Skip to main content
sharethis

ศรีลังกาหยุดงานประท้วงประท้วงแผนช่วยเหลือของ IMF ที่จะมีการขึ้นภาษีและลดค่าใช้จ่ายสาธารณะ

ที่ศรีลังกา ประชาชนและสหภาพแรงงานประมาณ 40 แห่ง ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลของรัฐและพนักงานธนาคาร ได้ทำการนัดหยุดงานประท้วง ประท้วงแผนช่วยเหลือของ IMF ที่จะมีการขึ้นภาษีและลดค่าใช้จ่ายสาธารณะ

ทั้งนี้ชาวศรีลังกากำลังไม่พอใจรัฐบาลขึ้นภาษีและตัดลดงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้ได้เงินช่วยเหลือจาก IMF หลังจากศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือน เม.ย. 2022 และกำลังรอความช่วยเหลือทางการเงินจากจีน ซึ่งเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา

ที่มา: Al Jazeera, 1/3/2023

คนงานเหมืองในปานาประท้วงรัฐ เรียกร้องให้เปิดเหมืองอีกครั้ง

คนงานเหมือง Cobre ในปานามาประท้วงในกรุงปานามาซิตี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้เปิดเหมืองแร่และท่าเรือที่ใช้ขนส่งแร่ทองแดงอีกครั้ง หลังเหมืองดังกล่าวต้องหยุดดำเนินการ หลังจากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการจ่ายภาษีและประทานบัตรเหมืองแร่ ส่งผลให้คนงานต้องตกงานกว่า 8,000 คน

สหภาพแรงงานระบุว่าการปิดเหมืองทำให้แรงงานจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้ จึงต้องออกมาประท้วง

ที่มา: Alaska Commons, 1/3/2023

ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 104 ในรายงานความเหลื่อมล้ำทางเพศของธนาคารโลก

ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 190 ประเทศในการสำรวจประจำปีว่าด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงของธนาคารโลก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังอยู่อันดับท้ายสุดในบรรดา 38 ชาติสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD

ธนาคารโลกได้ออกรายงานล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม การสำรวจนี้ประเมินความคืบหน้าของกฎหมายและข้อบังคับในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศทางเศรษฐกิจ 8 ด้าน เช่น ค่าจ้าง การเป็นผู้ประกอบการ การแต่งงาน และการเป็นพ่อแม่

14 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป เช่น เบลเยียม เดนมาร์ก และฝรั่งเศส แคนาดาก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

การที่อันดับของญี่ปุ่นต่ำเป็นเพราะญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายกำหนดให้ชายและหญิงได้รับค่าจ้างเท่ากันสำหรับงานที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายลงโทษการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานด้วย

ที่มา: NHK World, 3/3/2023

NGO วิจารณ์ไต้หวัน แม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดน แต่แรงงานต่างชาติยังต้องเสียค่ากักตัวราคาแพง

สถานการณ์โควิดในไต้หวัน ปัจจุบันแม้แต่ละวันยังคงมียอดผู้ป่วยยืนยันเป็นหลักหมื่น แต่อาการป่วยไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์รุ่นแรก ๆ ทำให้ความหวาดผวาของผู้คนลดน้อยลง และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไต้หวันมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิดลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมพรมแดน 0+7 คือไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป เพียงแค่สังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 7 วัน และระหว่างนี้สามารถออกนอกสถานที่ได้ หากผลตรวจ ATK เป็นลบ รวมถึงมาตรการป้องกันโรคในชีวิตประจำวัน อย่างมีการอนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยภายในอาคารได้แล้ว ยกเว้นการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน และในบางสถานที่หรือกิจกรรมบางอย่าง

