Skip to main content
sharethis

1 ธ.ค. 2549 เนื่องในโอกาสที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยแหล่งน้ำและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเอเชีย โดยมีในวันที่ 30 พ.ย. - 1 ธ.ค. นี้ ที่โรงแรมมนเฑียร กรุงเทพมหานครสมัชชาคนจนออกแถลงการณ์บอกเล่าผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและเรียกร้องให้รัฐบาลและนักสร้างเขื่อนหยุดการกระทำดังกล่าว


 


 


 


แถลงการณ์เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน


ไม่สร้างเขื่อนใหม่ แก้ไขเขื่อนเก่า ไม่เอาพ.ร.บ. น้ำ


วันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพมหานคร


----------------------------------------------


 


ตลอดเวลา 4 ทศวรรษ ที่ผ่านมา สังคมไทยได้ผ่านการเรียนรู้ถึงผลประโยชน์และผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ในหลายลักษณะที่แตกต่างกันไปตามสถานภาพของแต่ละกลุ่มชนในสังคม ทำให้เกิดความแตกต่างทางความคิดและพัฒนาเป็นความขัดแย้งขึ้นในสังคม


 


พวกเราผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน จึงได้เดินทางมา ณ ที่นี้เพื่อให้บรรดานักสร้างเขื่อนที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยแหล่งน้ำและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเอเซีย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในครั้งนี้ โดยสิ่งที่พวกเรากล่าวอ้างถึงล้วนเป็นประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเรา ดังนี้


 


1.การสร้างเขื่อนมีพื้นฐานมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากการตัดสินใจสร้างเขื่อนเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจเท่านั้น หากผู้ได้รับผลกระทบเรียกร้องสิทธิของตน ก็ต้องรอรับชะตากรรมที่รัฐเป็นผู้กำหนด แต่การเรียกร้องสิทธิ ก็ต้องโดนรัฐใช้กฎหมาย เข้าปราบปรามตลอดมา ชาวบ้านที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากการสร้างเขื่อนแทบทุกกรณีจึงต้องถูกตั้งข้อหาจากรัฐเพื่อจับกุมดำเนินคดีมาโดยตลอด ลักษณะดังกล่าวทำให้ชาวบ้านต้องถูกแย่งชิงที่ดินไปโดยไม่มีโอกาสต่อรอง ไม่ต่างจากการถูกรัฐปล้นชิงที่ดิน


 


2. ด้วยมุมมองที่ต้องการผลประโยชน์สูงสุดจากโครงการ หน่วยงานของรัฐจึงไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นมุ่งที่จะเก็บกักน้ำให้ได้ในปริมาณที่สูงสุด และมองน้ำแยกขาดจากทรัพยากรในลุ่มน้ำเป็นเหมือนการจัดการน้ำในขวด แต่ความเป็นน้ำไม่อาจแยกขาดจากระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ ด้วยความโลภที่บังตาทำให้นักสร้างเขื่อนมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้เราต้องสูญเสียพันธุ์ปลา 169 ชนิด ในการสร้างเขื่อนปากมูล สูญเสียป่าทามกว่า 1 แสนไร่ รวมทั้งปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มและน้ำเค็ม การแพร่ระบาดของโรคพยาธิต่างๆ ในการสร้างเขื่อนราษีไศล เป็นต้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือเขื่อนทำลายระบบน้ำธรรมชาติที่ขึ้นลงตามฤดูกาล ทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลกระทบดังกล่าวเมื่อประเมินมูลค่าความเสียหายแล้วอาจสูงกว่ามูลค่าของเขื่อนหลายเท่า


 


3.การล่มสลายของระบบนิเวศส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ หลังการสร้างเขื่อน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องสูญเสียความสามารถในการพึ่งตนเอง เช่นชาวประมงกว่า 7,000 ครอบครัวที่สูญเสียอาชีพจากการสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านในชุมชนริมฝั่งลำโดมน้อย 30 หมู่บ้าน ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน เป็นต้น การสูญเสียอาชีพทำให้เกิดการอพยพไปหากินในแหล่งใหม่ ทำให้คนในครอบครัวต้องพลัดพรากจากกันต่างคนต่างดิ้นรนเอาชีวิตรอดตามยถากรรม คนบ้านบากชุมที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธรแทบทั้งหมู่บ้านต้องอพยพมาเก็บขยะเลี้ยงชีพในกรุงเทพฯ ในชุมชนเหลือเพียงเด็กกับคนแก่ การอพยพแต่ละครั้งทำให้เครือญาติที่สืบสายเลือดเดียวกันมาแยกย้ายกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง หากจะกล่าวการสร้างเขื่อนคือการพัฒนาแล้วนี่คือการพัฒนาบนคราบน้ำตาประชาชน ที่ปล้นชิงชีวิตที่ดีและยัดเยียดความยากจนให้กับชาวบ้าน


 


4.เขื่อนเป็นที่มาของความขัดแย้ง เนื่องจากในสังคมไทย เขื่อนยังเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา และเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณชน ทั้งในด้านแหล่งน้ำและพลังงาน ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ กลายเป็นจำเลยของสังคมไปโดยปริยาย ประกอบกับแนวความคิดในการแก้ปัญหาของนักสร้างเขื่อนในประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์มากกว่าการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้เขื่อนที่ยังไม่สร้างชาวบ้านที่คัดค้านก็ต้องเจอข้อหาขัดขวางความเจริญ ชาวบ้านถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในขณะที่ความจริงเขาคือคนที่ถูกปล้นชิงจากรัฐและสังคม


 


5.เขื่อนไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากการสร้างเขื่อนรัฐไทยไม่เคยนำต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมาคิดเป็นต้นทุนของโครงการ ทำให้ตัวเลขต้นทุนของเขื่อนต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ถึงอย่างนั้นเมื่อคณะกรรมการเขื่อนโลก ศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนปากมูล เมื่อปี 2543 ยังพบว่า เขื่อนปากมูลไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่แน่ว่าเขื่อนปากมูลจะได้สร้างหรือไม่ถ้าหากนำผลประโยชน์ที่แท้จริงถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์


 


นอกจากนั้นยังระบุว่า ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดรวมถึงเจ้าของโครงการเป็นผู้เสียผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งเขื่อนผลิตไฟฟ้าและเขื่อนชลประทานไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้ตามที่คาดการณ์ไว้ สำหรับเขื่อนชลประทานที่ผ่านมาไม่มีการประเมินผลอย่างแท้จริงแต่วิธีคิดผลประโยชน์ของโครงการ ทางกรมชลประทานจะอ้างอิงตัวเลขศักยภาพการส่งน้ำที่โครงการสามารถทำได้ แต่ไม่ได้พิจารณาความเป็นจริงว่ามีผู้ใช้ประโยชน์จากน้ำที่กักเก็บไว้จริงมากน้อยเพียงใด ความคุ้มค่าของเขื่อนจึงเป็นเพียงมายาภาพที่ถูกนักสร้างเขื่อนสร้างขึ้นเท่านั้น


 


ความจริงแล้ว ความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลของทุกประเทศจะยุติการสร้างเขื่อนเพื่อรักษาทรัพยากรลุ่มน้ำและความผาสุกของชุมชน แต่ด้วยผลประโยชน์เฉพาะตนของนักสร้างเขื่อนที่มองข้ามภัยพิบัติใดๆที่จะเกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติทำให้การสร้างเขื่อนยังดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน


 


พวกเราจึงขอยืนยันว่า ภัยพิบัติจากเขื่อนที่มีต่อมวลมนุษยชาติและทรัพยากรในลุ่มน้ำทุกสายทั่วโลก มากพอที่จะให้รัฐบาลของทุกประเทศและนักสร้างเขื่อนทั่วโลก จะนำมาทบทวนเพื่อยุติโครงการสร้างเขื่อนใดๆที่จะเกิดขึ้นนับแต่นี้ต่อไปและกลุ่มมาฟื้นฟูแม่น้ำ ฟื้นฟูชีวิตเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติต่อไป


 


ด้วยความเชื่อมั่นในพลังแห่งสัจจะ


เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน


 


 


 


00000000000000000000


แถลงการณ์เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน


เขื่อนกับการพัฒนา ถึงเวลาที่ต้องทบทวน


วันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ณ อาคารสยามทาวเวอร์


--------------------------------------------------------


ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เขื่อนอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของการพัฒนาที่คนในสังคมเห็นว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้า เป็นแหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผลพวงของการสร้างเขื่อนนำมาสู่ความจำเริญทางเศรษฐกิจ สร้างความผาสุกให้กับสังคมและชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น "ผู้เสียสละเพื่อการพัฒนา" แต่การลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล ได้เปิดโปงความฉ้อฉลและผลกระทบของเขื่อน ทำให้ผู้เดือดร้อนจากเขื่อนอื่นๆลุกขึ้นทวงถามสิทธิของตน และสังคมเริ่มมองเขื่อนอย่างมีข้อกังขาว่าจริงหรือที่ว่า "เขื่อนคือสัญลักษณ์ของการพัฒนา"


 


บทเรียนของเขื่อนปากมูล ที่พบว่า เขื่อนล้มเหลวในทุกด้าน ตั้งแต่งบประมาณการก่อสร้างที่สูงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว จาก 3,880 ล้านบาท เป็น 7,000 กว่าล้านบาท ส่วนการผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นผลประโยชน์หลักของโครงการ สามารถผลิตได้เพียง 1 ใน 3 ของที่คาดการณ์ไว้ ที่สำคัญทำให้ชาวประมง กว่า 7,000 ครอบครัว สูญเสียอาชีพ ซึ่งไม่เคยมีการคาดการณ์ไว้ก่อน


 


คณะกรรมการเขื่อนโลก ศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนปากมูล เมื่อปี 2543 สรุปว่า เขื่อนปากมูลไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่แน่ว่าเขื่อนปากมูลจะได้สร้างหรือไม่ถ้าหากนำผลประโยชน์ที่แท้จริงถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากนั้นยังระบุว่า ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดรวมถึงเจ้าของโครงการเป็นผู้เสียผลประโยชน์


 


ส่วนเขื่อนชลประทานที่อ้างว่าเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่าปัญหาน้ำท่วมในภาคอีสาน เขื่อนได้ตกเป็นจำเลยสำคัญว่าคือสาเหตุของปัญหา จนชาวบ้านต้องเรียกร้องให้กรมชลประทานเปิดประตูน้ำเขื่อนในแม่น้ำชีและมูลในช่วงฤดูน้ำหลากเพื่อแก้ปัญหา ส่วนปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เกิดขึ้นปีนี้ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนก็ถูกหยิบยกมาเป็นสาเหตุที่สำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เขื่อนยังเป็นต้นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำลายระบบนิเวศน์ ทำลายเศรษฐกิจชุมชนและก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากยังรอคอยการแก้ปัญหาโดยที่รัฐบาลไม่ให้ความเหลียวแล


 


แต่ด้วยกระบวนการสร้างเขื่อนเป็นขบวนการระดับโลก ที่มีธนาคารโลกเป็นนายทุนใหญ่หนุนหลัง และเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ และนายทุนนักสร้างเขื่อนทั้งหลาย ทำให้การสร้างเขื่อนยังคงเดินหน้าสร้างปัญหาต่อไป โดยในวันที่ 30 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2549 บรรดาผู้ได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อน จะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยแหล่งน้ำและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในเอเซีย ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่โรงแรมมนเฑียร กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความร่วมมือกันในการสร้างเขื่อนต่อไป ดังนั้น วันนี้ธนาคารโลกจึงได้จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการขึ้นเพื่อเตรียมการเข้าร่วมเวทีดังกล่าว


 


พวกเราผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนทั่วประเทศ จึงได้นำความจริง และความทุกข์ยากที่พวกเราประสบมาบอกเล่าต่อสาธารณะให้รับทราบ ความจริงอีกแง่มุมหนึ่งที่ถูกปิดบังตลอดมา และเรียกร้องให้ธนาคารโลกนายทุนใหญ่ที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน ยุติการให้เงินกู้เพื่อสร้างเขื่อน และสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูชุมชน และทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เพื่อเป็นการล้างบาปที่เคยกระทำไว้


 


สุดท้ายพวกเราขอยืนยันว่า เขื่อนไม่ใช่ทางเลือกของการพัฒนาอีกต่อไป และถึงเวลาแล้วที่จะต้องแสวงหาทางเลือกในการจัดการน้ำและพลังงานรูปแบบเหมาะสมไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม


 


ด้วยจิตคารวะ


เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net