Skip to main content
sharethis

แม่ค้าบะหมี่หมูกรอบ อายุ 53 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ 14(3) ที่ สน.ยานนาวา กรณีปราศรัย 'ขบวนเสด็จ' หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อปี 2565 แม้เจ้าตัวไม่เอ่ยชื่อกษัตริย์

 

20 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (20 ก.พ.) เมื่อเวลาประมาณ 13.12 น. ที่ สน.ยานนาวา 'จวง' กิตติยา (สงวนนามสกุล) อายุ 53 ปี ประกอบอาชีพขายบะหมี่หมูกรอบ จากจังหวัดศรีสะเกษ รายงานตัวต่อ พ.ต.ท.ฐิติวัชร์ พรศิวัฒน์ รองผู้กำกับการ (หัวหน้างานสอบสวน) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดีนี้ หลังเธอได้รับหมายเรียกรายงานตัว ข้อหา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) เพิ่มเติม จากการปราศรัย 'ขบวนเสด็จ' และการจัดสรรงบฯ 'ขบวนเสด็จ' เมื่อ 19 ก.ค. 2565 หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

สำหรับคดีนี้ มีระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

'จวง' กิตติยา (สงวนนามสกุล)

ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า วันนี้มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเป็นกรณีเกี่ยวเนื่องจากการปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ กรณีปราศรัยขบวนเสด็จ เมื่อ 19 ก.ค. 2565 ก็คือตอนแรกมีแค่เรื่องใช้เครื่องเสียง แต่ตำรวจเอาเรื่องเข้าที่ประชุมแล้ว มองว่าเข้าข่ายมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) เขาเลยเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ย้อนไปเมื่อ 21 เม.ย. 2566 'จวง' เคยได้รับหมายเรียกจาก สน.ยานนาวา ข้อหา 'ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต' ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง จากหมายเรียกพบว่า ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิก ศปปส. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อมา เมื่อ 2 พ.ค. 2566 จวง จึงมารับทราบข้อกล่าวหา และถูกเจ้าหน้าที่ปรับเป็นเงิน 200 บาท  

อย่างไรก็ตาม จวง ระบุว่า เธอได้รับหมายเรียกออกเมื่อ 5 ก.พ. 2567 ให้มารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) ที่ สน.ยานนาวา เพิ่มเติมจากกรณีเดียวกันในวันที่ 15 ก.พ. 2567 อย่างไรก็ตาม เธอได้รับหมายเรียกที่บ้านพักในวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา

จวง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เธอจึงเรียกร้องให้ สน.ยานนาวา ออกหมายใหม่ครั้งที่ 2 เนื่องจากเธอกังวลจะถูกมองว่ามีพฤติการณ์หลบหนี แต่ทางเจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะออกหมายเรียกใหม่ และจวง ได้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาวันนี้ (20 ก.พ.)

แจ้งข้อหา มาตรา 112 เพิ่ม หลังปราศรัยผ่านมา 2 ปี ไม่มีการเอ่ยพระนามกษัตริย์

เวลาประมาณ 13.30 น. จวง และเงินตา คำแสน หรือมานี ในฐานะผู้ไว้วางใจ เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในคดีนี้ พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ในคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมปราศรัยเพื่อกดดันให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 พบว่าการปราศรัยดังกล่าวมี 'จวง' ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงและแพร่ภาพสดผ่าน YouTube (ยูทูบ) โดยคำปราศรัยนั้นมีประเด็นเกี่ยวข้องกับปัญหาของขบวนเสด็จ และการจัดสรรงบประมาณในการเสด็จ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งกล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นที่ไม่เป็นธรรม โดยที่คำปราศรัยดังกล่าวมิได้เอ่ยพระนามถึงกษัตริย์หรือบุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 มีเพียงกล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณ

ต่อมา คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน แต่แล้วเห็นว่ายังไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดในข้อหาตามมาตรา 112 จึงได้หาพยานหลักฐานเพิ่มเติม 

