Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม : ศักดิ์ศรีของสื่อแท้ ศักดิ์ศรีของประชาชน


สุภิญญา กลางณรงค์ / 19 ตุลาคม 2549


……………………………………………………………………………………………………………..


 


 


นับเป็นวีรกรรมที่น่าชื่นชมยิ่งสำหรับกลุ่มนักข่าวการเมืองที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงประธาน/นายก 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่เกิดขึ้นมาจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดยตัวแทนเหล่าทัพในนามของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะความขัดกันในการทำหน้าที่ระหว่างสื่อมวลชนที่ควรเป็นหมาเฝ้าบ้าน กับ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสภาฯ โดยมีใจความในจดหมายเปิดผนึกว่า


 


"ขอให้ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อทบทวนบทบาทในการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ตามประกาศรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ นำมาสู่ความสับสนในผู้ประกอบวิชาชีพสื่อบางส่วนซึ่งเข้าใจว่าตนต้องมีหน้าที่ต้อง "เฝ้าระวัง" อำนาจรัฐที่อาจล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ การพาตัวเองโดยอ้างความเป็นตัวแทนวิชาชีพไปสู่พื้นที่ทางการเมือง จะสามารถสร้างความเชื่อถือต่อวิชาชีพอย่างไร และสาธารณชนจะมั่นใจได้อย่างไรในการทำหน้าที่ตรวจสอบ จึงขอเรียกร้องให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ เพื่อรักษาจุดยืนให้การตรวจสอบอำนาจรัฐในสภาวการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติหรือหากปรารถนาจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ทั้ง 3 ลาออกจากตำแหน่งผู้นำองค์กรวิชาชีพและลาออกจากตำแหน่งในกองบรรณาธิการที่สามารถกำหนดทิศทางหรือควบคุมเนื้อหาข่าวทันที"


 


ดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวของนักข่าวในสนามอาจจะโดดเดี่ยวและบางส่วนเจอแรงกดดันหลายประการโดยเฉพาะจากหัวหน้าในองค์กรของตัวเอง ย่อมส่งผลให้นักข่าวสายการเมืองลำบากใจในการทำข่าวสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป อีกทั้งการออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ ย่อมทำให้เป็นที่เพ่งเล็งของผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรที่สนับสนุนรัฐปัจจุบันได้


 


ดูจากรายชื่อ 50 มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่คือความกล้าหาญในการแสดงจุดยืนของตนเอง การที่มีคนออกมาพูดว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นเป็นเพียงกลุ่มนักข่าวเด็กๆ ที่มีอายุการทำงานน้อย คงเป็นเพราะถูกหว่านล้อมชักจูงจากคนอื่นๆ การกล่าวเช่นนี้นับเป็นการบั่นทอนกำลังใจนักข่าวที่มีจุดยืนอย่างยิ่ง


 


กฏ กติกา มารยาทของสภาการหนังสือพิมพ์ นั้นกล่าวว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ไม่ควรเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสายงานข่าวที่ตนรับผิดชอบ" ถือว่ามีชัดเจนในตัวเองอย่างยิ่งแล้ว ถึงจะมีข้อแม้และคำอธิบายเป็นอื่นก็ตาม แต่ในหลักทางวิชาการ หลักทางวิชาชีพและหลักทางสากลแล้ว เรารู้กันอยู่แก่ใจดีว่า เป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อจรรยาบรรณชัดเจน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความดีหรือไม่ของตัวบุคคลที่เข้าไป แต่อยู่ที่การข้ามเส้นแบ่งขององค์กรวิชาชีพซึ่งเป็นตัวแทนของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ในเมืองไทย และวางเดิมพันแห่งศักดิ์ศรีขององค์กรวิชาชีพสื่อ กับตำแหน่งทางการเมือง


 


