Skip to main content
sharethis

สส.ก้าวไกลร่วมวิพากษ์รายงาน กมธ.แลนด์บริดจ์ 'สุรเชษฐ์' ชี้ข้อความในรายงานขัดแย้ง-ย้อนแย้งกันเอง สะท้อนยังศึกษาไม่ละเอียด-ไม่ชัดเจน ด้าน 'พิธา' ยกทางเลือกพัฒนาภาคใต้ที่คุ้มกว่า ใช้ 4.8 แสนล้านยกระดับชลประทาน-การศึกษา-สุขภาพ-พลังงานสะอาด-ราคาสินค้าเกษตรทั้งภาคใต้ได้ 

15 ก.พ. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการประชุมสำคัญเกี่ยวกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการ “แลนด์บริดจ์” ซึ่ง สส.พรรคก้าวไกลได้ร่วมอภิปรายรายงานดังกล่าวในหลายประเด็นด้วยกัน

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายโดยชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งและไม่ชัดเจน 7 ประการในรายงานการศึกษาจำนวน 89 หน้าของคณะกรรมาธิการฯ ได้แก่

1) บทสรุปผู้บริหารในย่อหน้าสุดท้าย ที่สรุปข้อความสําคัญไว้ว่า “หากรัฐบาลสามารถตอบคําถามเหล่านี้ได้ชัดเจน และพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการอย่างรอบคอบแล้ว อาจจะทําให้โครงการแลนด์บริดจ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น”  กล่าวคือ ในรายงานยังระบุเองว่ามีหลายคําถามที่ไม่ได้รับคำตอบชัดเจน ตนจึงไม่แปลกใจว่าทําไมในรายงานถึงเขียนส่วนต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนคือมีกรรมาธิการ 5 รายในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลลาออกไป เพราะการเร่งปิดจบรายงานฉบับนี้ ทั้งที่ยังตอบคำถามต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน

2) บทสรุปผู้บริหาร หน้า ฉ. ข้อ 2 และ 4 มีความย้อนแย้งกันเอง กล่าวคือ ข้อ 2 เขียนไว้ว่า “อาจจะสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทําให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม” แต่ข้อ 4 กลับเขียนไว้ว่า “เพราะสามารถลดเวลาในการเดินทางจากเส้นทางเดิม และประหยัดค่าใช้จ่ายได้” สรุปแล้วแค่ “อาจจะสามารถ” หรือ “ลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริง” นี่คือแก่นกลางความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ต้องตอบให้ชัดว่าลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้เท่าใด เพราะจะส่งผลต่อการประมาณการในหลากหลายมิติ

3) บทสรุปผู้บริหาร หน้า ฉ. ต้นหน้าระบุว่าจะให้สิทธิเอกชน 50 ปี แต่ท้ายหน้ากลับระบุว่ามีระยะเวลาคืนทุน 24 ปี ความไม่ชัดเจนคือเหตุใดจึงมีช่องว่างระหว่าง 24 และ 50 ปีที่ต่างกันมากขนาดนี้ หรือมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าอยากขายดินแดน 50 ปี ทั้งที่ความชัดเจนของโครงการยังไม่มี

“จะยกที่ดินให้กี่ไร่ มีสินค้าเทกองหรือไม่ มีท่อส่งน้ำมันหรือไม่ มีโรงกลั่นหรือไม่ อะไร ๆ ก็ไม่ชัดเจน แต่ตั้งเป้าประเคนให้ 50 ปีไปก่อน แล้วค่อยมาต่อรองกันว่าประเทศไทยจะต้องเอาอะไรไปแลกบ้างอย่างนั้นหรือ” สุรเชษฐ์กล่าว

4) บทสรุปผู้บริหาร หน้า ช. มีการระบุไว้ว่า “จําเป็นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการดําเนินการที่เป็นไปตามกฎหมาย” คำถามก็คือร่าง พ.ร.บ. นี้อยู่ที่ไหนในรายงานฉบับนี้ สภาฯ แห่งนี้มีมติให้คณะกรรมาธิการฯ ไปศึกษา โดยผลการศึกษาระบุว่าก็ให้คนอื่นไปศึกษาต่ออย่างนั้นหรือ หากคณะกรรมาธิการฯ ต้องการเวลาเพิ่ม สภาฯ แห่งนี้ก็เพิ่มให้ได้ แต่เราก็ต้องการความชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ. จะมีเนื้อหาลักษณะใด ต่างจาก พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไร

5) บทสรุปผู้บริหาร หน้า ช. ย่อหน้าที่ 2 ระบุไว้ว่า “ส่วนความคิดเห็นของเอกชนเกี่ยวกับการเดินเรือและการขนส่งสินค้านั้น ยังมีความกังวลกับความชัดเจนของโครงการ” บ่งบอกว่าคณะกรรมาธิการฯ เองก็รู้ว่าเอกชนมีความกังวลกับความชัดเจนของโครงการ แล้วทําไมคณะกรรมาธิการฯ ถึงไม่ทําให้ชัดเจน

ตนเข้าใจดีว่าการศึกษานี้ เนื้อหาสาระหลักสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ไปจ้างที่ปรึกษามาทํา ซึ่งการจ้างที่ปรึกษาก็ยังไม่จบงาน ยังมีความไม่ชัดเจนในหลายประเด็น แล้วเหตุใดคณะกรรมาธิการฯ จึงไม่รอให้เกิดความชัดเจนในโครงการก่อน ทําไมถึงเขียนรายงานแบบไม่ชัดเจนด้วยการคัดลอก-วางผลการศึกษาที่ยังหาความชัดเจนไม่ได้แบบนี้

6) บทสรุปผู้บริหาร หน้า ซ. ย่อหน้าสุดท้าย ระบุว่า “โครงการแลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือหรือตัวนําที่เป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุน” แต่คำถามสำคัญว่าจะลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริงหรือไม่และอย่างไรก็ยังไม่มีความชัดเจน แม้แต่สายการเดินเรือยังบอกมาเองแล้วว่าไม่ได้ลด

7) ในหน้าที่ 79 ข้อเสนอแนะที่ 1 ระบุว่า “สนข. ควรกําหนดรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการดําเนินโครงการแลนด์บริดจ์ให้ชัดเจน” ซึ่งตนก็เห็นตรงกันกับคณะกรรมาธิการฯ ว่าโครงการยังไม่ชัดเจน

สุรเชษฐ์กล่าวสรุปว่า จาก 7 ตัวอย่างที่ตนหยิบยกมาก็น่าเพียงพอแล้ว ที่จะเป็นเหตุผลให้ตนไม่รับร่างรายงานฉบับนี้ อีกทั้งปัจจุบันรายงานฉบับหลักที่ สนข. จ้างที่ปรึกษาก็ยังไม่ทำไม่เสร็จ จึงเป็นความน่ากังวลว่าจะมีการใช้มติสภาฯ ไปฟอกขาวให้กับอภิมหาโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งที่ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน

ในมุมกลับกัน หากรีบปิดจบแล้วผ่านรายงานผลการศึกษาฉบับนี้ ถ้าสุดท้ายผลการศึกษาของ สนข. ออกมาแล้วไม่กระจ่างพอ แล้วฝ่ายค้านขอตั้งคณะกรรมาธิการชุดใหม่เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ เดี๋ยวก็จะมาหาว่าเคยศึกษาไปแล้วอีก ไม่ยอมให้ตั้งอีก

“เอากลับไปเถอะครับ โครงการขนาดใหญ่แบบนี้อย่าใช้จินตนาการอย่างเดียวแล้วเอาเสียงข้างมากลากไปเรื่อย มันไม่สมควร มันต้องฟังเหตุผลกันบ้าง คําถามพื้นฐานของเรื่องแลนด์บริดจ์นี้คือเวลาและค่าใช้จ่ายของสายการเดินเรือ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่จะมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าแลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริงอย่างมีนัยสําคัญ มันก็คือฝันค้าง แล้วหากท่านยังดื้อดึงเดินต่อทั้งที่ยังไม่ชัดเจนในประเด็นสําคัญ ก็อาจค้างเป็นค่าโง่ อาจค้างเป็นภัยต่อความมั่นคงในสงครามภูมิรัฐศาสตร์ และที่แน่ ๆ จะเป็นภัยค้างต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่จะโดนเวนคืน ดังที่เคยเกิดมาแล้วในแนวแลนด์บริดจ์เดิมเส้นกระบี่-ขนอม” สุรเชษฐ์กล่าว

