‘ราษฎรหยุดAPEC2022’ ยืนยันเอาผิด ตร.ใช้ความรุนแรงสลายม็อบ

ตัวแทนจากสมาชิกในเครือข่าย ‘ราษฎรหยุดAPEC2022’ ร่วมกันแถลงข่าวย้ำข้อเรียกร้องตำรวจต้องรับผิดชอบากรใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม และนานาชาติที่ร่วมลงนามในข้อตกลงของการประชุมเอเปคจะต้องร่วมรับผิดชอบกดดันให้ สตช.ต้องดำเนินการนำตัวเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนมาดำเนินคดีด้วย พร้อมเปิดล่ารายชื่อใน change.org ด้วย

28 พ.ย.2565 เมื่อ 19.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ตัวแทนเครือข่าย “ราษฎรหยุด APEC2022” แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมเมื่อ 18 พ.ย.2565 โดยมีตัวแทนจากสมาชิกเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ จำนงค์ หนูพันธ์ จาก P-Move นิติกร ค้ำชู จากกลุ่มดาวดิน ธนพัฒน์ กาเพ็ง จากกลุ่มทะลุฟ้า และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์

(จากซ้ายไปขวา) นิติกร ค้ำชู, ธนพัฒน์ กาเพ็ง, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และจำนงค์ หนูพันธ์ ภาพจากไลฟ์ของเพจ "ราษฎร"

จำนงค์ หนูพันธ์ จาก P-Move กล่าวย้อนไปว่าการชุมนุมวันนั้นเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลประยุทธ์เพื่อสื่อสารว่าการประชุมเอเปคครั้งนี้ใครได้หรือเสียประโยชน์บ้างและให้รัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชนถึงการประชุมครั้งนี้ด้วยว่ามีประเด็นในที่ประชุมอะไรบ้าง ซึ่งขบวนการ P-MOVE ก็คือกลุ่มประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ทั่วประเทศและยังเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลและผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการประชุมเอเปคก็จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากขึ้นอีก ทั้งที่นายทุนในไทยมีที่ดินเป็นแสนไร่แต่ประชาชนบางคนกลับไม่มีเลย จึงเป็นเหตุให้ออกมาเคลื่อนขบวนเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา

ตัวแทนจาก P-MOVE กล่าวต่อว่าแต่ไม่เคยคิดว่าจะมีการสลายการชุมนุมของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จึงต้องหาคนมารับผิดชอบประชาชนที่บาดเจ็บกว่า 30 คนและถูกดำเนินคดีอีก 25 คน

นิติกร ค้ำชู จากกลุ่มดาวดิน เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดในวันนั้นว่าทางเจ้าหน้าที่มีความพยายามสลายการชุมนุม ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนสิบโมงกว่าๆ คือตอนที่ขบวนพยายามเดินปตามเส้นทางที่วางไว้และพยายามเจรจาเพื่อขอผ่านไป แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับใช้กำลังดันเข้ามาและใช้กระสุนยางเลยก็เลยเกิดความชุลมุนกันทำให้ต่างฝ่ายต่างถอยร่นออกไปแล้วรักษาแนวกัน

ตัวแทนจากดาวดินกล่าวถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมตอนช่วงเที่ยงว่าผู้ที่มาร่วมขบวนกำลังพักกินข้าวกันอยู่ อย่างไรก็ตามการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นตามขั้นตอนในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 คือไม่มีการขอหมายศาลมาก่อนสลายการชุมนุมทั้งที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมาย และยังใช้ความรุนแรงมาสลายการชุมนุมโดยไม่ได้สัดส่วนที่เกินกว่าเหตุ คือไม่มีการใช้กำลังจากเบาไปหาหนักเพราะเมื่อเกิดการยื้อกันเจ้าหน้าที่ก็ใช้กระสุนยงเลยแล้วก็ไม่ได้แจ้งก่อนว่าจะใช้ ทั้งที่ผู้ชุมนุมก็เดินหน้าไปแล้วก็ไม่ได้พยายามจะทะลุทะลวงอะไร เมื่อไปไม่ได้ก็หยุด แต่เจ้าหน้าที่ก็ใช้กระสุนยางตั้งแต่การปะทะกันครั้งแรก แล้วก็ยังมีการเตะผู้ชุมนุมเข้าที่หว่างขาทั้งที่ล้มไปแล้วก็เอาปืนกระสุนยางยิงซ้ำเข้าที่พุง