แม้วันนี้เสียงทักท้วงจะไม่มีความหมายนัก แต่ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้นักข่าวสายการเมืองทั้ง 50 คน (หรืออาจมากกว่านั้น) ที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วยความเชื่อมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตนเองและกล้าหาญเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของสถาบันสื่อมวลชน ในภาวะที่สื่อและสังคมส่วนใหญ่สรรเสริญไปกับการเปลี่ยนขั้วอำนาจ อีกทั้งตัวแทนสื่อจำนวนหนึ่งตัดสินใจเลือกข้างอำนาจรัฐอย่างไม่รีรอ แต่น่าดีใจที่ยังมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งไม่ลืมและตระหนักถึงจุดยืนของตนเอง เพราะบทบาทสื่อสารมวลชนที่มีต่อสังคมนั้น ถึงแม้เหตุการณ์บ้านเมือง ดูราบรื่น สวยสดงดงามสักเพียงใด แต่ในฐานะ "หมาเฝ้าบ้าน" สื่อมวลชนต้องคอยระวังระไว ตื่นตัวแทนสังคม และ ดำรงตนให้มีระยะห่างจากฝ่ายการเมืองและอำนาจรัฐอยู่เสมอ


 


กล่าวได้ว่า ใครเข้าคุมอำนาจการเมืองก็ตาม สถาบันสื่อมวลชนควรธำรงบทบาทตรวจสอบเป็นหลักหรือจักต้องเป็นฝ่ายค้านตลอดกาล (Permanent opposition) กลุ่มอื่นๆ เขาจะยินดีปรีดาเมื่ออำนาจเปลี่ยนขั้วอย่างไร แต่วิชาชีพสื่อมวลชนดูเหมือนจะถูกสงวนสิทธิจากความลิงโลดนั้น แม้ในฐานะบุคคลเราอาจยอมจำนนอยู่ข้างผู้มีอำนาจรัฐ แต่ด้วยพันธกิจต่อวิชาชีพ คงมีเพียงทางเลือกเดียวคือ สื่อมวลชน ไม่ควรเข้าไปติดกับดักทางการเมือง


 


เพราะต้นทุนทางสังคมของคนทำสื่อที่ผ่านมา คือการสั่งสมอุดมการณ์และจรรยาในวิชาชีพสื่ออย่างเคร่งครัด ถ้าสื่อมวลชนเคยเจ็บปวดจากการถูกครอบงำจนขาดความเป็นอิสระจากรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมาเช่นไร เราต้องยืนกรานไม่ยอมให้สถาบันสื่อต้องเดินเข้าไปสู่การถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ เช่นเดียวกัน


 


การที่สื่อมองตัวเราเองว่าทำดีหรือถูกต้องแล้วหรือไม่ ย่อมไม่สำคัญเท่ากับสายตาของสังคมที่มองเราด้วยความเชื่อมั่นหรือคลางแคลงใจ


 


การไม่วางระยะห่างทางการเมืองให้มากพอ แม้นักวิชาชีพสื่อทุกแขนงยังคงพยายามทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ แต่ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันสื่อสารมวลชนนั้นจะถูกสั่นคลอนลงไป ถึงที่สุดแล้วจะกลายเป็นจุดเปราะบางที่ไปเข้าทางผู้มีอำนาจรัฐ เพราะเมื่อสามารถทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันสื่อได้ก็เท่ากับสามารถลดทอนพลังของฐานันดรที่สี่ (Forth Estate) ให้อ่อนแอลงได้ โดยไม่ต้องลงทุนมากเหมือนการใช้เงินอุดหนุนโฆษณาในสื่อ / ฟ้องร้องสื่อ หรือ การซื้อหุ้นเพื่อฮุบกิจการสื่อ เป็นต้น


 