แต่สำหรับแรงงานต่างชาติแล้ว ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคกล่าวว่า แม้จะใช้มาตรการ 0+7 อย่างเดียวกับผู้โดยสารชาวไต้หวันและชาวต่างชาติทั่วไป แต่เนื่องจากแรงงานต่างชาติอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โอกาสเสี่ยงยังสูง กำหนดให้ต้องสังเกตอาการตนเองในห้องพักเดี่ยวที่มีห้องน้ำในตัว หากเป็นหอพักโรงงาน ต้องผ่านการตรวจและรับรองจากหน่วยงานท้องที่ที่เกี่ยวข้องก่อน แต่หอพักโรงงานส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ทางการกำหนด นายจ้างตัดปัญหาให้แรงงานต่างชาติไปพักสังเกตอาการในโรงแรมเป็นเวลา 7 วัน สำหรับแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่ นายจ้างส่วนใหญ่รับผิดชอบค่าห้องพัก ไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะสร้างความเดือดร้อนอย่างยิ่งสำหรับแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว ขากลับเข้าไต้หวันต้องรับผิดชอบค่าโรงแรม 7 วัน ซึ่งแพงกว่าค่าเดินทางไป-กลับเสียอีก ทำให้มีเสียงบ่นและเรียกร้องขอให้ยกเลิกมาตรการที่ไม่เป็นธรรมนี้จากกลุ่มแรงงานต่างชาติมากขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เครือข่ายสนับสนุนและเสริมพลังแรงงานย้ายถิ่นในไต้หวัน (MENT) ซึ่งเป็นแนวร่วมกลุ่ม NGO จัดแถลงข่าววิจารณ์ว่า การเดินทางเข้าไต้หวันของแรงงานต่างชาติ ยังมีมาตรการยุ่งยากและไม่เป็นธรรมหลายประการ โดยเฉพาะกับแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว ก่อนการเดินทาง จะต้องยื่นขออนุญาตกลับเข้ามาในไต้หวันอีกทุกครั้ง (Re-entry Permit) และต้องกลับเข้าไต้หวันภายในกำหนด มิเช่นนั้นจะไม่สามารถกลับเข้าไต้หวัน หรือกลับได้ก็ต้องทำเรื่องใหม่ยุ่งยากมาก และก่อนจะกลับสู่ไต้หวัน ต้องให้นายจ้างหรือบริษัทจัดหางานลงทะเบียนในเว็บไซต์ศูนย์บริการแรงงานต่างชาติประจำสนามบิน พร้อมจองโรงแรมสำหรับสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 7 วัน ส่วนผู้อนุบาลในครัวเรือน แม้นายจ้างจะมีห้องพักเดี่ยวที่มีห้องน้ำในตัวให้พักสังเกตอาการ 7 วัน แต่ก็ต้องลงทะเบียนก่อนการเดินทางกลับไต้หวันเช่นกัน

เครือข่ายสนับสนุนและเสริมพลังแรงงานย้ายถิ่นในไต้หวันกล่าวเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิกข้อบังคับที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้เสีย โดยเฉพาะการกักตัวสังเกตอาการตนเองที่โรงแรมเป็นเวลา 7 วัน และมาตรการบังคับต้องขออนุญาตกลับเข้ามาในไต้หวันอีกทุกครั้ง ควรจะปฏิบัติอย่างเสมอภาค เฉกเช่นอย่างเดียวกับชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ นักศึกษา ชาวต่างชาติที่มีทักษะฝีมือหรือแรงงานไวท์คอลลาร์ เป็นต้น สามารถเข้าออกไต้หวันได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งตราบเท่าที่ใบถิ่นอยู่ที่หรือ ARC ยังไม่หมดอายุ เพื่อให้การควบคุมพรมแดนและการเข้าออกเมืองมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 3/3/2023

สหภาพแรงงานฝรั่งเศสนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหม่ ต้านแผนการปฏิรูประบบบำนาญ

สมาพันธ์แรงงาน CFDT ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาพันธ์แรงงานใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส เรียกร้องให้คนทำงาน ประชาชน และผู้เกษียณอายุทั่วประเทศออกมาต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญ  ที่จะขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี เพิ่มจำนวนปีในการสมทบเงินเพื่อที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน

ตำรวจฝรั่งเศสประเมินว่าจะมีประชาชนราว 1.1-1.2  คนออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนมากกว่า 260 จุดทั่วประเทศในวันที่ 7 มี.ค. 2023 ทั้งนี้ฝรั่งเศสมีการนัดหยุดงานมาแล้ว 5 ครั้งตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. 2023

ที่มา: The Guardian, 7/3/2023

ค่าจ้างที่แท้จริงในญี่ปุ่นลดลงมากกว่าร้อยละ 4 ในเดือน ม.ค. 2022

ค่าจ้างที่แท้จริงของพนักงานชาวญี่ปุ่นลดลงในเดือน ม.ค. 2022 มากที่สุดในช่วงเกือบ 9 ปี ค่าจ้างที่แท้จริงนี้ลดลงมากกว่าร้อยละ 4 จากปีก่อนหน้า หลังจากปรับด้วยเงินเฟ้อแล้ว

ตัวเลขเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าค่าจ้างลดลงร้อยละ 4.1 จากเดือน ม.ค. ปีก่อนหน้า เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10

พนักงานได้รับค่าจ้างรายเดือนรวมทั้งที่ทำงานล่วงเวลาเฉลี่ย 276,857 เยน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในรูปของเงินเยน แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นถูกหักล้างไปหมดเพราะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

