เพื่อให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น

“ผมรู้สึกเสมอว่า แรงงานข้ามชาติได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมค่อนข้างมากในฮ่องกง” Turner อายุ 37 ปี กล่าว

“พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ใหญ่มากของชีวิตประจำวัน พวกเขานำสิ่งต่างๆ มากมายมาให้ และทำสิ่งต่างๆให้กับประชากรของเรา แต่ในปัจจุบัน กลับไม่ได้รับการตระหนักถึง”

“เป็นที่เข้าใจกันว่าคนต่างชาติ (expat) ที่อยู่ในฮ่องกง คุณเป็นคนที่มีสิ่งต่างๆ เหลือเฟือ แต่ในด้านกลับของมัน แรงงานข้ามชาติทำงานบ้านซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก กลับเป็นสิ่งที่คนมองไม่เห็น ผมเพียงสะท้อนว่า แรงงานข้ามชาติไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกับคนอื่นๆในฮ่องกง”

Alonzo-Hayward เป็นคนรุ่นที่สองเชื้อสายฟิลิปปินส์ที่เกิดในฮ่องกง พ่อแม่ของเธออพยพหนีความยากจนมาในช่วงทศวรรษที่ 1970 เธอสนับสนุนแผนของ Martin Turner ผู้ริเริ่มความคิดเรื่องนี้ อย่างสุดหัวใจ

“ครั้งแรก เมื่อ Martin Turner มาหาฉันพร้อมกับความคิดริเริ่มเรื่อง Pangyao ฉันตอบทันทีว่า เราควรจะมีสิ่งนี้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ?” เธอทบทวนความทรงจำ “ฉันไม่ได้คิดถึงมันมาก่อนจริงๆ แต่สำหรับฉัน มันคงจะเป็นเรื่องปกติที่เราจะไม่มีอะไรแบบนี้มาก่อน เมื่อ Martin บอกเล่าความคิดเรื่องนี้ให้ฟัง สิ่งแรกที่ฉันคิดก็คือ “ฉันจะเป็นคนใช้สิ่งนี้”

จากการเริ่มต้น ทั้งสองคนคิดชัดเจนว่าจะทำให้ Pangyao แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นอย่างไร ในขณะที่มีทุนที่ได้เป็นตัวเงินขององค์กรต่างๆ อยู่แล้ว เช่น องค์กร Enrich HK, Uplifters, Help for Domestic Workers และ The Zubin Foundation และ Pangyao ในเบื้องต้น จึงมุ่งเน้นที่ไปที่ประสบการณ์ของแรงงานข้ามชาติผ่านมิติของการทำงานและรายได้ที่เป็นตัวเงิน

ในขณะเดียวกัน ด้านทางสังคมของชีวิตแรงงานข้ามชาติในฮ่องกง ความสนุกร่าเริงและการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระปรากฏให้เห็นทุกวันอาทิตย์ การเต้นรำเป็นประจำ คาราโอเกะ และการทำบาบีคิว เป็นความเพลิดเพลินใจที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆจากสวนสาธารณะ Victoria Park ไปจนถึงทางเดินพักผ่อนหย่อนใจ Cheung Chau

เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึก และไม่ถูกสังเกตเห็นและจดจำในด้านของการแสดงออกซึ่งความสนุกสนานของแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น Pangyao จึงหาทางที่จะส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางสังคมและการช่วยเหลือที่ตรงประเด็นในลักษณะนี้ ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงชุมชนของแรงงานข้ามชาติได้ดี

ศูนย์บริการส่งเงินกลับประเทศทุกๆแห่งที่แรงงานข้ามชาติใช้บริการ, บริษัทตัวแทนการจ้างงาน หรือบริษัทขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ มีความคาดหวังที่จะหากิจกรรมที่เป็นมิตรกับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการมีร้านอาหารท้องถิ่น หรือร้านอาหารราคาถูก

ในขั้นนี้ Pangyao ใช้เงินทุนของตัวเองในการดำเนินการ เป้าหมายของ Pangyao คือการพึ่งตัวเองในระยะยาว โดยการเปิดให้ธุรกิจลงโฆษณาและสามารถมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มผู้อ่านหรือผู้มีส่วนร่วมของ Pangyao ได้

“แรงงานข้ามชาติได้กลายมาเป็นแง่มุมที่สำคัญของสังคมฮ่องกง และด้วยจำนวนของแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ความจำเป็นสำหรับการมีแพลตฟอร์มทางสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถปฏิเสธได้” Sherrlene Uy Gomes ครูชาวฟิลิปปินส์อายุ 32 ปี ทำงานอยู่ที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ English Excel กล่าว

