Skip to main content
sharethis

คนไทยจำนวนหนึ่งอยาก #ย้ายประเทศ คนพม่าจำนวนมากก็อยาก #ย้ายประเทศ เช่นกัน หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อปี 64 และโควิดส่งผลให้โรงงานในพม่าส่วนใหญ่ปิดตัวไปจนมีคนตกงานจำนวนมาก อีกทั้งภาวะสงครามยังส่งผลให้เกิดผู้อพยพเพิ่มขึ้น แต่ระลอกนี้ยังมีแรงงานทักษะสูงและนายทุนที่ออกจากพม่าด้วย 

ประชาชนพม่าที่มาทำงานในประเทศไทยรวมตัวกันประท้วงการรัฐประหารในพม่าที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย เมื่อ 4 ก.พ.2564

RFA รายงานว่าชาวพม่าเข้ามาในไทยมากขึ้น ท่ามกลางการสู้รบหลังรัฐประหารและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านสำนักข่าวอิรวดีวิเคราะห์ รัฐบาลทหารส่งผลให้เกิดภาวะสมองไหล ผู้อพยพพม่าไม่ได้มีแค่แรงงานไร้ฝีมือ แต่ยังมีแพทย์ นายทุน นักธุรกิจ สื่อ ช่างไอที และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ และเป้าหมายปลายทางของพวกเขาไม่ได้มีแค่ประเทศไทย

สำนักข่าว RFA รายงานเมื่อ 16 มิ.ย. ว่าหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายจำนวนมาก เนื่องจากผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้ชายแดนพยายามหนีจากการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มต่างๆ และกองทัพรัฐบาลทหารพม่า และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

RFA รายงานข้อมูลของมูลนิธิเพื่อการศึกษาและการพัฒนา พบว่าตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา ตำรวจไทยได้ทำการจับกุมผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยกว่า 20,000 คน และหลายๆ คนพบว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายถึงชีวิตด้วย

มิน อู โฆษกของมูลนิธิระบุในแถลงการณ์ว่า บางคนถูกทิ้งไว้อยู่ในถ้ำหรือในป่าใกล้กับชายแดนโดยผู้ลักลอบพาคนข้ามชายแดน บางครั้งตำรวจไทยเจอพวกเขาหลังได้เบาะแสจากคนในพื้นที่ และบางครั้งผู้อพยพพยายามหนีการจับกุม

บางครั้ง สถานการณ์เลวร้ายอย่างมาก มิน อูเล่าว่าเมื่อไม่กี่วันมานี้ รถคันหนึ่งที่เต็มไปด้วยผู้อพยพชาวพม่าตกจากเส้นทาง ผู้หญิงสองคนเสียชีวิตจากภาวะหายใจไม่ออกขณะอยู่ในรถที่อัดแน่นไปด้วยผู้อพยพชาวพม่า และถูกจอดทิ้งอยู่ในป่า นอกจากนี้ยังมีการยิงปะทะกันบนถนนด้วย

มิน อู กล่าวว่าจำนวนผู้อพยพชาวพม่าที่ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกที หลายกรณีกำลังเผชิญกับภาวะขาดอาหารและที่พักอาศัย หลายคนจำเป็นต้องหนีจากบ้านเกิดในแคว้นสะกาย แคว้นมะเกว แคว้นมัณฑะเลย์ และรัฐกะเรน และกะยาห์ หลังการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64

ทิดา วิน ผู้ที่เคยอยู่อาศัยใน อ.เยซะโจ แคว้นมะเกว ปัจจุบันทำงานอยู่ในโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่งในประเทศไทย หลังข้ามพรมแดนมา เมื่อ เม.ย. 65 ให้ข้อมูลกับ RFA ว่า ผู้อพยพหลายคนเข้ามาในประเทศไทยโดยหวังหางานทำ หลังโรงงานในพม่าปิดตัวลงจากการปะทะและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

"โรงงานส่วนใหญ่ในพม่าปิดตัวเพราะโควิดและการรัฐประหาร และดังนั้นหลายคนจึงตกงาน แต่แทนที่จะนั่งอยู่บ้านเฉยๆ พวกเขาตัดสินใจกู้เงินและเดินทางมาทำงานในประเทศไทย" ทิดา วิน กล่าว

