Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยต้องไม่เนรเทศพลเมืองพม่ากลับประเทศ เพราะพวกเขาเสี่ยงที่จะถูกคุมขัง ทรมาน หรือสั่งประหารชีวิตตามคำสั่งของกองทัพพม่า

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่าสืบเนื่องจากรายงานข่าวที่ว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 อ.แม่สอด กองกำลังนเรศวร เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พร้อมหน่วยข่าวด้านความมั่นคง สนธิกำลังเข้าตรวจค้นตึกแถวในบริเวณหมู่บ้านมารวย ชุมชนหนาแน่น ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก เกือบ 40 คูหา และมีการสอบปากคำพลเมืองเมียนมาประมาณ 100 คนซึ่งในนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วย เมื่อวันที่ 22 มี.ค. และ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากทราบว่ามีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า กลุ่มกองกำลังป้องกันประชาชน หรือ PDF หลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่สอด 

นาง เส็ง (Nang Sein) นักวิจัยประเทศพม่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการไทยต้องไม่เนรเทศพลเมืองพม่ากลับไปประเทศพม่า ซึ่งพวกเขาอาจเสี่ยงที่จะถูกคุมขัง ทรมาน หรือสั่งประหารชีวิตตามคำสั่งของกองทัพเมียนมา 

“พลเมืองพม่าซึ่งหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามา ยังคงต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว เพราะอาจถูกส่งกลับประเทศ และไม่ทราบชะตากรรมของตนเอง หลายคนหลบหนีจากบ้านเกิด หลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564 เพื่อให้ปลอดภัยจากการปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงของกองทัพพม่า พวกเขาต้องตกอยู่ในอันตราย เพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ หรือเพราะความเชื่อทางการเมืองของตน พวกเขาไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครได้ และมีโอกาสในการหาเลี้ยงชีพไม่มากนัก”

“ในประวัติศาตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยรองรับและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยทั่วทั้งภูมิภาค ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของพม่าและรัฐภาคีอาเซียน ประเทศไทยสามารถมีบทบาทให้ความคุ้มครองที่จำเป็นต่อประชาชนที่หลบหนีจากการถูกกดขี่และปราบปรามในพม่า” 

“ทางการไทยควรยึดมั่นตาม “หลักการไม่ส่งกลับ” (principle of non-refoulement) ที่รับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทยเอง ประชาชนเหล่านี้มีสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และเข้าถึงการขอลี้ภัย”  

ข้อมูลพื้นฐาน: 

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ทหาร และหน่วยงานในท้องถิ่น เข้าตรวจค้นห้องเช่าในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 และ 23 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทราบข้อมูลจากสมาชิกชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งระบุว่าทางการมีรายชื่อบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการจับกุม รวมทั้งคนที่หนีทหาร อดีตข้าราขการที่เข้าร่วมกลุ่มขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement หรือ CDM)  นักการเมือง นักกิจกรรม และบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ  

คาดว่ามีประมาณ 100 คนรวมทั้งเด็กที่ถูกสอบปากคำด้านนอกห้องเช่าของตนเอง และต่อมาได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ตามข้อมูลของแกนนำชุมชน ทางการยังได้เข้าตรวจค้นอาคารอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพลเมืองพม่าในวันที่ 23 มี.ค. ที่อำเภอแม่สอด แกนนำชุมชนบอกว่า ทางการไทยมีรูปถ่ายและรายชื่อของบุคคลซึ่งกองทัพพม่าต้องการตัว 

ในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องไม่เนรเทศบุคคลในกรณีที่จะเกิดอันตรายอันไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้  

กว่าสองปีหลังการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า ได้เกิดการพลัดถิ่นฐานของประชาชนกว่า 1.4 ล้านคนในพม่า คาดการณ์ว่าประชาชน 52,000 คนได้หลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน ตามข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พลเมืองพม่าที่หลบหนีจากความรุนแรงและการประหัตประหารในพม่า ได้พยายามขอที่ลี้ภัยตามพรมแดนของประเทศไทย เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นต่อไปหลังการทำรัฐประหาร คาดว่าประชาชน 22,400 คนได้หลบหนีข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่การทำรัฐประหาร 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net