Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ ออกรายงานสถานการณ์การใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลกในปี 65 พบเพิ่มมากกว่าปี 64 ถึง 53% มีจำนวนคนที่ถูกลงโทษประหารชีวิต 883 คน ซาอุฯ ประหารวันเดียวถึง 81 คน 

  • เป็นปีที่มีการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลสูงสุดทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2560 และมากกว่าปี 2564 ถึง 53%
  • เพียงวันเดียวมีการประหารชีวิตบุคคลถึง 81 คนในซาอุดีอาระเบีย
  • มีข้อมูลว่า 20 ประเทศได้ทำการประหารชีวิต
  • แต่ยังมี 6 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณีหรือบางกรณีในปี 2565

เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.2566) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานถึงแถลงของสำนักงานใหญ่เรื่อง “รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2565” พบว่า เป็นปีที่มีการประหารชีวิตสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่มีการประหารชีวิตบุคคลมากที่สุด

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่าจากการบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตในปี 2565 พบว่า มีจำนวนสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยมีข้อมูลการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 883 คนใน 20 ประเทศ เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปี 2564 จำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มสูงมากเช่นนี้ ยังไม่รวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้ง ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีนโดยการประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มจาก 520 ครั้งในปี 2564 เป็น 825 ครั้งในปี 2565

จนถึงสิ้นปี 2565 มี 112 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี มี 9 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น มี 23 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ รวมมี 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว ส่วนประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิตไว้มี 55 ประเทศ

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาวและบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ คือยังคงโทษประหารชีวิตอยู่ตามกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไป แต่ได้มีการระงับการประหารชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น ส่วนประเทศไทย เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่มีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการสากลของแอมเนสตี้ เผยว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเร่งประหารชีวิตบุคคลในปี 2565 ซึ่งเผยให้เห็นความเพิกเฉยอย่างเลือดเย็นต่อชีวิตมนุษย์ จำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดทั่วทั้งภูมิภาค ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตบุคคลมากถึง 81 คนภายในวันเดียว เมื่อเร็วๆ นี้ อิหร่านได้ประหารชีวิตประชาชนเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง ซึ่งเป็นความพยายามของทางการที่จะยุติการลุกฮือของประชาชน

เป็นที่น่าเศร้าใจว่า การประหารชีวิตทั่วโลกโลก 90% นอกประเทศจีน เกิดขึ้นเฉพาะในสามประเทศในภูมิภาคนี้เท่านั้น การประหารชีวิตในอิหร่านเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก จาก 314 ครั้งในปี 2564 เป็น 576 ครั้งในปี 2565 ในซาอุดีอาระเบีย ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าจาก 65 ครั้งในปี 2564 เป็น 196 ครั้งในปี 2565 นับเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่แอมเนสตี้บันทึกได้ในรอบ 30 ปี ในขณะที่อียิปต์ประหารชีวิตบุคคล 24 คน

การใช้โทษประหารชีวิตยังเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บเป็นความลับในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศจีน เกาหลีเหนือ และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวาง ดังนั้นตัวเลขระดับโลกที่แท้จริงมีจำนวนที่สูงกว่านี้มาก ในขณะที่เราไม่ทราบจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตที่แท้จริงในประเทศจีน แต่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตบุคคลมากสุด มากกว่าอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐฯ

5 ประเทศรื้อฟื้นการประหารชีวิต

แอมเนสตี้ระบุว่ามี 5 ประเทศที่รื้อฟื้นการประหารชีวิตกลับมาในปี 2565 ได้แก่ อัฟกานิสถานคูเวต เมียนมา ปาเลสไตน์ (รัฐ) และสิงคโปร์ ทั้งยังมีข้อมูลการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นในอิหร่าน (จาก 314 ครั้งเป็น 576 ครั้ง) ซาอุดีอาระเบีย (จาก 65 ครั้งเป็น 196 ครั้ง) และสหรัฐฯ (จาก 11 ครั้งเป็น 18 ครั้ง)

การประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 การประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งระบุว่า การประหารชีวิตอาจกระทำได้ในความผิดที่เป็น “อาชญากรรมที่ร้ายแรง” เท่านั้น รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มีข้อมูลการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในจีน ซาอุดีอาระเบีย (57 ครั้ง) อิหร่าน (255 ครั้ง) และสิงคโปร์ (11 ครั้ง) โดยคิดเป็นสัดส่วน 37% ของจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดที่บันทึกข้อมูลได้ และยังมีการประหารชีวิตในความผิดด้านยาเสพติดที่เกิดขึ้นในเวียดนาม แต่ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นความลับทางราชการ

"นับเป็นความพลิกผันที่โหดร้าย เกือบ 40% ของการประหารชีวิตเกิดขึ้นในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักโทษเหล่านี้มักมาจากผู้ด้อยโอกาส และมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลงโทษที่โหดร้าย”

“ถึงเวลาที่รัฐบาลประเทศต่างๆ และองค์การสหประชาชาติ ต้องเพิ่มแรงกดดันให้กับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นนี้ และประกันให้มีมาตรการคุ้มครองสิทธิในระดับสากล” แอกเนสกล่าว

แม้ว่าจำนวนการประหารชีวิตจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนการใช้โทษประหารชีวิตยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับของเดิม โดยลดลงอย่างน้อยจาก 2,052 ครั้งในปี 2564 เป็น 2,016 ครั้งในปี 2565

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

อย่างไรก็ตามในแถลงของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่าในปีที่ผ่านมามี 6 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณีหรือบางกรณี ได้แก่ คาซัคสถาน ปาปัวนิวกินี เซียร์ราลีโอน และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท ส่วนอิเควทอเรียลกินีและแซมเบีย ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น

ทำให้ในสิ้นปี 2565 มี 112 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท และมี 9 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น

แนวโน้มเชิงบวกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยไลบีเรียและกานาได้ดำเนินการด้านนิติบัญญัติเพื่อมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ในขณะที่ทางการศรีลังกาและมัลดีฟส์ระบุว่า จะไม่กลับไปใช้โทษประหารชีวิตอีก ด้านมาเลเซียการเสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตเชิงบังคับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภา

“ในขณะที่หลายประเทศได้ทำให้โทษประหารชีวิตเป็นเพียงภาพในอดีต ถึงเวลาที่ประเทศอื่นๆ จะต้องปฏิบัติตาม การกระทำที่ทารุณของประเทศต่างๆ รวมทั้งอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย จีน เกาหลีเหนือ และเวียดนาม ถือเป็นประเทศกลุ่มน้อยอย่างชัดเจน ประเทศเหล่านี้ควรปรับตัวอย่างเร่งด่วนให้เข้ากับยุคสมัย ที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และอำนวยให้เกิดความยุติธรรมแทนที่จะประหารชีวิตประชาชน” แอกเนส คาลามาร์ดกล่าว

“รัฐภาคีสหประชาชาติ 125 แห่ง ซึ่งนับเป็นจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ ที่เรียกร้องให้มีข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงโทษที่น่าชิงชังเช่นนี้สามารถและกำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ตัวเลขที่น่าเศร้าในปี 2565 ย้ำเตือนว่า เรายังไม่สามารถพอใจกับผลสำเร็จเท่านี้ และยังคงจะต้องรณรงค์ต่อไป จนกว่าจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก”


 


 

 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net