ถ้าเราคิดว่า รัฐบาลทักษิณนั้นน่ากลัวเพราะมีอำนาจมาก โดยเฉพาะอำนาจที่อ้างความชอบธรรมจาก 16 หรือ 19 ล้านเสียงและการเป็นขวัญใจชาวรากหญ้า ดังนั้นเราต้องไม่ลืมว่าการที่ คปค. สามารถยึดอำนาจมาจากรัฐบาลทักษิณได้เพียงชั่วข้ามคืนสะท้อนให้เห็นว่าถึงที่สุดแล้ว คปค. ย่อมมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลทักษิณ ส่วนหนึ่งเพราะอำนาจปืนและรถถัง อีกส่วนหนึ่งเป็นอำนาจที่อ้างจากฉันทานุมติของประชาชน เมื่ออำนาจที่ว่ามากล้นเหลือแล้วในรัฐบาลทักษิณ ยังถูกยึดมาได้ด้วยอำนาจที่มากยิ่งกว่าของผู้กุมทิศทางการเมืองปัจจุบัน ดังนั้น สังคมยิ่งต้องการพื้นที่ในการถ่วงดุลอำนาจนอกสภาอย่างหนักแน่นเข้มแข็ง จึงสมควรที่สถาบันสื่อมวลชนต้องยืนยันความเป็นอิสระ เป็นหลักในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้กับสังคม ในสภาพการเมืองที่แทบไม่มีพื้นที่ให้กับฝ่ายค้านในปัจจุบัน


 


การนำพาสังคมสู่ความสมานฉันท์ โดยการจงใจละเลยการพูดความจริงรอบด้าน


หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ หรือ กีดกันความขัดแย้งและเสรีภาพทางความคิด


การลดมาตรฐานเรื่องความเป็นอิสระของสถาบันสื่อสารมวลชน


และการไม่รักษาระยะห่างกับอำนาจทางการเมือง


ย่อมนำไปสู่อุปสรรคในการฟื้นฟูประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมไทย


ปัญหาเช่นนี้เป็นมาเสมอ และดูเหมือนว่าจะเป็นอยู่ต่อไป


 


ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ถ้าเราเปรียบ หมาเฝ้าบ้าน (Watch dog) ว่าได้กลายเป็นเพียงหมาเชื่องๆ ที่ชอบเอาอกเอาใจ (Lap dog) ถึงวันนี้ถ้าหมาเฝ้าบ้านสับสนในบทบาทของตนเองกับการเมืองแล้ว เราจะรักษาความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ (Editorial Independence) ไว้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร


 


การยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ กับการเข้าไปต่อรองทางการเมืองในสภานิติบัญญัติที่เกิดจากการรัฐประหาร อะไรสำคัญกว่ากันนั้น ดูเหมือนว่าองค์กรวิชาชีพได้ตอบคำถามนี้กับสังคมไปแล้ว


 


ทั้งนี้ช่วงก่อนการรัฐประหาร กันยายน 2549 ได้มีปรากฏการณ์ สื่อแท้ สู้กับ สื่อเทียม มีการพูดกันว่าความหมายของสื่อแท้ คือสื่อที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ/ทุน และไม่รับใช้การเมือง แต่สื่อเทียมคือสื่อที่ปนเปื้อนซ่อนเร้น ด้วยวาระทางการเมืองและผลประโยชน์แอบแฝง


 


ดังนั้นเสรีภาพของสื่อ (แท้) ไม่ใช่แค่เสรีภาพในการตอบโต้กับ ระบอบทักษิณ หากคือเสรีภาพในการต่อกรกับอำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจการเมือง ในทุกระดับและทุกสถานการณ์ เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน สังคมถึงต้องปกป้องไม่ยอมให้เสรีภาพของเราถูกครอบงำไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม


 


ถ้าศักดิ์ศรีของสื่อ(แท้)คือความเป็นอิสระ ไม่สมยอมกับอำนาจรัฐ คือกระจกและตะเกียงที่นำทางแห่งเสรีภาพและความเป็นธรรมให้กับสังคม


 


ศักดิ์ศรีของสื่อแท้ ก็คือ ศักดิ์ศรีของประชาชน


 


 


...................................................


หมายเหตุ : พิมพ์ครั้งแรกในไทยโพสต์วันที่ 20 ตุลาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net