Skip to main content
sharethis

เลขาธิการ สปสช. ให้ความมั่นใจประชาชนอยู่เกณฑ์เสี่ยง เข้ารับการรักษา-ตรวจหาเชื้อโควิดได้ฟรี ไม่มีเรียกเก็บเพิ่ม เผยเตรียมติดต่อรับตัวผู้ตกค้างภายใน 1-2 วันนี้หากระบบศูนย์แรกรับเสร็จสิ้น นายกสมาคม รพ.เอกชน หนุน สปสช.ปรับรอบจ่ายชดเชย พยุงสภาพคล่อง - หนุนรักษาโควิด 

28 เม.ย.2564 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมรัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คนไทยที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ล้วนได้รับการรักษาฟรีในทุกกรณี ไม่ว่าจะใช้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบใดก็ตาม ครอบคลุมการเข้ารับบริการทั้งในหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันยังรวมไปถึงบริการตรวจคัดกรอง ซึ่งประชาชนทุกคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ 

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะต้องเข้าเกณฑ์กติกาตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด หรือในอีกกรณีที่หากมีการประกาศให้ประชาชนกลุ่มใดเป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องเข้ารับการตรวจ ประชาชนกลุ่มดังกล่าวก็สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาล เพื่อหาเชื้อโควิด-19 ได้ฟรี ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นบวกหรือลบก็ตาม นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นมา ยังได้กำหนดให้แพทย์สามารถใช้วิจารณญาณได้ว่าผู้ป่วยรายใดจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจ ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด 

“ตอนนี้อาการของคนไข้โควิดนั้นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย บางครั้งแม้ไม่มีอาการใด แต่ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมา แพทย์ก็อาจสั่งให้ตรวจได้ ซึ่งถ้าแพทย์สั่งแล้วไม่ว่ายังไงประชาชนก็จะได้รับบริการฟรี ดังนั้นไม่ใช่ว่าใครก็ตามจะมาขอรับการตรวจได้ แต่แพทย์จะต้องเป็นผู้กรองให้อีกที” นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของระบบการจ่ายนั้นปัจจุบันครอบคลุมไปยังโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง แม้จะไม่ได้อยู่ในระบบใดๆ ของรัฐ โดยมีกติกาและอัตราการจ่ายซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน อย่างไรก็ตามในส่วนของปัญหาที่เคยมีข้อท้วงติงในเรื่องของการเบิกจ่ายช้านั้น ขณะนี้ สปสช. ได้มีการปรับระบบให้เบิกจ่ายได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อให้หน่วยบริการมีงบประมาณเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยต่อไป และหากโรงพยาบาลใดพบยังปัญหาล่าช้า ติดขัด ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ทางโทรศัพท์ 6 เลขหมาย ประกอบด้วย 02-142-3100 ถึง 3, 061-402-6368 และ 090-197-5129 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานต่อไป ซึ่งเบอร์โทรศัพท์ทั้ง 6 เลขหมายนี้สำหรับให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโทรมาสอบถามเรื่องการเบิกจ่ายต่างๆ เท่านั้น ส่วนกรณีประชาชนมีข้อสงสัยเรื่องการใช้สิทธิบัตรทอง หรือประสานหาเตียงโควิด-19 โทรไปที่สายด่วน 1330 เหมือนเดิม 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า กรณีของกติกาต่างๆ ที่อาจยังมีความไม่เข้าใจ เช่น การไปโรงพยาบาลสนาม หรือโรงแรมที่เป็น Hospitel นั้นจะเบิกได้หรือไม่นั้น ยืนยันว่าในทุกกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ภาครัฐล้วนมีกลไกการเบิกจ่ายอยู่แล้ว และไม่มีรายการใดที่จะเรียกเก็บจากประชาชนที่ป่วยเพิ่มเติม ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่คิดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงรีบหาโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจ เพราะหากพบว่าติดเชื้อจะได้สามารถเข้าสู่กระบวนการแยกตัวออกจากครอบครัวและชุมชนได้เร็ว ซึ่งจะเป็นวิธีป้องกันควบคุมโรคได้ดีที่สุด 