"เพราะพวกเราอยู่ที่นี่อย่างผิดกฎหมาย เราไม่กล้าออกไปไหน ยกเว้นไปทำงานและกลับบ้าน ฉันส่งเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้กลับไปให้น้องและพี่สาว และเมื่อฉันจ่ายหนี้หมดแล้ว ฉันจะเรียกให้พี่น้องมาที่นี่เพื่อทำงานเหมือนกัน เนื่องจากเขาไม่มีงานทำในที่ที่เขาอยู่" เธอกล่าว

ออง โก วิน นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยชั้นปีสองจากแคว้นสะกาย ซึ่งขณะนี้กำลังหางานทำในตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่งในชายแดนฝั่งไทย ไม่ว่าความคาดหวังของเขาจะถูกต้องหรือไม่ เขาระบุว่าคนไทยจ้างชาวพม่าทำงานแบบผิดกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน

"เราต้องทุกข์ทรมานจากสงครามในแคว้นสะกาย เราจึงทิ้งครอบครัวและเข้ามาในประเทศไทยตอนทำมาหากินที่บ้านได้ลำบาก และหลังจากผ่านจุดตรวจมาได้หลายแห่ง ผมก็มาถึงที่นี่และตอนนี้ผมพักอาศัยอยู่กับเพื่อน" ออง โก วิน

"ผมไม่รู้ว่าต้องหางานจากที่ไหน งานอะไรผมก็ทำทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ผมทำเพื่อครอบครัวของผม" เขากล่าวเสริม

แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายส่วนใหญ่ในประเทศไทยทำงานก่อสร้าง อุตสาหกรรมประมง และโรงงานต่างๆ ขณะที่หลายๆ คนทำงานเป็นแม่บ้าน แรงงานในสวนหรือไร่นา แหล่งข่าวต่างๆ ระบุว่าพวกเขามีรายได้อยู่ที่ประมาณเดือนละ 10,000-15,000 บาท แต่พวกเขาไม่มีประกันหรือสิทธิแรงงานที่ควรได้ เพราะเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย

อดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) บอกกับ RFA ว่าเขาได้แสดงความกังวลกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับผู้อพยพชาวพม่าที่ถูกควบคุมตัวแล้ว

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสถานทูตพม่าในประเทศไทยที่รับผิดชอบด้านแรงงานต่างด้าวบอก RFA ว่า ปกติแล้ว รัฐบาลไทยจะส่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางานบอกกับ RFA ว่า ประเทศไทยมีนโยบายนำแรงงานพม่าเข้ามาในประเทศอย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ ม.ค. 65 เพื่อแก้ไขภาวะขาดแรงงานในโรงงานและอุตสาหกรรมประมง ส่วนแรงงานผิดกฎหมาย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอให้รัฐบาลเปิดให้แรงงานผิดกฎหมายขึ้นทะเบียน โดยคาดว่าจะเสนอภายในปลาย มิ.ย. หรือ ก.ค.

ไพโรจน์ให้ข้อมูลกับ RFA อีกว่า ในระหว่างนี้แรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายจะยังคงถูกควบคุมตัวและส่งกลับประเทศเหมือนเดิม แม้ว่ากฎหมายตรวจคนเข้าเมืองระบุว่าผู้เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก 2 ปีและปรับ 2 หมื่นบาท แต่ปกติแล้วผู้อพยพเหล่านี้จะถูกส่งกลับภูมิลำเนา

ในรายงานเมื่อปีที่แล้ว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าประเทศพม่ามีคนตกงานกว่า 1.6 ล้านคน หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการรัฐประหารโดย พล.อ. อาวุโส มินอ่องลาย ประชากรกว่า 25 ล้านคนอาจเข้าสู่ภาวะอดยากภายในปลายปีนี้ โดยจำนวนนี้นับเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร

