Skip to main content
sharethis

เผด็จการทหารพม่าแถลงเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 64 จะใช้มาตรการขั้นรุนแรงต่อสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ AAPP อ้าง สมาคมฯ บิดเบือนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากกรณีสลายการชุมนุมนองเลือดเยอะกว่าความเป็นจริง ด้าน AAPP โต้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตทุกเคสมีการตรวจสอบแล้ว 

พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพเมียนมา และหัวหน้าคณะรัฐประหาร
 

28 เม.ย.64 สำนักข่าวท้องถิ่น อิระวดี รายงานวันนี้ (28 เม.ย.) เปิดเผยว่า เผด็จการทหารพม่าแถลงเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 64 จะใช้มาตรการขั้นรุนแรงต่อสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ AAPP อ้าง สมาคมฯ บิดเบือนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากกรณีสลายการชุมนุมนองเลือดเยอะกว่าความเป็นจริง

สมาคม AAPP เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามสถานการณ์นักโทษการเมือง และผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมโดยทหารพม่า ตั้งแต่เริ่มต้นรัฐประหารวันที่ 1 ก.พ.64 โดย AAPP จะรายงานจำนวนผู้ถูกจับกุมจากข้อหาทางการเมือง ผู้ถูกออกหมายจับ และผู้เสียชีวิต เป็นประจำทุกวัน 

นอกจากนี้ การรายงานของ AAPP ถือเป็นตัวเลขที่มีความน่าเชื่อ มีความใกล้เคียงกับสื่อท้องถิ่น เพราะเป็นการมอนิเตอร์ข่าวจากสื่อมวลชนท้องถิ่น และมีแหล่งอ้างอิงชัดเจน อีกทั้ง สื่อไทยและเทศ รวมถึงองค์กรสหประชาชาติ หรือยูเอ็น นำไปอ้างอิงในรายงานอีกมากมาย 

สำนักข่าวอิระวดี สัมภาษณ์ โบจี ผู้ก่อตั้ง และเลขานุการร่วมของสมาคม AAPP ถึงการข่มขู่ของกองทัพพม่า โบจี กล่าวว่า ผมคิดว่า มันเป็นแค่กลยุทธ์ทางการเมืองเท่านั้น เพราะทั้งรัฐบาลต่างชาติ สื่อมวลชน และยูเอ็น ต่างอ้างอิงข้อมูลจากเราทั้งนั้น” 

“อีกอย่าง การให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และระงับการใช้กำลังและความรุนแรงของทหารพม่า ถือเป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบขึ้นมาเจรจาในที่ประชุมอาเซียน (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ประเด็นสำคัญคือการใช้ความรุนแรงที่กองทัพพม่าก่อขึ้น พวกเขาปลิดชีวิตและจับกุมแทนที่จะแก้ไขปัญหาด้วยสันติ พวกเขาพุ่งเป้าโจมตีมาที่กลุ่มของพวกเรา ซึ่งทำหน้าที่เปิดเผยเหตุการณ์จริง สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น การกระทำไมเช่นนี้ไม่ใกล้เคียงกับการหาข้อเท็จจริงเลย มันไปในทิศทางตรงกันข้าม”

กองทัพพม่าอ้างว่า AAPP เป็นสมาคมนอกกฎหมาย และตีพิมพ์รายงานผู้เสียชีวิตในเว็บไซต์โดยไม่ได้อ้างอิงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีจำนวนเยอะกว่าความเป็นจริง 

โดยการอ้างอิงตัวเลขสถิติจากกองกำลังพิทักษ์สันติราษฎร์ของเมียนมา กองทัพพม่า แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของทางการ ระบุว่า ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 จนถึง 15 เม.ย.64 มีประชาชนเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมนองเลือดทั้งสิ้นเพียง 258 ราย ซึ่งต่างจากจำนวนตัวเลขของ AAPP ที่ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 726 ราย จำนวนห่างกันเกือบ 500 ราย

กองทัพพม่า ยืนยันเมื่อวันจันทร์อีกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตของ AAPP ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและสาธารณชนเกิดความตื่นตระหนกเท่านั้น แต่ยังเป็นการปลุกระดมให้คนออกมาประท้วงเพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดความไม่สงบในประเทศอีกด้วย

ภาพจากรัฐกะฉิ่น พิธีจุดเทียนรำลึกนักต่อสู้ต้านรัฐประหารเมียนมา จัดโดยประชาชนชาวพม่า ซึ่งพิธีนี้จะมีการจัดในหลายพื้นที่ของประเทศเมียนมา ช่วงเย็นของทุกวัน เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 (ที่มา Khit Thit Media)
 

หลังจากถูกกล่าวหาจากกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 19 เม.ย.64 ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตถูกทำให้สูงกว่าความเป็นจริง AAPP ได้ออกมาโต้แย้งว่า ตัวเลขที่เขาจดบันทึกนั้น ได้รับการยืนยันว่าถูกต้องแน่นอน 

ซานมิน ชายผู้อยู่ในหน่วยงานจดบันทึกและวิจัยของ AAPP ให้สัมภาษณ์กับอิระวดี ระบุว่า สมาคม AAPP จดบันทึกและตรวจทานจำนวนผู้เสียชีวิตจากการบุกทำร้ายและปราบผู้ประท้วงอย่างรุนแรง สืบสวน และยิงกระสุนจริงโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

สมาคม AAPP ทำงานบันทึกข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่ามากกว่าสองทศวรรษ สมาคมฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 ในประเทศไทย อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา พันธกิจของ AAPP คือการรณรงค์ให้มีการปล่อยนักโทษที่ถูกควบคุมตัวจากคดีการเมือง และเรียกร้องให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักโทษทั้งในระหว่างและหลังการถูกกักขัง โดย AAPP เริ่มกลับเข้ามาทำงานในประเทศพม่าอีกครั้งในปี ค.ศ.2011 ยุคของประธานาธิบดี เต่งเส่ง นายพลของกองพม่า ผู้ซึ่งประกาศให้ประเทศพม่าเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net