หลังจากนั้น จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ได้พบพยานหลักฐานในคดีนี้ที่สนับสนุนการกระทำผิดในข้อหาตามมาตรา 112 โดยพบว่าสาเหตุของการปราศรัยส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่ 'ใบปอ' (ณัฐนิช) และ 'บุ้ง' (เนติพร) ถูกถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 จากเหตุทำโพล 'ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่' ซึ่งในวันเกิดเหตุ 'จวง' ปราศรัยเนื้อหาเกี่ยวกับขบวนเสด็จ และปราศรัยอ้างถึงนักกิจกรรมทั้ง 2 คน โดยมีการหยิบยกนำเอาบริบทของคำว่า 'ขบวนเสด็จ' ของทั้งสองคนมาขยายความเพื่อสนับสนุนการปราศรัยเพื่อโจมตีสถาบันฯ ในประเด็นการจัดสรรและการใช้งบประมาณในการเสด็จ

จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน "คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานสนับสนุนการกระทำความผิด และเพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดฐาน มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) 

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหา และการสอบสวน 'จวง' ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงครึ่งจึงเสร็จสิ้น โดยจวง ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะส่งหนังสือคำให้การภายใน 15 วัน หรือภายใน 6 มี.ค. 2567 จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงให้ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติ ก่อนให้เดินทางกลับไป ส่วนการส่งตัวให้กับอัยการจะมีการนัดหมายในภายหลัง

ทั้งนี้ ในการแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้ ตำรวจไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการเผยแพร่การถ่ายทอดสดการปราศรัยดังกล่าวผ่านระบบคอมพิวเตอร์ฯ นั้นปรากฏผ่านยูทูบในช่องใด 

แม่ค้าบะหมี่ เปิดเผยว่า เธอไม่รู้สึกกังวลเรื่องการดำเนินคดี มาตรา 112 ครั้งนี้ และไม่ได้เป็นเหตุผลให้เธอหยุดสู้เพื่อความเป็นธรรมของประเทศ

"มาตรา 112 ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้เราหยุดสู้ หรือท้อแท้ เราเห็นประเทศพังพินาศขนาดนี้แล้ว มันก็ต้องเดินหน้าต่อ ขอบคุณแฟนคลับทุกท่าน ที่ให้กำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นในการต่อสู้มาโดยตลอด" จวง กล่าว 

แม่ค้าบะหมี่ ระบุต่อว่า ผลกระทบอาจจะต้องปิดร้าน ถ้าเราโดนคดี เพราะไม่มีคนทำต่อ ลูกน้องก็ต้องตกงาน รายได้ในบ้านจะหยุดไปเลย 

แม่ค้าขายบะหมี่ มองว่า เธอเห็นว่าการนิรโทษกรรมคดีการเมืองควรรวมมาตรา 112 ไปด้วย เนื่องจากประชาชนและคนที่ได้รับผลกระทบ มันต่อเนื่องกันยาวนาน และอยู่อย่างลำบาก รวมถึงคนที่หนีออกไปต่างประเทศเขาก็ลำบาก ก็อยากให้เขากลับบ้าน ทุกคนเดือดร้อน สมาชิกครอบครัวเขาก็เป็นห่วง เลยอยากให้ผู้มีอำนาจนิรโทษกรรมให้ นักโทษคดีทางการเมืองทุกคน

จวง มองว่า เนื่องจากคดีนี้มีประชาชนเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ทำให้เธอมองว่ามาตรา 112 เปิดโอกาสให้ใครแจ้งก็ได้ ทั้งที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายควรจะเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยตัวเอง คนที่แจ้งเราไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ทำให้เรามองได้หลายมุมว่า เป็นการกลั่นแกล้ง รับจ้าง หรือมีข้อแลกเปลี่ยนกับคนที่มาแจ้งเรา นี่แหละปัญหา

ทั้งนี้ บรรยากาศการรายงานตัวของกิตติยาวันนี้ มีประชาชนมาปักหลักหน้า สน.ยานนาวา ตั้งแต่ก่อนเวลา 12.45 น. และมีการขึ้นป้ายรณรงค์ เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง และนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมืองประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อ 15.19 น. ตำรวจ สน.ยานนาวา ได้มาขอให้ประชาชน ปลดป้ายรณรงค์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net