ศักยภาพของชาวพม่า

อิรวดีวิเคราะห์ว่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 64 พม่าเกิดการอพยพครั้งใหญ่ ประชาชนพม่าเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง โดยคนเหล่านี้ไม่ได้มีแต่แรงงานไร้ฝีมือ แต่ยังมีแพทย์ นายทุน ปัญญาชน นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ช่างเทคนิคไอที และสื่อมืออาชีพ หลายคนเดินทางออกจากพม่าไปแล้ว ขณะที่หลายคนยังอาจวางแผนกำลังจะออกนอกประเทศอยู่

เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เช่น การรัฐประหารโดย พล.อ. เนวิน ใน ค.ศ. 1962 และการรัฐประหารหลังการสลายชุมนุมใน ค.ศ. 1988 ในทั้ง 2 เหตุการณ์ นักกิจกรรม ปัญญาชน นักศึกษา และนักการเมืองพลเรือน ต่างต้องหลบหนีจากการถูกตามล่าของคณะรัฐประหารมายังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ไทย หรือประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในการรัฐประหารครั้งนี้ทำให้มีผู้จำใจต้องหนีออกมาเป็นจำนวนมาก ผู้ลี้ภัยชาวพม่าบางส่วนตัดสินใจกลับเข้ามายังพม่าอีกครั้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ภายใต้บรรยากาศการเปิดประเทศอย่างช้าๆ และนโยบายดึงดูดผู้อพยพชาวพม่ากลับประเทศ โดยรัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดี อู เต็ง เส่ง ชาวพม่ากลับประเทศเพิ่มขึ้นอีกหลัง ออง ซาน ซู จี ขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 2016 เนื่องจากมั่นใจว่าประเทศจะปฏิรูปไปในทางที่ดีขึ้น แต่แล้วชาวพม่าจำนวนมากตัดสินใจลี้ภัยอีกครั้งเพื่ออนาคตที่ดีกว่า หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องลาย

อิรวดีวิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมา ผู้อพยพเหล่านี้มีบทบาทในการสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในระดับประชาชน และมีศักยภาพในการสร้างความเข้าใจอันดีและอนาคตร่วมกันระหว่างไทย อินเดีย พม่า และประเทศอื่นๆ ด้วยในช่วงเวลาหลังจากนี้ ผู้อพยพชาวพม่าอาจหนีออกจากประเทศด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือเหตุผลทางการเมืองก็ได้ ประเทศพม่าในขณะนี้กำลังเกิดสภาวะสมองไหล โดยประเทศอื่นๆ ได้รับประโยชน์มากน้อยต่างกันไป

แม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่มีการประเมินกันว่าผู้อพยพชาวพม่าอาจมีสูงเกิน 2 แสนคนในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ขณะที่อีกหลายล้านคนอยู่ในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย บางคนอาจย้ายประเทศเพียงชั่วคราว แต่บางคนก็อาจย้ายประเทศอย่างถาวร นักธุรกิจ รวมถึง ผู้นำรัฐบาลทหารบางส่วนเอง ก็ตัดสินใจย้ายสำมะโนครัวและทรัพย์สินไปอยู่ในต่างประเทศเช่นกัน

ในกรณีของประเทศไทย นักเรียนพม่าจำนวนมากสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยและโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพ เชียงใหม่ และเชียงราย ในหลายๆ กรณี พ่อแม่ย้ายตามพวกเขามาด้วย ในประเทศไทยและที่อื่นๆ ผู้อพยพได้ตั้งกลุ่มในโซเชียลมีเดียเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการย้ายไปตั้งรกรากในต่างประเทศ หลายคนวางแผนทำธุรกิจขณะที่ลูกหลานกำลังเล่าเรียนศึกษาต่อ

หลายคนไม่ใช่เจ้าของกิจการในพม่า แต่เป็นนักธุรกิจระดับกลาง คนเหล่านี้ก็กำลังออกจากพม่า เพื่อขอวีซ่าระยะยาวในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทยและสิงคโปร์ เป็นต้น อิรวดีวิเคราะห์ว่าคนเหล่านี้ออกจากพม่า เนื่องจากหมดหวังกับระบอบทหารและอาชญากรรมสงครามของเผด็จการ หากประเทศเพื่อนบ้านให้การต้อนรับแก่พวกเขาในยามยาก พวกเขาจะทำประโยชน์ให้กับบ้านหลังที่ 2 ของพวกเขาอย่างแน่นอน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net