Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ฯ จัดวงถก 'การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม' Journalism is not a Crime ห่วงเหตุการณ์นักข่าวถูกจับ ทำสิทธิเสรีภาพสื่อเสื่อมถอย ขอรัฐหยุดดำเนินคดีกับสื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก เชื่อทุกฝ่ายไม่มีใครอยากใช้ความรุนแรง
 

19 ก.พ.2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ฯ จัดเสวนาในหัวข้อ การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม (Journalism is Not a Crime) ณ ห้องประชุมบ้าน(Barn) ชั้น 1 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่มีนักข่าวและช่างภาพอิสระถูกจับในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ หลังไปทำข่าวกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2566  โดยมี เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท , ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ พรรษาสิริ กุหลาบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา

เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความน่ากังวลและความน่ากลัวต่อการทำงานข่าวในหลายประเด็น ดังนี้ 1.เรื่องการเป็นผู้สนับสนุน ในกรณีที่ไปทำข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แล้วถูกรัฐบาลมองว่ามีความผิด จึงตั้งคำถามว่าหากในอนาคตสื่อที่ออกไปทำข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงจะมีความผิดด้วยหรือไม่ เช่น ผิด พ.ร.บ.การชุมนุมฯ 2.กรณีที่ คุณณัฐพล เมฆโสภณ นักข่าวประชาไท ถูกออกหมายจับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 66 แต่เจ้าหน้าที่กลับเพิ่งมาจับกุมตัวเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 67 จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ถึงปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 9 เดือน อีกทั้งยังเป็นการออกหมายจับ โดยไม่มีการออกหมายเรียกให้ทราบก่อน

นอกจากนี้ ‘เทวฤทธิ์’ ยังมองว่าที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุการณ์ที่นักข่าวมีคดีความ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมือง สำนักข่าวต้นสังกัดมักจะไม่ออกมาปกป้องคนของตัวเอง ซ้ำยังตัดช่องน้อยแต่พอตัวด้วยการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือให้ออกจากการทำงาน เขามองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องน่ากังวลต่อเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งคนภาคสนามเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง ความไม่มั่นคงต่อการทำงานอยู่แล้ว ดังนั้นคุณต้องสร้างอำนาจการต่อรอง ให้บทบาทสื่อมวลชนแข็งแกร่งมากขึ้นหากการตั้งสหภาพแรงงานมีความเข้มแข็งจริงๆ  ไม่ใช่การตั้งสหภาพหรือองค์กรวิชาชีพที่เป็นสถาบันคอยตั้งรับปัญหาต่างๆ เพียงอย่างเดียว เพราะเขาเชื่อว่าหากสหภาพไม่มีความเข้มแข็งจะไม่นำไปสู่เสรีภาพของสื่อมวลชนได้อย่างแท้จริง

“สำหรับคนทำงาน ผมเชื่อว่าเสรีภาพมาพร้อมอำนาจของการต่อรอง คุณหมัดเล็กคุณก็โดนข่มตลอดครับ เราไม่ได้ไปสวนเขาหรอกครับ แต่เราต้องมีหมัดเพียงพอที่จะขู่เขาได้ว่าอย่ามาทุบเรานะ เสรีภาพมันมาพร้อมกับการต่อสู้ทั้งหมดครับ ถ้าเรารวมตัวกันโดยเฉพาะคนทำงานภาคสนามต่างๆ ท่านสามารถรวมตัวเป็นสหภาพต่อรองได้ทั้งเรื่องสวัสดิการ สวัสดิภาพ และเสรีภาพในการทำงาน มันจะช่วยการันตีเสรีภาพของคนทำงานมากขึ้น ไม่ใช่หวังแต่นายทุนหรือเจ้าของกิจการสื่อ ที่อยู่ดีคืนดีเขาก็ปลดคุณได้” เทวฤทธิ์ กล่าว