“นี่คือที่มาของ Pangyao มันทำให้เรามีโอกาสในการแสดงออกซึ่งเสียงของเรา มันทำหน้าที่เป็นทางเดินที่จะไปสู่เป้าหมายเพื่อเข้าใจประเทศฮ่องกงให้ดีขึ้น และนำเสนอและแบ่งปันเรื่องราวความคิดใหม่ๆ ของเราให้แก่ผู้อ่านผ่านบล็อกและการสำรวจความคิดเห็นของเฟสบุ๊ค ในท้ายที่สุด เราเจอชุมชนที่สร้างขึ้นเพื่อเราอย่างแท้จริง Pangyao เป็นบ้านหลังใหม่ล่าสุดของเราที่ห่างไกลจากบ้าน

Pangyao สนับสนุนกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษให้แก่แรงงานข้ามชาติในฮ่องกงด้วย | ที่มาภาพ: facebook.com/pangyaohk

ส่วนสำคัญที่เป็นหลักของการสร้างชุมชนนี้ก็คือบล็อกบนเว็บไซต์ ซึ่งเปิดให้ใครก็ได้ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันของพวกเขาได้ ผู้ใช้หลายสิบคนได้ส่งเรื่องของพวกเขาเข้ามาในหัวข้อต่างๆ เช่น “ทำไมฉันจึงมาต่างประเทศ” “ฮ่องกงในฐานะเมืองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง” และ “ความยากลำบากและสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดมาก่อนของแรงงานข้ามชาติ” ในส่วนนี้มีการให้รางวัล 5,000 เหรียญฮ่องกงกับผู้ส่งเรื่องที่ดีทีสุดเข้ามา ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น

นอกจากนี้ เว็บไซต์มีหัวข้อ Hao Pangyao เป็นรูปแบบที่เปิดให้ผู้อ่านส่งรูปและเรื่องของเพื่อนที่มีคุณค่าของตนเองมาลงบนเว็บไซต์ให้เกิดการตระหนักถึงคนเหล่านั้นและเป็นการสร้างรูปแบบออนไลน์ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้อ่านอีกด้วย

“Pangyao เปิดพื้นที่ให้เราแสดงความรู้สึกของเราเกี่ยวกับการเดินทางของชีวิตแรงงานข้ามชาติในชีวิตประจำวัน มันให้โอกาสเราบอกเล่าเรื่องราวของตัวเรา มันทำให้เรามีสิทธิพิเศษที่จะนำความคิดของเราแปลงออกมาเป็นการเขียน” Ron Lacson บล็อกเกอร์คนหนึ่ง เป็นวิศวกรชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในฮ่องกงมากว่า 10 ปี

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โพสต์ต่างๆ บน Pangyao ทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาตากาล็อก (หนึ่งในภาษาหลักของฟิลิปปินส์) ได้สื่อสารอย่างมีพลังกับชุมชนชาวฟิลิปปินส์ในฮ่องกง มันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนของรากเหง้าและเครือข่ายของผู้ก่อตั้ง Pangyao แต่พวกเขายังต้องการที่จะกระจายการสื่อสารให้ลงลึกไปในชุมชนแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆ ในฮ่องกงมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากกว่า 150,000 คน ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อยในฮ่องกงที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสอง คิดเป็นสัดส่วนราว 26% ของประชากรที่ไม่ใช่เชื้อสายจีนจากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2559 ส่วนอันดับแรกคือชาวฟิลิปปินส์มีสัดส่วน 32%

พวกเขากระตือรือร้นในการมองหาคนที่จะประสานความร่วมมือกับผู้ที่สามารถช่วยขยายการเข้าถึงของ Pangyao

“โดยปกติ เรื่องของแรงงานข้ามชาติในสื่อต่างๆ จะเป็นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์มาก และมันเป็นเรื่องที่กล่าวโดยทั่วไปได้ว่า เป็นข่าวร้าย” Turner บอก “มีอยู่น้อยมากที่เป็นรายงานในสื่อแบบที่พวกเราพยายามทำ เรื่องจำนวนมากที่ทำอยู่นี้ เป็นการทำให้เสียงของพวกเขามีคนได้ยิน นำเสียงเหล่านี้ออกไปสู่สายตาของสาธารณะ ผมหวังว่า มันสามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ลงลึกถึงรากฐานมากขึ้นในการมองและเข้าใจแรงงานข้ามชาติ”

 “รู้สึกเหมือนว่า เรากำลังทำบางอย่างที่จะทำให้เกิดความแตกต่างที่แท้จริงได้”

 

แปลและเรียบเรียงจาก
Community platform for migrant workers in Hong Kong aims to fill gaps in existing support – starting with the hunt for a missing mother (Rob Garratt, scmp.com, 19 Jan 2020)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.pangyao.hk

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net