นิติกรกล่าวถึงประเด็นต่อมาว่าการใช้กระสุนยางเป็นการยิงบนร่างกายไม่ได้เป็นการกระสุนยางตามหลักสากลและจากเหตุนี้ทำให้พาย พบุญโสภณต้องสูญเสียดวงตาไป และเจ้าหน้าที่ยังใช้โล่สีดำที่ตามหลักควรจะต้องเปิดเผยโปร่งใสเลยน่าสงสัยว่าทางเจ้าหน้าที่จงใจปิดบังอะไรหรือไม่ พฤติกรรมตรงนี้เป็นการใช้ความรุนแรงเกินสัดส่วน

นิติกรกล่าวถึงอีกประเด็นว่าการประชุมเอเปคครั้งนี้ยังมีประชาชนถูกคุกคามก่อนที่จะมีการประชุมครั้งนี้โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในต่างจังหวัดและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็รายงานจำนวนการคุกคามที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่ามี 57 กรณี

ตัวแทนจากกลุ่มดาวดินยังได้กล่าวถึงการคุกคามสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่ใส่ปลอกแขนสื่อมวลชนชัดเจน แต่สุดท้ายก็ยังถูกทำร้ายแล้วเจ้าหน้าที่ยังพูดอีกว่า “พวกกูนี่แหละของจริง”

ธนพัฒน์ กาเพ็ง จากกลุ่มทะลุฟ้า กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้สปายแวร์เจาะเข้ามาในเฟซบุ๊กของนักกิจกรรมที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วยซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลด้วย นอกจากนั้นจำนวนผู้บาดเจ็บมีอย่างน้อย 21 คน และพายุ 1 ในผู้บาดเจ็บยังเสียดวงตาข้างขวาไปอีกด้วย เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุไปมากทั้งที่เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมายแต่กลับไม่เปิดเผยตัวตน และสังกัด

“เมื่อเกิดสภาวะที่ไร้หน้าไร้ชื่อ ดังนั้นเจ้าหน้าที่เหมือนไร้ความเป็นมนุษย์ไปด้วยปฏิบัติกับผู้ชุมนุมโดยไม่คำนึงสิทธิมนุษยชนของเราเลย” ตัวแทนกลุ่มทะลุฟ้ากล่าว

ธนพัฒน์กล่าวว่าการชุมนุมในวันนั้นเป็นการตั้งเวทีคู่ขนานกับการประชุมเอเปคเพื่อสื่อสาร แต่ตำรวจคือการสลายชุมนุมและทำร้ายชาวบ้าน ดังนั้นการประชุมเอเปคที่ไทยครั้งที่ผ่านมาจึงไม่ได้รับการยอมรับทั้งเรื่องการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามกฎกติกาและในที่ประชุมเอเปคยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการของอีสานเรคคอร์ดกล่าวถึงกรณีนักข่าวพลเมืองของสำนักที่ถูกจับกุมดำเนินคดีว่า ในวันนั้นเมื่อได้เห้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพแล้วและได้ประเมินสถานการณ์ว่าในที่ชุมนุมมีกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่มาจากอีสานหลายกลุ่มจึงได้ให้น้องคนหนึ่งที่มาร่วมอบรมการเป็นสื่อมวลชนและอยู่ในที่ชุมนุมอยู่แล้วลองรายงานข่าวดู

บก.อีสานเรคคอร์ดเล่าต่อว่าพอถึงช่วงเที่ยงเริ่มมีการขว้างปาขวดกันแล้วทั้งสองฝั่ง นักข่าวพลเมืองรายนี้ก็รายงานด้วยว่าเห็นมีการขว้างขวดไปมาทั้งจากฝั่งเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม แต่เมื่อเธอเห็นว่าสถานการณ์เริ่มไม่ดีแล้วก็ได้แจ้งให้นักข่าวถอยออกมาแล้วไปเกาะกลุ่มกับสื่อมวลชนแล้วเขาก็ทำตาม แต่กลับเป็นคนแรกๆ ที่ถูกผลักลงไปและอยู่ห่างจากนักข่าวของ The Matter นัก นักข่าวพลเมืองรายนี้ก็ถูกรุมเตะและตีจนหัวแตกแล้วเจ้าหน้าที่ก็จับเขาไปเป็น 1 ใน 25 คนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งที่เจ้าตัวก็เป็นสื่อมวลชนและพยายามแจ้งกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าเป็นสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ก็ถามด้วยความหยาบคายว่าเป็นสื่ออะไร