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงความกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเหมือนการปิดปากสื่อ ที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการนำเสนอข่าวที่มืดลงตามไปด้วย อีกทั้งตอนนี้เรายังอยู่ในสภาวะการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจกัน ทั้งการเมืองสุดที่แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ก็ยังพบว่ายังมีปัญหาในหลายๆ ประเด็น รวมทั้งเรื่องเสรีภาพสื่อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการที่คนบางกลุ่มมีความแคลงใจต่อจุดยืนของแอมเนสตี้ จึงอยากขอย้ำจุดยืนของแอมเนสตี้อีกครั้งว่าการนำเสนอข่าวคือเสรีภาพที่สังคมและโลกใบนี้ควรให้ความสำคัญ ไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดีหากการทำข่าวนั้นมีเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“เราอยู่เคียงข้างเสรีภาพการเเสดงออก เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และเราอยู่เคียงข้างเสรีภาพของสื่อ สื่อคือแสงสว่างที่ส่องเห็นความมืดทุกมุม เเละเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม เราหวังว่ารัฐบาลจะแสดงความเป็นผู้นำและไม่มองว่าสื่อคือคู่ตรงข้ามหรือจับกุมเขา เพียงเพราะเขาทำหน้าที่ของเขาอยู่ อันนี้มันสร้างความหวาดกลัว วันนี้มันเกิดขึ้นกับประชาไท ถ้าเราปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป วันหนึ่งอาจเป็นคุณ แล้วสื่ออื่นๆ จะทำอย่างไร” ปิยนุช กล่าว

ปิยนุช โคตรสาร

ปิยนุช ยังอ้างอิงผลการสำรวจข้อมูลของ คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสื่อ Committee to Protect Journalists (CPJ) ปี 2566 ที่พบว่าทวีปเอชียเป็นภูมิภาคที่มีนักข่าวถูกดำเนินคดีและถูกจำคุกมากที่สุดในโลก และแม้ตอนนี้จะยังไม่มีชื่อประเทศไทยติดอันดับ แต่เชื่อว่าเหตุการณ์ที่ผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระถูกจับกุม วันที่ 12 ก.พ. 67 ที่ผ่านมาจะทำให้สถานการณ์สื่อในประเทศไทยตกต่ำลง จึงอยากย้ำว่า “ การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม  (Journalism is not a Crime) ”

พรรษาสิริ แนะนำว่ารัฐต้องย้อนกลับมาตั้งหลักใหม่ว่า การดำเนินคดีกับสื่อมวลชนต้องไม่เกิดขึ้นอีก แต่ประเด็นสำคัญคือเราต้องกดดันให้รัฐบาลสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันได้อย่างอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรง เพราะเชื่อว่าหากมีทางเลือกอื่นที่พูดคุยกันได้ คงไม่มีใครอยากใช้ความรุนแรง

พรรษาสิริ กุหลาบ

สำหรับ ‘นิยามของความเป็นสื่อมวลชน’ ทั้ง พรรษาสิริ และ เทวฤทธิ์ เห็นตรงกันว่า ปัจจุบันความเป็นสื่อมวลชน ขยายตัวไปพร้อมพร้อมกับการเติบโตของเทคโนโลยี ดังนั้นสื่อกระแสหลักหรือสถาบันสื่อควรโอบรับความเปลี่ยนแปลงนี้  พรรษาสิริ ย้ำว่าแม้สถาบันสื่อจะบอกว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน แต่ต้องย้อนกลับไปดูว่า ทำไมเสรีภาพสื่อถึงเป็นเสรีภาพประชาชน นั่นเพราะเสรีภาพประชาชนคือเสรีภาพของสื่อ ถ้าประชาชนไม่มีเสรีภาพ ไม่มีสิทธิ อย่าได้หวังว่าสื่อมวลชนหรือใครก็ตามจะมีเสรีภาพนั้นๆ ได้

โดยช่วงท้ายของการเสวนา ปิยนุชให้กำลังใจให้สื่อทุกคนในการทำหน้าที่ของตัวเองว่า “ขอชื่นชมว่าทุกคนกล้าหาญมาก ที่ต้องมาแบกรับกับความหวาดกลัว แต่เราเชื่อมั่นว่าถ้าทุกคนช่วยกันแสดงเจตนารมณ์นี้และช่วยกันส่งเสียงว่าไม่ยอมแพ้  มันจะยังคงมีความหวังอยู่ เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของคนทุกคน สิทธิเสรีภาพการแสดงออกเป็นเรื่องของทุกคน รวมถึงเรื่องของเสรีภาพสื่อด้วย สักวันหนึ่งเชื่อว่าจะเกิดความยุติธรรมต่อทุกคนและทุกสิทธิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net