Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-24 ธ.ค.47 กมธ.พัฒนาสังคมฯ สรุปผลสอบสอบข้อเท็จจริงตากใบ จี้นายกฯเปิดความจริง-แสดงความรับผิดชอบ ฟันธง เจ้าหน้าที่รัฐผิดเต็มประตู ฐานทำร้ายร่างกาย-ทำลายชีวิตผู้ชุมนุม

"สิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำเพื่อรักษาบาดแผลทางใจแก่ครอบครัวของประชาชนผู้เสียหาย มิใช่เพียงการเร่งจ่ายค่าชดเชยใดๆ แต่เป็น "การเร่งแสวงหาความจริง" และ "เปิดเผยข้อเท็จจริง" รวมทั้ง "แสดงความรับผิดชอบ" ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัว"
หนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ระบุ

วันนี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ทำหนังสือเสนอข้อสังเกตและข้อควรพิจารณากรณีความรุนแรงที่ตากใบกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ข้อสังเกตดังกล่าว มาจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ร่วมกับกมธ.อีก 2 ชุดคือ คณะกรรมา
ธิการการต่างประเทศและคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ 2 ช่วง ทั้งรับฟังข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง ฝ่ายรัฐ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายผู้นำศาสนา แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ตลอดจนประชาชนที่อยู่และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์

สาระสำคัญของหนังสือ แยกเป็น 2 ส่วนสำคัญคือ ข้อสังเกตในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์วันที่ 25 ตุลาคม 47 ส่วนที่สองเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อคลี่
คลายปัญหาเฉพาะหน้าจากเหตุการณ์ รวมถึงการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชาย แดนภาคใต้

โดยในส่วนข้อสังเกตเห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลและสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ความรุนแรงที่หน้า สภ.อ.ตากใบ ขาดความพร้อมและบกพร่องต่อหน้าที่ในการเผชิญเหตุการณ์โดยสันติ ทั้งการใช้กำลังสลายและขนย้ายผู้ชุมนุมจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้วยความจงใจหรือประมากเลินเล่อก็ตาม

สำหรับข้อเสนอนั้น นอกจากประเด็นการทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏแล้ว กมธ.ยังเร่งให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาตรา29 ในเรื่องสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาที่จะได้รับการเยียวยาตามมาตรา 245

"แม้มีการบังคับใช้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ ได้ ก็ไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีบท บัญญัติข้อใด ที่ให้อำนาจหน้าที่ทหารในการทำลายชีวิตหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้ ... ดังนั้นการทำร้ายร่างกายหรือทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจึงย่อมเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ ซึ่งผู้กระทำจะต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาต่อไป"

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า รัฐควรจะเข้ามาดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบกฎหมายและความเป็นธรรมของบ้านเมือง เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนรวมกำลังใจสร้างความเป็นปึกแผ่น สามัคคีโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เน้นความหลากหลายทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม

ทั้งนี้รัฐควรยึดในแนวทางสันติวิธี กฎหมาย หลักนิติธรรม และนายกรัฐมนตรีควรลดความแข็งกร้าวในการมอบนโยบายปราบปราม และรอบคอบในถ้อยคำที่กล่าวต่อสาธารณชนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งยังต้องเร่งนำความจริงมาสร้างสมานฉันท์ โดยมิได้มองว่า ผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐและเจ้าหน้าที่เป็นผู้ไม่รักชาติ

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net