หทัยรัตน์เล่าอีกว่าจากที่ติดตามดูผ่านไลฟ์ของนักข่าวพลเมืองรายนี้ก็เห็นว่าเขาถูกผลักล้มลงไปแล้วหลังจากนั้นภาพก็ตัดไป แล้วมาทราบทีหลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวแล้วว่าเขาถูกเหยียบแว่นทำให้เขามองไม่เห็นเลย และเขายังรู้สึกว่าการทำหน้าที่สื่อนั้นไม่ได้มีความปลอดภัยกับเขาเลย แม้กระทั่งเพื่อนนักข่าวที่มีป้ายและปลอกแขนแล้วยังถูกทำร้ายเลย

“ไม่ควรจะมีสื่อมวลชนสำนักใดหรือแม้กระทั่งผู้ชุมนุมคนใดที่ถูกทำร้ายแล้วก็เราเชื่อมั่นว่าประเทศเราเป้นประชาธิปไตยที่เคารพเสียงที่แตกต่างแม้ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นหลายครั้งจากการประเมินมันไม่มีบรรยากาศที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้เลย แต่เจ้าหน้าที่เองกลับเข้ามาสลายการชุมนุมขณะที่ชาวบ้านกำลังนั่งกินข้าว” หทัยรัตน์ตั้งคำถามถึงความไม่มีมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเลือกใช้ปฏิบัติการนับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา

บก.อีสานเรคคอร์ดเล่าว่าตลอดการทำงานสื่อมากว่า 20 ปีผ่านความรุนแรงมาหลายครั้งแต่ไม่เคยเห็นการสรุปบทเรียนกันเสียทีว่าการสลายการชุมนุมแบบไหนที่ไปยกระดับการเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมหรือคนเห็นต่าง และเธอยังเปรียบเทียบกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม กปปส.ก่อนรัฐประหารนั้นเป็นคนละมาตรฐานกับที่เจ้าหน้าที่ใช้มานับตั้งแต่ คสช.ทำรัฐประหารเข้ามาไม่ได้เข้าเคารพความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

หทัยรัตน์กล่าวถึงสิ่งที่จะทำต่อไปว่าจะดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายร่างกายนักข่าวพลเมืองที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นเท่ากับเป็นการทำร้ายประชาชน

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ กล่าวย้อนไปว่าการชุมนุมเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.แล้วเพื่อสื่อสารถึงนโยบาย BCG ว่าถ้าผ่านออกมาแล้วสังคมจะเจอผลกระทบอะไรบ้างจากนโยบายนี้ และข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไปถึงประเทศบางส่วนคือขอให้ประเทศเหล่านั้นทบทวนสิ่งที่ตนเจรจาและลงนามไปเมื่อดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะมันไม่ได้เป็นธรรมต่อประชาชนในไทยเลยเพราะนโยบายนี้ไม่ได้ออกมาโดยมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม จึงอยากขอให้ประเทศที่มาร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ได้นึกถึงประชาชนของประเทศไทยมากกว่ารัฐบาลประยุทธ์ด้วย

ภัสราวลียังได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องอีกข้อว่าขอให้ประเทศที่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลไทยไปต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ด้วยกับรัฐบาลไทยและร่วมกันกดดันสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ต้องรับผิด ขอโทษ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บและทรัพย์สินที่สูญหายและเสียหายไป รวมถึงการหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดทั้งที่เป็นผู้ปฏิบัติและผู้สั่งการมาลงโทษทั้งวินัยและทางอาญา

“การทุบตีไล่ตีแบบนั้นโดยที่ไม่มีเหตุให้กระทำเลย มันไม่มีใครเตรียมตัวทันทั้งกล้องพี่น้องสื่อมวลชน ของมีค่าของชาวบ้านเครื่องเสียงอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกต่างๆ หลายอย่างสูญเสียไปและสูยเสียเยอะมากเพราะฉะนั้นขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและส่วนที่เกี่ยวข้องออกมาชดใช้ค่าเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจและของที่สูญเสียไป”

ภัสราวลีกล่าวถึงข้อเรียกร้องข้อที่สามว่า สตช.จะต้องเร่งหาตัวผู้ปฏิบัติงานและผู้สั่งการที่สลายการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุครั้งนี้ การหาตัวมารับโทษจะต้องเป็นทั้งทางวินัยและอาญารวมถึงต้องเปิดเผยรายชื่อของผู้ที่กระทำเกินกว่าเหตุในวันนั้นเช่นผู้ที่ใช้กระสุนยางยิงในวันนั้น เพื่อไม่ให้เป็นกาผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไปแล้ว และเพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่า สตช.ยังมีความเป็นธรรมอยู่ นอกจากนั้นจะต้องรับประกันว่าจะไม่เกิดการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมอีกเพราะการชุมนุมของเรานั้นเป็นไปโดยปราศจากอาวุธและเป็นการใช้เสรีภาพที่ควรได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญอีกทั้งยังเป็นเรื่องปากท้องของประชาชนที่เป็นเรื่องพื้นฐานของทุกคนในชาติจึงต้องพูดได้แม้ว่าจะเป็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ด้วยก็ตาม