สุรเชษฐ์กล่าวปิดท้ายว่า ในส่วนของการประเมินความคุ้มค่า ทั้ง EIRR และ FIRR ที่ลอกวางมาจากรายงาน สนข. ก็ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือ ซึ่งคงต้องไปพิจารณากันอีกยาวว่ากะเก็งอะไรกันไว้บ้าง น่าเชื่อถือแค่ไหน กําไรจากบริการเติมน้ํามันสูงแบบไร้ความเป็นไปได้หรือไม่ รายได้จากการให้เช่าพื้นที่ 50 ปีสูงเกินจริงหรือไม่ ฯลฯ ทุกอย่างยังมีความไม่ชัดเจนทั้งสิ้น ตนและพรรคก้าวไกลจึงขอไม่รับร่างรายงานฉบับนี้ เอาไว้ให้รัฐบาลมีเนื้อหาที่ชัดเจนเพียงพอก่อน แล้วค่อยมาพิจารณากันอีกครั้งว่าโครงการนี้ “ควรทํา หรือไม่ควรทำ” ไม่ใช่แค่ “อยากได้ หรือไม่อยากได้”

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายว่า ตนพบความไม่ชัดเจนหลายประการในรายงานฉบับนี้ โดยเฉพาะ 3 คำถามสำคัญที่รายงานยังไม่ได้ตอบเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ได้แก่

คำถามข้อที่ 1 ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการลงทุนโครงการ 1 ล้านล้านบาทนี้แล้วใช่หรือไม่ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนภาคใต้ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถึงแม้บางท่านอาจจะบอกว่าโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) แต่เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท ถ้าเอาจิตใจและความคิดของคนภาคใต้มาคิดว่าเขาต้องการอะไร อะไรคือวิสัยทัศน์ของเขา อะไรคือปัญหาของเขา เราจะสามารถดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนแบบ PPP และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนภาคใต้ได้จริง

ตนขอยกตัวอย่างแค่ 4-5 ตัวอย่าง เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาคใต้จะลงทุนเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด และเชื่อมต่อกับมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ ในอนาคตหากมาเลเซียและสิงคโปร์ต้องการจะลงทุนในระบบคลาวด์เซ็นเตอร์ ต้องการจะลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่ต้องใช้พลังงานสะอาด ภาคใต้ของเราก็มีให้ หรือจะคิดวางแผนเรื่องชลประทานให้กับพี่น้องภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรกว่า 24 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานแค่ 3 ล้านไร่เท่านั้น หรือจะเป็นเรื่องการศึกษา และเรื่องสุขภาพ

“เหตุใดเวลาเราคุยเรื่องโครงการขนาดใหญ่ ต้องมีแต่เรื่องการก่อสร้างถนนหนทาง ท่าเรือ รถไฟ ทำไมไม่คิดถึงการทำให้พี่น้องภาคใต้ได้รับการศึกษาที่ดี มีสุขภาพที่ดี ทำไมไม่คิดถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร ยาง ปาล์ม ผลไม้บ้าง” พิธากล่าว

พิธากล่าวต่อไปว่า 4-5 ตัวอย่างทางเลือกการพัฒนาที่ตนยกไปข้างต้น ใช้งบประมาณรวม 4.8 แสนล้านบาท หรือแค่ครึ่งหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี หรือยะลาด้วยก็ยังได้ แล้วยังสามารถทำโครงการแบบ PPP ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ต่างชาติมองเห็นว่าสิ่งที่เขาจะได้ประโยชน์จากการลงทุนให้กับประชาชนในภาคใต้คืออะไรบ้าง ผ่านการลดความเหลื่อมล้ำและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