ที่มา: NHK World, 7/3/2022

ญี่ปุ่นได้อันดับเกือบสุดท้ายในกลุ่ม OECD ด้านภาวะแวดล้อมการทำงานของผู้หญิง

ผลสำรวจประจำปีเกี่ยวกับภาวะแวดล้อมในการทำงานสำหรับผู้หญิงระบุว่า ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับเกือบสุดท้ายของกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจร่ำรวยที่สุดในโลก

ช่วงต้นเดือน มี.ค. 2023 นิตยสาร Economist ของอังกฤษได้เผยแพร่ดัชนีเพดานกระจกล่าสุดที่สะท้อนถึงความไม่เสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน ก่อนหน้าวันสตรีสากลซึ่งตรงกับวันพุธที่ 8 มีนาคมซึ่งกำหนดโดยสหประชาชาติ

Economist จัดอันดับ 29 ประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD โดยใช้ตัวชี้วัด 10 ข้อ เช่น ช่องว่างของค่าจ้างระหว่างเพศชายกับหญิง และอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน

ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 28 โดยตัวชี้วัดส่วนใหญ่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD สัดส่วนของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ทำงานในตำแหน่งบริหารจัดการและในรัฐสภานั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุด

ไอซ์แลนด์ครองอันดับที่ 1 โดยตัวชี้วัดส่วนใหญ่ของไอซ์แลนด์อยู่เหนือค่าเฉลี่ยของ OECD และมีสัดส่วนของผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารของบริษัทและในรัฐสภาสูงกว่าสวีเดนและฟินแลนด์อยู่ในอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

ที่มา: NHK World, 8/3/2022

‘GM’ เสนอแผนจ้างพนักงานออกเพื่อช่วยลดต้นทุนธุรกิจ

บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors – GM) เสนอจ้างพนักงานกินเงินเดือนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ และผู้บริหารบริษัทสาขาทั่วโลกบางส่วนให้ออกจากงาน เพื่อหวังลดต้นทุนธุรกิจ ขณะที่บริษัทค่อย ๆ เปลี่ยนถ่ายมาเน้นการผลิตรถพลังงานไฟฟ้า ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

ธุรกิจรถยนต์สัญชาติอเมริกันแห่งนี้ไม่ยอมเปิดเผยว่า มีแผนจะจ้างพนักงานออกเป็นจำนวนเท่าใด แต่ยืนยันว่า แผนงานนี้มุ่งหวังที่จะช่วยเร่งให้บริษัทสามารถลดต้นทุนได้ตามเป้า 2,000 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีหน้า

รายงานข่าวระบุว่า GM มีพนักงานกินเงินเดือนราว 58,000 คน ในสหรัฐฯ ขณะที่ บริษัทยืนยันว่า ได้ไตร่ตรองรายละเอียดของข้อเสนอซื้อหุ้นคืนมาอย่างดีเพื่อป้องกันไม่ให้ต้องมีการไล่พนักงานออกในอนาคตด้วย

ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าว พนักงานกินเงินเดือนในสหรัฐฯ ที่ทำงานมาอย่างน้อย 5 ปี จะได้รับเงินเดือน 1 เดือนคูณจำนวนปีที่ทำงานกับบริษัทมา โดยมีเพดานสูงสุดที่ 12 เดือน พร้อมจะได้รับแผนประกันคุ้มครองสุขภาพสำหรับตนเองและสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งโบนัสส่วนที่พึงได้รับในปีนี้ด้วย

ในส่วนของทีมผู้บริหารในสำนักงานต่างประเทศนั้น ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการคือ ผู้ที่ทำงานกับ GM มาอย่างน้อย 2 ปี แต่รายงานข่าวไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของสิ่งที่จะได้รับจากการรับข้อเสนอจ้างออก

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พอล เจคอบสัน ประธานบริหารฝ่ายการเงินของ GM บอกกับนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแผนลดขนาดธุรกิจที่จะเกิดขึ้น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเตรียมตัวรับมือกับการหดตัวหรือการถดถอยของสภาพเศรษฐกิจ แม้ว่ายอดขายของบริษัทยังถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งก็ตาม

ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจ้างออกนี้ต้องลงชื่อกับบริษัทภายในวันที่ 24 มี.ค. และผู้ที่ได้รับอนุมัติจะต้องลาออกจากบริษัทภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2023

ที่มา: VOA, 10/3/2023

สหภาพแรงงานภาคบริการสาธารณะในเบลเยียมหยุดงานประท้วง

สหภาพแรงงานภาคบริการสาธารณะในเบลเยียมพร้อมใจกันหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้สถานีรถไฟในหลายเมืองไม่มีผู้คน นอกจากนี้ ยังมีการหยุดงานประท้วงใน สถานที่ราชการ ศาลาว่าการเมือง และศูนย์จัดการขยะต่างๆ อีกด้วย

