Skip to main content
sharethis

หลังพายุไซโคลน 'โมคา' พัดถล่มพม่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบหลายด้านกลุ่มองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลพลัดถิ่นพยายามเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติให้ความช่วยเหลือแบบข้ามพรมแดนแก่ประชาชนผู้พลัดถิ่นจากสงครามที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากภัยพิบัติพายุ

 

26 พ.ค. 2566 โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติเปิดเผยว่า พายุไซโคลนโมคาส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนชาวพม่าในระดับที่มีผู้คนอย่างน้อย 800,000 ราย ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารโดยด่วนและความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านอื่นๆ

พายุโมคาทำให้เกิดพายุฝนกระหน่ำด้วยแรงลม 195 กม./ชม. ทั้งในพม่าและบังกลาเทศเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พายุโมคา 145 ราย แต่รายงานจากสื่อมีตัวเลขที่มากกว่านั้น

นอกจากนี้โครงการเวิร์ลด์ฟูดของสหประชาชาติก็ระบุถึงภัยพิบัติจากพายุในครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด "ความพินาศ" ไปทั่วรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นรัฐที่มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่หลายแสนราย โดยที่ชาวโรงฮิงญาเหล่านี้อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นหลังจากที่เผชิญกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติมาเป็นเวลาหลายสิบปี

แอนเทีย เว็บบ์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการเวิร์ลด์ฟูดกล่าวว่าไซโคลนโมคาส่งผลให้บ้านเรือนพังราบ มีต้นไม้โค่นล้มทับถนนหนทาง โรงพยาบาลและโรงเรียนถูกทำลาย ระบบโทรคมนาคมและสายไฟเสียหายอย่างหนัก อีกทั้งยังมีประชาชนอย่างน้อย 800,000 รายที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร, ที่พักพิง, น้ำดื่ม, และความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ อย่างเร่งด่วน

"พายุไซโคลนทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งแย่ไปกว่าเดิมสำหรับประชาชนหลายล้านคนที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดภายใต้สภาพที่ล่อแหลมอย่างมากอยู่แล้ว" เว็บบ์กล่าว

 

"จะไม่มีใครตายถ้าพวกเขาไม่ถูกบีบบังคับให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน"

กลุ่มผู้พลัดถิ่นในรัฐยะไข่ ประเทศพม่าให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมียนมาร์นาว เล่าถึงสภาพที่พายุส่งผลให้บ้านเรือนร้อยละ 90 พังเสียหายในเมืองซิตตวย รัฐยะไข่ มีผู้สูญเสียครอบครัวที่ประกอบด้วยภรรยาที่ตั้งครรภ์ 5 เดือน, ลูกอายุ 4 ขวบ, แม่ และน้องเขยของเขา เขาเล่าว่าไม่เคยเห็นพายุที่ร้ายแรงเช่นนี้มาก่อน คนจำนวนมากเสียชีวิตทั้งจากการจมน้ำ บางส่วนก็ถูกลมพายุพัดจนปลิว

เหตุพายุรุนแรงและน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นภายในประเทศประมาณ 140,000 ราย พวกเขาถูกบีบบังคับให้ต้องหนีออกจากบ้านเพราะปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วภายใต้การนำของมินอ่องหล่าย ชาวโรฮิงญาจำนวนมากจำเป็นต้องลี้ภัยเพราะเผชิญกับสิ่งที่คนจำนวนมากเรียกว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวโรฮิงญาเหล่านี้ก็ถูกบีบให้ต้องอยู่แต่ในค่ายผู้พลัดถิ่นที่ห่างออกไปไม่กี่ กม. จากบ้านตัวเอง และต้องอาศัยเสบียงอาหารในการดำรงชีวิตโดยที่ไม่มีเสรีภาพในการเดินทางหรือการรับรองสถานะพลเมือง นอกจากนี้แล้วการที่พวกเขาจำต้องอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษเมื่อเผชิญกับภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องที่กองทัพพม่าและองค์กรให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอใจการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในการหนีจากพื้นที่ มีแค่การประกาศเตือนภัยด้วยภาษาพม่าซึ่งเป็นภาษาที่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่พูดไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีชาวโรฮิงญามากกว่า 100,000 รายพร้อมที่จะหนีออกจากพื้นที่ แต่กองทัพพม่าก็ไม่มีการจัดหายานพาหนะขนส่งหรือช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้เลย

 

กองกำลังชาติพันธุ์-ฝ่ายประชาธิปไตยพม่าเรียกร้องนานาชาติช่วยเหลือผู้พลัดถิ่น

องค์กรกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาพลัดถิ่นฝ่ายประชาธิปไตยเรียกร้องให้ประชาคมโลกให้ความช่วยเหลือประชาชนที่พลัดถิ่นเพราะสงครามที่ไม่ได้อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า ด้วยวิธีการช่วยเหลือแบบข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องผ่านมือของกลุ่มรัฐบาลทหารพม่า

แหล่งข่าวที่พูดถึงเรื่องนี้เป็นบุคคลผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่ทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐกาเรนนี เขาบอกว่ามีภาคประชาสังคมและ EAOs กำลังทำงานร่วมกันตามชายแดนซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่พลเรือนที่ขาดแคลน แต่ทว่าพวกเขาก็เผชิญปัญหาเนื่องจากมีความช่วยเหลือข้ามพรมแดนน้อยมาก

กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติชีน, สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง, พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี และกระทรวงกิจการด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัยของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ระบุว่าการนำความช่วยเหลือเข้าสู่พม่าสามารถกระทำได้ผ่านทางชายแดนตะวันออกและชายแดนตะวันตกของพม่า หลังจากที่พวกเขาทำการสำรวจเมื่อปี 2565 ทางกลุ่มของพวกเขาต้องการให้องค์กรให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติและประเทศที่บริจาคเงินช่วยเหลือทำการจัดประชุมหารือในเรื่องช่องทางให้ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้

องค์กรภาคประชาสังคมพม่าระบุว่า กองทัพพม่ามีการพยายามอย่างแข็งขันในการสกัดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยชนโดยอาศัยด่านตรวจของพวกเขาเพื่อไม่ให้ความช่วยเหลือตกไปถึงกลุ่มผู้พลัดถิ่นในพม่าได้ นอกจากนี้รัฐบาลทหารพม่ายังทำเหมือนกับว่าพลเรือนเป็นศัตรู รวมถึงยังจงโจมตีกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือต่อพลเรือนด้วย

เช่นในกรณีล่าสุดที่มีการโจมตีรถขนส่งความช่วยเหลือของอาเซียนที่ต้องการมอบความช่วยเหลือให้กับกลุ่มผู้พลัดถิ่นทางตอนใต้ของรัฐฉาน ซึ่ง สภาสหพันธรัฐแห่งชาติปะโอ (PNFC) ได้กล่าวหากลุ่มติดอาวุธที่ทำงานให้กับกองทัพพม่า คือกลุ่ม องค์กรแห่งชาติปะโอ ว่าเป็นผู้ก่อเหตุยิงโจมตีรถที่มีนักการทูตโดยสารมาด้วย เรื่องนี้ส่งผลให้ประเทศสหรัฐฯ, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ทำการประณามเหตุโจมตีดังกล่าวและเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติความรุนแรงทุกรูปแบบรวมถึงอนุญาตให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมส่งไปถึงประชาชนได้

 

เผด็จการพม่าไล่ลาคนที่ถ่ายรูปวัดในพุกามที่ถูกน้ำท่วม

ไม่เพียงแค่ปิดกั้นการช่วยเหลือต่อประชาชนเท่านั้น รัฐบาลพม่ายังพยายามปิดกั้นเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบจากพายุโมคาด้วย เช่น กรณีที่มีคนถ่ายภาพน้ำท่วมวัดและเจดีย์ในพุกามที่ถูกจัดเป็นมรดกโลก ในจำนวนนี้มีวัดอนันดา และเจดีย์ชเวดากอง รวมอยู่ด้วย

เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าในพื้นที่มัณฑะเลย์ประกาศห้ามไม่ให้คนโพสต์รูปน้ำท่วมเจดีย์ลงโซเชียลมีเดีย และสั่งให้ออกตามล่าคนที่ถ่ายภาพและโพสต์ภาพวัดและเจดีย์ถูกน้ำท่วม

มีช่างภาพฟรีแลนซ์รายหนึ่งกล่าวว่า เขากำลังซ่อนตัวเพราะเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่ากำลังออกตามล่าค้นหาตัวเขา เนื่องจากเขาได้ถ่ายรูปเจดีย์ถูกน้ำท่วมในพุกาม รวมถึงโพสต์รูปพร้อมกับเขียนข้อความประกอบในเชิงเสียดสี ทำให้เขาต้องลบโพสต์ตัวเองและหลบซ่อนตัวหลังจากนั้น

มีผู้อาศัยในพื้นที่ระบุว่าพวกเขาถ่ายภาพเจดีย์เป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว แต่ก็ต้องลบภาพและโพสต์ที่ถ่ายเจดีย์ถูกน้ำท่วมทิ้งเพราะกลัวว่ารัฐบาลทหารพม่าจะเล่นงานพวกเขา พวกรัฐบาลทหารพม่าต้องการให้คนโพสต์รูปการทำงานของพวกเขาเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลทหารพม่าได้ใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ตรวจตราทั่วเขตพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้ รวมถึงคอยตรวจค้นโทรศัพท์ของช่างภาพและผู้คนที่อยู่ใกล้วัดเพื่อตรวจหาว่ามีรูปภาพของเจดีย์อยู่หรือไม่

 

 

เรียบเรียงจาก

EAOs, NUG Want Cross-border Aid For IDPs In Burma, Kantarawassy Times, 16-05-2023

https://ktnews.org/eaos-nug-want-cross-border-aid-for-idps-in-burma/

Myanmar Regime Searches for People Who Photographed Flooded Bagan Temples, The Irrawaddy, 16-05-2023

https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-regime-searches-for-people-who-photographed-flooded-bagan-temples.html

‘No one would have died if we were not forced to stay in our homes’ – Rohingya cyclone survivor, Myanmar Now, 17-05-2023

https://myanmar-now.org/en/news/no-one-would-have-died-if-we-were-not-forced-to-stay-in-our-homes-rohingya-cyclone-survivor

Some 800,000 People Affected by Cyclone Mocha in Myanmar: UN, The Irrawadddy, 20-05-2023

https://www.irrawaddy.com/news/burma/some-800000-people-affected-by-cyclone-mocha-in-myanmar-un.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net