สำหรับสายด่วน สปสช. 1330 ที่ร่วมให้บริการประสานหาเตียงตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2564 เป็นต้นมา พบว่ามีจำนวนผู้โทรสอบถามข้อมูลเฉลี่ยวันละ 4,000 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อประมาณวันละกว่า 100 ราย โดยถึงขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่เกือบ 2,000 ราย ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งได้เข้าสู่ระบบแล้ว แต่ส่วนที่ยังค้างอยู่ในระบบประมาณกว่า 500 ราย ขณะนี้กำลังรอเตียง โดยมีระบบติดตามทุก 6 ชั่วโมง เพื่อคอยติดตามอาการและประสานกับทางโรงพยาบาลต่อไป 

“เป้าหมายของเราคือจะต้องไม่มีสายค้างอยู่ในระบบ ฉะนั้นหากประชาชนโทรมาแล้วยังไม่มีคนรับสายก็ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีคนโทรกลับไปอย่างแน่นอน และเรากำลังทำให้การโทรกลับเร็วขึ้นด้วยการเพิ่มจำนวนคน ซึ่งขณะนี้ก็น่ายินดีว่ามีหลายหน่วยงานที่ติดต่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยในการโทรกลับ ซึ่งก็จะช่วยงานของเรารวดเร็วขึ้นได้” นพ.จเด็จ กล่าว 

นายกสมาคม รพ.เอกชน หนุน สปสช.ปรับรอบจ่ายชดเชย พยุงสภาพคล่อง - หนุนรักษาโควิด 

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การที่ สปสช. ปรับระบบจ่ายเงินชดเชยให้หน่วยบริการเร็วขึ้นจากทุก 30 วัน เป็นทุก 15 วัน เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะจะช่วยให้โรงพยาบาลนำเงินเหล่านี้ไปสนับสนุนการดูแลรักษาโควิด-19 เช่น ค่าน้ำยาตรวจคัดกรองโรค ได้ 

นพ.เฉลิม กล่าวว่า หน่วยบริการมีหลายระดับ ทั้งโรงพยาบาลขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละหน่วยบริการจะมีสายป่านที่ยาวไม่เท่ากัน ดังนั้นการปรับรอบการจ่ายชดเชยครั้งนี้ จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับหน่วยบริการในสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างมาก 

นพ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การเบิกจ่ายกับทาง สปสช. ไม่ได้มีความยุ่งยาก เพียงแต่ระบบของ สปสช. ต้องเป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่ง สปสช. ก็จะต้องมีความรวดเร็วขึ้น เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่องของโรงพยาบาลแต่ละแห่งให้ได้  

“โรงพยาบาลนอกระบบของ สปสช. นั้น มีจำนวนมากกว่าโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนเองส่วนมากก็อยู่นอกระบบ สปสช. ฉะนั้นบางโรงพยาบาลก็อาจจะไม่ได้ชำนาญ และอาจจะยังมีคำถามในการเบิกจ่าย เช่น UCEP COVID-19 จะต้องเบิกอย่างไร หรือจะมีการจ่ายเงินเมื่อไหร่ เป็นต้น” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุ  

ทั้งนี้ ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็จะมีการจัดอบรมเกี่ยวกับการเบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลทุกแห่ง เนื่องจากเมื่อโรงพยาบาลทำการตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงแล้ว หากพบว่าติดเชื้อก็จะต้องรับรักษาทันที ซึ่งบางโรงพยาบาลก็อาจยังไม่มีประสบการณ์เรื่องการเบิกจ่ายตรงนี้ โดยทางเลขาธิการ สปสช.ก็ได้ช่วยลงไปให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ สนับสนุนกันและกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net