ที่มา: Washington Post, 10/3/2023

วุฒิสภาของฝรั่งเศสผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ

สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสลงมติ 195 ต่อ 112 เสียง เห็นชอบร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ ซึ่งเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประชาชนออกมาเดินขบวนคัดค้านทั่วประเทศ

โดยแผนปฏิรูประบบบำนาญ จะขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี และเพิ่มจำนวนปีในการสมทบเงินเพื่อที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน รัฐบาลของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ระบุว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อปกป้องระบบบำนาญของฝรั่งเศสไม่ให้เข้าสู่ภาวะขาดดุลภายในปี 2030

ที่มา: TRT World, 12/3/2023

นายจ้างอังกฤษขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5% ช่วงเดือน พ.ย. 2022 - ม.ค. 2023 มากเป็นประวัติการณ์

ศูนย์วิจัย IDR เผยแบบสำรวจพบว่านายจ้างอังกฤษขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5% ในช่วงเดือน พ.ย. 2022 - ม.ค. 2023 ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ และภาวะตลาดแรงงานตึงตัว บ่งชี้ว่าการจ่ายเงินค่าจ้างมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กำลังจับตามองค่าจ้างที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายจำนวนมากกังวลว่าการเพิ่มค่าจ้างมากกว่าค่าเฉลี่ยจะทำให้เงินเฟ้อลดลงช้ากว่าเดิม หลังจากที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปีที่ 11.1% ในเดือน ต.ค. 2022 และยังคงอยู่ในระดับเลข 2 หลักอยู่ในขณะนี้

ที่มา: US News, 14/3/2023

20 มี.ค. 2023 เป็นต้นไป แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าไต้หวัน ไม่ต้องสังเกตอาการตนเอง 7 วันอีกต่อไป

กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศว่าเพื่อให้สอดคล้องการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคของศูนย์บัญชาการควบคุมโรค ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 20 มี.ค. 2023 เป็นต้นไป ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่ต้องรายงานและไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป รวมทั้งยกเลิกมาตรการสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 7 วันของผู้เดินทางเข้าไต้หวัน ในส่วนของแรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันก็เช่นกัน ไม่ต้องสังเกตอาการตนเองอีกต่อไป เมื่อเดินทางถึงไต้หวัน สามารถไปพักในหอพักสถานที่ทำงานได้เลย

ที่มา: Radio Taiwan International, 17/3/2023

สหภาพแรงงานโปรตุเกสประท้วงเรียกร้องรัฐบาลขึ้นค่าแรง หลังอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี

สมาพันธ์สหภาพแรงงาน CGTP นำประชาชนชาวโปรตุเกส เดินขบวนประท้วงในกรุงลิสบอน เรียกร้องรัฐบาลขึ้นค่าแรงและมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาค่าครองชีพแพง เช่น คุมราคาสินค้า ค่าเช่าบ้านและดอกเบี้ยเงินกู้ หลังอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2022 มาแตะระดับร้อยละ 7.4 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี

ที่มา: Press TV, 18/3/2023

Amazon ปลดพนักงานอีก 9,000 ตำแหน่ง-ส่งยอดรวมเป็น 27,000 คน

บริษัท Amazon ประกาศแผนปลดพนักงานเพิ่มอีก 9,000 ตำแหน่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ตามรายงานอ้างข้อมูลจากหนังสือภายในที่ส่งให้กับพนักงาน

การประกาศลดพนักงานครั้งล่าสุดของ Amazon ถือเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำแห่งนี้ก่อตั้งมา และส่งผลให้ตัวเลขพนักงานที่ถูกปลดเพิ่มขึ้นเป็น 27,000 ตำแหน่ง

รายงานข่าวระบุว่าส่วนงานที่จะมีการลดพนักงานตามประกาศในวันจันทร์มีอาทิ แผนก AWS ที่ดูแลระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง (cloud computing) แผนกโฆษณา ส่วนธุรกิจเกมออนไลน์ Twitch และทีมงาน PXT ที่ดูแลงานหลายด้านซึ่งรวมถึงทรัพยกรมนุษย์

เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2023 Amazon เปิดเผยว่าจะมีการพักการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ในพื้นที่ทางเหนือของรัฐเวอร์จิเนีย แต่เฟสแรกของโครงการนี้จะยังเปิดทำการตามแผนงานเดิมในเดือน มิ.ย. 2023 โดยจะมีพนักงานเข้าทำงานราว 8,000 คน

ที่มา: VOA, 21/3/2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net