Skip to main content
sharethis

ถึงบัดนี้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย" หรือ "Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle Development Project: IMT - GT" ผ่านการประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 3 ประเทศไปแล้ว 11 ครั้ง มีการประชุมสภาธุรกิจสามฝ่ายไปแล้ว 15 ครั้ง

ครั้งล่าสุดเกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 22 - 26 สิงหาคม 2547 โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่จังหวัดปัตตานี ส่วนสภาธุรกิจ 3 ประเทศ จัดประชุมที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เพื่อให้เห็นภาพชัดถึงผลประโยชน์ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในกาลอนาคต ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ "ประชาไท" จะประมวลสาระสำคัญของแผนงานและผลการดำเนินงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย มาบอกเล่าต่อกัน ดังนี้

ช่วงแรก ระหว่างปี 2536 - 2537 ซึ่งเป็นช่วงของศึกษาจัดทำกรอบความร่วมมือการพัฒนา ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ Asian Development Bank ธนาคารที่มีประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งคนไทยคุ้นหูคุ้นปากในนามย่อ ADB ในฐานะผู้ให้การสนับสนุน ได้เข้ามามีบทบาทกำหนดกรอบการพัฒนาพื้นที่ความร่วมมือ IMT - GT ชนิดเอาการเอางานอย่างยิ่ง

เป็นความเอาการเอางาน อันปรากฏผ่านข้อเสนอแนะกรอบการพัฒนาและโครงการต่างๆ ที่ Asian Development Bank: ADB อ้างว่า พื้นที่ความร่วมมือแห่งนี้ มีศักยภาพ ใน 5 สาขา

1. สาขาการค้าการลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่าง 3 ประเทศ โดยเร่งรัดปรับปรุงกฎระเบียบที่แตกต่างกัน และเป็นปัญหาอุปสรรค ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างระบบภาษีของแต่ละประเทศ ให้เอื้ออำนวยต่อความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน
ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านการผลิตร่วมกัน และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบเชิงการผลิตในพื้นที่ IMT - GT

ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยปรับปรุงกฎระเบียบ เพิ่มความรู้ความชำนาญของแรงงาน และพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานให้ตอบสนอง ต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ IMT - GT

2. สาขาอุตสาหกรรม และพลังงาน
ส่งเสริมการผลิตร่วมกันของอุตสาหกรมในเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย โดยสนับสนับสนุนเอกชนลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น Export Processing Zone: EPZ หรือ Free Trade Zone: FTZ ขึ้น

พร้อมกับพัฒนาความร่วมมือในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม การพัฒนาโรงไฟฟ้า และระบบจำหน่าย ตลอดจนการร่วมกันพัฒนาระบบข้อมูลด้านพลังงาน

3. สาขาเกษตรและประมง
ส่งเสริมความร่วมมือ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านผลผลิต การค้า และการลงทุนด้านเกษตร ป่าไม้ และการประมง

4. สาขาคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร
เร่งรัดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร ที่จะเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตของทั้ง 3 ประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน และผู้ประกอบการ

5. สาขาการท่องเที่ยว
พัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยส่งเสริมกิจการด้านการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมในเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย รวมทั้งพัฒนากิจกรรมต่อเนื่องด้านอุตสาหกรรมของที่ระลึก การค้า และบริการ

เมื่อนำไปบวกรวมกับข้อเสนอจากภาคเอกชน โดยสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย ที่เสนอโครงการความร่วมมือผนวกเข้าไปด้วย รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ของ Asian Development Bank: ADB จึงปรากฏจำนวนแผนงานโครงการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 91 โครงการ

สำหรับกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่ายในช่วงแรก
หนึ่ง ภาครัฐ แยกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับรัฐมนตรีกับระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส จะดำเนินการก่อนวันที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อสรุปประเด็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย เสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีพิจารณา

สอง ภาคเอกชน มีสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย เป็นกลไกหลัก โดยสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นสมาชิกสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย ซึ่งจะมีการประชุมก่อนวันที่จะประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อสรุปประเด็นความร่วมมือของภาคเอกชน ให้สอดคล้องกับความร่วมมือของภาครัฐ

เนื่องจากช่วงระหว่างปี 2536 - 2537 อยู่ในระยะศึกษากรอบความร่วมมือ ผลการดำเนินงานในช่วงนี้ ที่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ ระหว่างครั้งที่ 1 - 4 และที่ประชุมครั้งที่ 1 - 3 ของสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย ที่เริ่มต้นการประชุมครั้งแรก เมื่อคราวประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส ครั้งที่ 2 จึงมีอยู่แค่ 2 เรื่อง

หนึ่ง เห็นชอบขอบเขตการศึกษาโครงการ โดยใช้ชื่อเป็นทางการว่า "Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle Development Project : IMT - GT"

สอง เห็นชอบรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ และกรอบแผนงาน/โครงการ ตามข้อเสนอแนะของ Asian Development Bank: ADB รวมกับโครงการที่ภาคเอกชน 3 ฝ่ายเสนอ

ผลการศึกษาทั้งหมด ถูกนำมาใช้เป็นกรอบหลักในการพัฒนาความร่วมมือในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ในเวลาต่อมา

นั่นหมายถึงว่า แนวคิดในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 โดย "นายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมหมัด" นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น

ล้วนแล้วแต่ดำเนินไป ภายใต้การชี้นำของ Asian Development Bank หรือ ADB นับแต่นั้นมา

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net