Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 พ.ย.2549    คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดแถลงข่าวเรื่อง ข้อเสนอต่อการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีแบบทวีภาคี (เอฟทีเอ) หลังจากเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมาได้มีการยื่นหนังสือข้อเสนอดังกล่าวถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี

 

นายวสันต์ พาณิช กรรมาสิทธิมนุษยชนฯ และประธานคณะอนุกรรมที่ติดตามเรื่องเอฟทีเอ กล่าวว่า นโยบายการทำเอฟทีเอในช่วงรัฐบาลทักษิณถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กระบวนการเจรจาขาดความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม ตลอดจนปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการจำนวนมาก จึงคาดหวังว่ารัฐบาลชั่วคราวจะทบทวนนโยบายและปฏิรูปกระบวนการเจรจาให้เป็นไปโดยเปิดเผย และน่าจะได้วางระบบและกระบวนการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวด้วย โดยคณะกรรมการสิทธิฯ มีข้อเสนอดังนี้

 

1. ควรระงับการเจรจาเอฟทีเอกับทุกประเทศในช่วงรัฐบาลชั่วคราว เพราะมีผลทางกฎหมายในระยะยาว หากจะลงนามควรกระทำหลังจากมีรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง และมีรัฐสภาที่เกิดขึ้นตามกระบวนการประชาธิปไตยภายหลังปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

 

2. ให้มีการเปิดเผยร่างความตกลงหรือเนื้อหาการเจรจาของไทยกับทุกประเทศที่ได้เจรจาไปแล้วจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ศึกษาข้อมูลประกอบการมีส่วนร่วม ไม่ใช่อ้างเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบางภาคส่วน

 

3. ควรจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีที่มีความเป็นอิสระ เพื่อศึกษาทบทวนนโยบายการทำเอฟทีเอ โดยประเมินผลกระทบทั้งบวกและลบให้ครบถ้วนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

 

4. ควรเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะ และจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อการทำเอฟทีเอ ซึ่งรัฐบาลควรจะจัดตั้งเป็นคณะกรรมการพหุภาคีที่มีความเป็นอิสระขึ้นมาดำเนินการ

 

5. รัฐบาลควรเร่งจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อเป็นกรอบกติกาทางกฎหมายในการยึดถือปฏิบัติต่อไป กฎหมายดังกล่าวควรยกร่างโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดขั้นตอนการเจรจา องค์ประกอบของคณะเจรจา การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐสภา และองค์กรอิสระในการเจรจาและลงนาม แผนการปรับโครงสร้างการผลิต และแผนรองรับผลกระทบ

 

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หนึ่งในอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ขณะนี้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นเจรจาจนได้ข้อยุติแล้วเหลือเพียงลงนามร่วมกัน 2 ประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครได้เห็นว่าร่างข้อตกลงเป็นอย่างไร ส่วนเอฟทีเอไทย-สหรัฐนั้น ทางสหรัฐได้ยื่นเนื้อครบทุกบทแล้ว และคณะกรรมการสิทธิได้ขอดูเนื้อหาดังกล่าวแต่คณะเจรจาปฏิเสธ นอกจากนี้ทางคณะกรรมสิทธิ์ฯ ได้เตรียมเผยแพร่ผลการตรวจสอบกระบวนการเจรจาเอฟทีเอ โดยจะเชิญประเทศต่างๆ ในอาเซียนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำเอฟทีเอกับสหรัฐด้วย

 

เมื่อถามถึงกรณีที่ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุว่าจะเดินหน้าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น โดยก่อนนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเปิดให้ประชาชนได้ประชาพิจารณ์ก่อนนั้น นายบัณฑูร กล่าวยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวควรทำในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะข้อตกลงนั้นมีผลผูกพันประเทศในระยะยาว ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื่องความรับผิด หากมีปัญหาทางลบตามมาจะหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ อีกทั้งรัฐบาลนี้ไม่ได้มาโดยระบอบประชาธิปไตย แต่มาเพื่อแก้สถานการณ์เฉพาะกิจ หากดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเอฟทีเอจะมีคำถามใหญ่เรื่องความชอบธรรม

 

"เรื่องเอฟทีเอเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบายแบบหนึ่ง ถ้ารัฐบาลประกาศตัวจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ ผลก็น่าจะแตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ เราก็ได้แต่หวัง ไม่มีหลักประกันใด" บัณฑูรกล่าว

 

เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศที่เสนอนั้น มีข้อเด่นคือ 1. มีคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายภาคประชาชน- เกษตรกร เข้าร่วมด้วย 2. มีหลักประกันในการให้ความรู้แก่ประชาชน ที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้

 

เขาระบุด้วยว่า การลงนามเอฟทีเอภายใต้รัฐบาลชั่วคราวนี้จะมีปัญหามาก หากมีผู้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่ากระบวนการเจรจาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการมีส่วนร่วม หรือแม้แต่กรณีที่ส.ว.ส่งเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา หากผู้ตรวจการเห็นว่าการเจรจาเอฟทีเอมีปัญหาจริงก็จะส่งเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมาก

 

"รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุด้วยว่า จะพิจารณาลงมติกันอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 40 ยังกำหนดไว้" เจริญกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net