“ผมคิดว่าตรงนี้เราแสดงให้พี่น้องประชาชนเห็นได้ว่า ออปชั่นในการพัฒนาภาคใต้มีอะไรบ้าง และกลไกเงื่อนไขอะไรที่ทำให้รัฐบาลเลือกลงทุนแลนด์บริดจ์ที่ใช้งบประมาณมากขนาดนี้ ใช้เวลามากขนาดนี้ อันนี้คือคำถามสำคัญข้อที่หนึ่งที่เราต้องตอบให้ได้ ว่านี่คือการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดของภาคใต้ และไม่มีทางอื่นให้เราเลือกแล้วจริงหรือ” พิธากล่าว

คำถามข้อที่ 2 การจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น จะดำเนินการอย่างไร นี่คือการวิเคราะห์ต้นทุนและผลพลอยได้ (cost-benefit analysis) ที่ควรจะรวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ เพราะเมื่อมีสิ่งได้ก็ต้องมีสิ่งที่จะเสียไปเช่นกัน เช่น พื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในพื้นที่มรดกโลก 6 แห่ง จะเกิดความเสียหายต่อพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่เต็มไปด้วยศักยภาพทั้งทางทะเลและทางบกหรือไม่ การเวนคืนที่ดินที่เป็นสวนทุเรียนและสวนผลไม้ที่มีมูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง น้ำมันรั่วที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดระยองในพื้นที่ EEC หรือการสูญเสียพื้นที่ประมง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือต้นทุนที่เราต้องจ่าย ถ้าเอามารวมกันตรงนี้จะคิดเป็นมูลค่าเท่าใดที่เมื่อเสียไปแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้อีก เราจะให้เอกชนเป็นคนดูแลเรื่องสัมปทาน แต่ก็ต้องตั้งคำถามสำคัญว่า จะมีกลไกอะไรรับประกันความเป็นอยู่และความเป็นธรรมของชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป

และคำถามข้อที่ 3 วิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาลคืออะไร จะเน้นการพัฒนาศูนย์กลางท่าเรือ หรือจะเน้นการท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามในฐานะไข่มุกอันดามัน พื้นที่การก่อสร้างแลนด์บริดจ์มีมูลค่าการท่องเที่ยวต่อปีสูงถึง 7 แสนล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งหมด หากประเมินว่ามีโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเกิดความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวไปแค่ 10% คูณด้วย 50 ปี นั่นคือมูลค่าและโอกาสที่เราต้องเสียไปกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องวางสมดุลและแสดงวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน เลือกเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนในอีก 50 ปีข้างหน้า 

พิธากล่าวทิ้งท้ายว่า หากเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองด้วยมุมของเอกชน พวกเขาย่อมต้องการคำตอบแบบสามัญสำนึกที่สุด ว่าหากมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์แล้วจะ “เร็วกว่า” “สะดวกกว่า” และ “ถูกกว่า” หรือไม่ แต่จากรายงานของคณะกรรมาธิการฯ บอกแค่เพียงว่า “อาจจะลดเวลา” เมื่อไม่มีรายละเอียดเช่นนี้ ก็ไม่สามารถที่จะอนุมานได้ว่าเส้นทางจากแลนด์บริดจ์จะเร็วกว่าและสะดวกกว่าจริงหรือไม่ ถ้าจะต้องมีเรือมารอทั้งสองฝั่ง ย้ายสินค้าจากเรือเป็นราง เป็นรถ แล้วกลับไปเป็นเรืออีกทีหนึ่ง เรือก็ต้องมาจอดรอทั้งสองฝั่ง ถ้าสินค้าเสียหายใครจะรับผิดชอบ

เป็นเรื่องที่ชัดเจนมากว่าสมมติฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามจากทางภาคเอกชนมากมาย ในรายงานตั้งแต่หน้า 52-57 รวมทั้งหมด 25 ข้อที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะฉะนั้น ถ้าทั้งคณะกรรมาธิการฯ และรัฐบาลไม่สามารถตอบ 3 คำถามสำคัญของตน รวมถึงคำถามต่าง ๆ ที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ได้ ตนก็ไม่สามารถที่จะรับรายงานฉบับนี้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net