นอกจากนั้นอีกประเด็นที่จะต้องเกิดขึ้นคือการปฏิรูปกระบวนการควบคุมการชุมนุมเพื่อให้เกิดการชุมนุมขึ้นได้ ไม่ใช่การมาขวาง ต่อต้าน หรือสลายการชุมนุมเพราะในระบอบประชาธิปไตยตำรวจต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนและข้อเรียกร้อง ปัญหาที่เราเผชิญอยู่เพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยที่เราพึงมี เราจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช้ถูกป้องปรามหรือปราบปรามหรือถูกกำจัด

ภัสราวลีกล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปนี้ว่าเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบต้องถูกระบุตัวตนได้ มีความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักสากลรวมถึงกฎหมายและระเบียบที่เอื้อต่อการใช้สิทธิของประชาชน

“เราไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงเช่นนี้กับการชุมนุมของไทยในรูปแบบไหนอีกต่อไปแล้วเพราะมันไม่ควรเกิดขึ้นเลยในสังคมประชาธิปไตยแบบนี้ สังคมประชาธิปไตยควรจะต้องให้พื้นที่ประชาชนทุกคนทุกความคิดทุกแนวคิดให้มีพื้นที่มีโอกาสส่งเสียงเรียกร้องของพวกเขา”

ภัสราวลีกล่าวถึงแนวทางหลังจากนี้ว่าจะมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนแน่นอน โดยจะมีการรวบรวมหลักฐานให้มากที่สุดและรัดกุมที่สุดในการฟ้องกลับเพื่อไม่ให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป และมีแคมเปญให้ทุกคนได้ลงชื่อโดยจะใช้ #ปฏิรูปคฝ (ย่อจากควบคุมฝูงชน) เพื่อเรียกร้องให้ สตช.รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมของราษฎร APEC2022 ได้ที่เว็บไซต์ change.org

นิติกรเล่าถึงการไปยื่นหนังสือถึงสถานทูตต่างๆ ในวันนี้ว่าบางแห่งก็ให้เจ้าหน้าที่ออกมารับบางแห่งก็ต้องเอาไปไว้ในกล่องรับเรื่อง สำหรับสถานทูตที่มีเจ้าหน้าที่ออกมารับก็แจ้งว่าจะนำเรื่องไปสื่อสารถึงหน่วยงานต่อไปเป็นการภายในและประสานมาเพื่อขอข้อมูลเพิ่ม

ช่วงตอบคำถามภัสราวลีตอบในประเด็นที่มีการเผยแพร่ภาพพระกระโดดถีบดล่ตำรวจหรือที่มีภาพผู้ชุมนุมใช้ไม้เข้าไปตีตำรวจว่า สำหรับกรณีของพระนั้นก็คงกระโดดแบบนั้นไม่ได้ถ้ามีอาวุธแล้วพระองค์นั้นก็ยังถูกกระสุนบางยิงเข้าที่ท้ายทอยด้วย ส่วนกรณีคนที่มีไม้ถ้าย้อนไปดูก็จะเห็นว่าเป็นความพยายามช่วยผู้หญิงที่กำลังถูกตำรวจดึงเข้าไปหลังแนวโล่ก็เป็นการช่วยกัน

“ไม่ว่าจะมีบุคคลใดอยู่ในที่ชุมนุมนั้นแล้วเขาดูมีท่าทีจะใช้ความรุนแรงแล้วไปกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของพี่น้องคนอื่น หน้าที่ของควบคุมฝูงชนคือแค่การนำตัวเขาออกไป ไม่ใช่การสลายการชุมนุม” ภัสราวลรีย้ำว่าการมีคนที่มาก่อเหตุจนกระทบสิทธิของคนอื่นไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่เอากระบองมาฟาด เอากระสุนยางมายิง หรือสลายชุมนุมซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แล้วข้อเท็จจริงก็เห็นกันอยู่ว่าขณะเกิดเหตุไม่ใช่ว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธการ์ดที่อยู่ด้านหน้าเพียงแต่คล้องแขนกันเพื่อแสดงว่าใครที่เป็นการ์ดบ้าง อีกทั้งตำรวจไม่ได้มีสิทธิในการสลายการชุมนุมและหากถ้าพวกเขาอยากจะทำต้องไปขอหมายศาลมาเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท