Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--ผู้จัดการออนไลน์

วันนี้ ( 23 ธ.ค.) ที่คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นักวิชาการและรองผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา พร้อมด้วยนายไพบูลย์ มัฆวิมาลย์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประจำจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าวผลการศึกษา "พฤติการณ์การหาเสียงล่วงหน้าก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. 2548 " ว่า จากการศึกษาข้อมูลภาคสนามผ่านแกนนำชาวบ้านของกลุ่มสมัชชาต่าง ๆ นักพัฒนาองค์กรเอกชน (NGO) และเครือข่ายผู้สื่อข่าว 19 จังหวัดภาคอีสานระหว่างก.ย.-ธ.ค.ที่ผ่านมาพบข้อมูลปรากฏการณ์การหาเสียงของพรรคการเมือง รวมทั้ง ส.ส.และบรรดาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในภาคอีสานน่าสนใจแบ่งออกเป็น 4 พฤติการณ์หลักๆ ประกอบด้วย
พฤติการณ์ที่ 1 "พฤติการณ์ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง" พบว่า 1.พรรคใหญ่จะยังไม่หาเสียงมากนัก แต่จะใช้กลุยุทธ์เก็บข้อมูลของทุกพรรคว่ามีนโยบาย หรือ โจมตีพรรคอย่างไร จากนั้นจะเปิดปราศรัยใหญ่เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเหล่านั้น แล้ว "แจกแบบปูพรม"โดยไม่สนใจ กกต. เพราะเป็นรู้กันว่า กกต.มักไม่กล้าให้ใบแดง ใบเหลืองกับการเลือกตั้งระดับ ส.ส. และ ส.ว. แต่มักจะกล้าให้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมากกว่า
2.ร้านโชห่วยในชุมชนที่มีคนเข้าพลุกพล่าน ไปซื้อข้าวของมากเป็นพิเศษไปรับเงิน โดยนักการเมืองไปจ่ายเงินให้ร้านค้าไว้ล่วงหน้า เมื่อเวลาชาวบ้านไปซื้อของจะได้รับเงินทอนมากเป็นผิดปกติ 3.ร่วมมือกับร้านอาหาร ให้ชาวบ้านไปรับประทานได้ตามโควต้าที่กำหนดไว้ เช่น 500-1,000 บาท 4. มีการส่งเจ้าหน้าที่ของพรรคไปเก็บข้อมูลจำนวน ชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งพร้อมเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาเก็บข้อมูล ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.)
นอกจากนี้ยังพบว่าโทรศัพท์ที่มีกล้องถ่ายภาพจะขายดีมากขึ้น เพื่อเอาไปจับผิดฝ่ายตรงข้ามแล้วมาตัดต่อ และการใช้งบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้ง มีการให้น้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องสูบน้ำครอบครัวละ 10 ลิตร เกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียว ทั้งที่บางแห่งไม่ทราบว่าจะเอาน้ำที่ไหนมาสูบ อีกทั้ง ยังมีการเรียกประชุมสัมมนาพระสงฆ์และไวยาวัจกร โดยไม่ผ่านสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่กระทำผ่านกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งอ้างว่าเป็นการถวายความรู้แด่พระสงฆ์และบุคลากรในวัด
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า พฤติการณ์ที่ 2 คือ "ยุทธศาสตร์จังหวัดใหญ่" โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา,บุรีรัมย์ และหนองคาย บุคคลซึ่งมีความสำคัญรับผิดชอบการเลือกตั้งของพรรคใหญ่ ต่างวางเป้าหมายคือการยึดเพื่อชนะแบบยกทั้งจังหวัด และกุมคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ได้มากที่สุด โดยจะใช้วิธีการ 1. ขอให้ฝ่ายตรงข้ามถอนตัว ทั้งข่มขู่ ซื้อตัว โดยใช้กลไกของรัฐ ผู้ว่าฯ ,รองผู้ว่า และเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก วิธีการนี้เกิดขึ้นแล้วที่บุรีรัมย์
2.กะเกณฑ์คนเป็นเรือนหมื่น เรือนแสน มาร่วมพิธีปราศรัยใหญ่ จัดกิจกรรมเปิดตัวโดยกำหนดให้มีตัวแทนทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 5-10 คน กลุ่มพวกนี้จะถูกซื้อเสียงล่วงหน้ามัดจำไว้ก่อนคนละ 1 พันบาท ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์และการยึดกุมพื้นที่
ส่วนพฤติการณ์ที่ 3 "บุคคลเป้าหมายยึดกุมพื้นที่การเมืองเพื่อซื้อเสียงและทำคะแนนเสียง"นั้น แบ่งเป็น 1. ในเขตพื้นที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ประกอบด้วย ข้าราชการการเมือง นายกอบจ. ,รองนายกฯ,สมาชิกสภาอบจ. และข้าราชการส่วนท้องถิ่นใน อบจ. 2.เขตพื้นที่เทศบาล เป็นข้าราชการการเมือง นายกเทศมนตรี, รองนายกเทศมนตรี,สท.และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ปลัดเทศบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองสวัสดิการสังคม
3. เขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)/ตำบล ได้แก่ นายกอบต., ปลัด อบต., กำนัน ,สารวัตรกำนัน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และ 4. เขตหมู่บ้าน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ,กรรมการกองทุนหมู่บ้าน, ผู้ใหญ่บ้าน, สมาชิก อบต.หมู่บ้านละ 2 คน, ครู, พระสงฆ์ และกลุ่มสตรี เป็นต้น
และพฤติการณ์ สุดท้าย "การมัดจำหรือซื้อเสียงล่วงหน้าในภาคอีสาน" ให้สิ่งของไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะต้องปฏิบัติตามสัญญา โดย 8 ลำดับที่มีการกระทำมากและมีความถี่ที่สุดได้แก่ 1.การแจกเสื้อแสดงพรรค /ผู้สมัคร 2.กะเกณฑ์ชาวบ้านเป็นสมาชิกพรรค, 3.จัดเลี้ยงหลายรูปแบบ โดยวิธีการจองร้านอาหารไว้ให้กินหรือเลี้ยงดูจะเป็นที่นิยมที่สุด 4. แจกเงินแจกสิ่งของหัวคะแนน/แกนนำชาวบ้าน/ชาวบ้านบางราย 5. กะเกณฑ์คนไปฟังปราศรัยเปิดตัว 6. พาไปท่องเที่ยว 7.จัดและแจกอุปกรณ์กีฬาพร้อมรางวัล และ 8. สร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ
ส่วนการมัดจำด้วย "สัญญาว่าจะให้" ที่จะตามมาหลังการเลือกตั้งเมื่อได้เป็นส.ส.หรือพรรคของของได้รัฐบาล นั้นจากการศึกษาพบความถี่สูงสุดใน 7 พฤติการณ์ได้แก่ 1.จะปลดหนี้ชาวบ้าน 2. สร้างถนนและถนนคอนกรีตในหมู่บ้านที่งบประมาณ อบต.ไม่เพียง 3.จะให้เงินเดือนผู้สูงอายุ,อสม.. เพิ่มเงินเดือนให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและนายกอบต. ,ประธานสภาฯและ สมาชิกอบต.4. จะให้ทุนการศึกษาบุตรหลานทุกคนที่เรียนหนังสือ 5. จะสร้างประปาขุดเจาะน้ำบาดาล หมู่บ้าน/ชุมชน 6. จะหางานหรืออาชีพให้ทำ และสุดท้าย 7.จะจัดให้มีกองทุนระดับจังหวัด ,เทศบาล ,ตำบล และเพิ่มกองทุนหมู่บ้านให้ เป็นต้น นายสมเกียรติ กล่าวในที่สุด
ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net