Skip to main content
sharethis

ประชาไท -10 ม.ค.48 "เรื่องการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต้องรอความชัดเจนจากส่วนกลาง แต่คาดว่าแนวโน้มจะเป็นไปตามแนวทางของจังหวัดคือ ส่วนที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องสามารถก่อสร้างบ้านได้ทันที แต่ส่วนที่บุกรุกที่สาธารณะ หรือที่ดินของรัฐ จะต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่จัดสรรให้ เพื่อให้การจัดระบบต่างๆ เป็นไปโดยสะดวก" นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงากล่าวถึงความคืบหน้าการจัดการที่พักอาศัยถาวรให้แก่ผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ซึนามิ

นายอนุวัฒน์กล่าวว่า ได้จัดที่ดินสำหรับก่อสร้างไว้แล้วที่อ.บางม่วง 18 ไร่ ที่อ.ท้ายเหมือง 14 ไร่ โดยมีเอกชนแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างให้ทั้งหมดประมาณ 500 ยูนิต ส่วนที่ดินของกรมธนารักษ์ที่มอบให้อีก 72 ไร่ และ 200 ไร่นั้น อยู่ระหว่างจัดทำแผนโครงการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่พักชั่วคราวได้สร้างไปแล้วกว่า 1,600 หลัง และกำลังจะสร้างเพิ่มอีกประมาณ 1,000 หลังภายใน 10 วัน ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความต้องการทั้งหมด

ด้านงบประมาณที่จะใช้ก่อสร้างนั้น ผู้ว่าฯ พังงากล่าวว่า เฉพาะส่วนของเงินบริจาคจากสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เกินวงเงินที่ต้องการแล้ว แต่คาดว่ารัฐน่าจะออกให้ 30% เพื่อไม่ให้ชาวบ้านสามารถไปเรียกร้องสิทธิที่พึงได้รับกรณีภัยพิบัติตามที่กฎหมากำหนดไว้ได้อีกในภายหลัง ซึ่งจะเป็นการซ้ำซ้อน

สำรวจที่ดิน "บ้านน้ำเค็ม" สุดสลับซับซ้อน

ด้านนางสาวพรรณชิตย์ เพชรมาก หัวหน้าส่วนวิจัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ "บ้านน้ำเค็ม" อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พอช.ได้ลงไปจัดสร้างบ้านชั่วคราวให้ชาวบ้าน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนเร่งด่วน จึงยังไม่สามารถสำรวจเรื่องกรรมสิทธิ์เรื่องที่ดินเดิมได้ เพราะพื้นที่มีความสลับซับซ้อน ทั้งที่เป็นพื้นที่สัมปทานเหมืองเก่า และที่กรรมสิทธิ์ทับซ้อน ขณะนี้ได้ให้มอเตอร์ไซด์รับจ้างสำรวจพื้นที่ ซึ่งไม่เหลือแม้ตรอกซอกซอยต่างๆ เพื่อจัดทำผังชุมชนเดิมขึ้นก่อนในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอย่าไม่เป็นทางการพบว่ามีชาวบ้านที่ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง 329 ครอบครัว ขณะที่ชาวบ้านที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีประมาณ170-240 ครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่มานานแล้ว

"มอแกน" ระนองขอเงินชดเชยปลูกบ้านเอง

ด้านนายวินัย มงคลธารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า ทางจังหวัดได้เริ่มก่อสร้างที่พักถาวรให้กับผู้ประสบภัยในอำเภอกะเปอร์จำนวน 41 หลังแล้วเสร็จไปกว่า 80% แล้ว โดยทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เดิม เพราะมีเอกสารสิทธิ์

ส่วนที่บ้านทะเลนอก และหาดประพาส กิ่งอำเภอสุขสำราญนั้น ผู้ว่าฯ ระนอง กล่าวว่า ได้จัดพื้นที่ให้ใหม่เลื่อนจากพื้นที่เดิมออกมาเล็กน้อย ซึ่งตกลงกับชาวบ้านในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหาดประพาสเป็นที่ราชพัสดุ และที่บ้านทะเลนอกเป็นที่บริจาคของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

"ส่วนชาวเล หรือชาวมอแกนที่อยู่ในอำเภอเมืองประมาณ 20 ครอบครัวนั้น ส่วนใหญ่ขอเป็นเงินชดเชย เพื่อไปทำการปลูกสร้างบ้านเองในพื้นที่เดิม ซึ่งอยู่บ้านฝั่ง ไม่ได้อยู่บนเกาะแต่อย่างใด โดยทางจังหวัดจะจ่ายให้ 30,000 บาทสำหรับความเสียหายทั้งหลัง หรือประเมินจากสภาพความเสียหายจริง" นายวินัยกล่าว

ชาวบ้าน "แหลมตุ๊กแก" ผวาเอกชนไล่ที่

ขณะที่บริเวณแหลมตุ๊กแก อ.เมือง จ.ภูเก็ตนั้น ขณะนี้ชาวไทยใหม่ หรือชาวอุรักลาโว้ย ซึ่งเป็นชาวเลกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย กว่า 200 ครัวเรือน ได้ช่วยกันซ่อมแซมบ้านเรือนในส่วนที่ไม่เสียหายมากนัก โดยได้รับเงินทุนจากพอช. ขณะที่ส่วนราชการต่างๆ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหายหลายหน่วยงานแต่ยังไม่มีการให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่พักอาศัยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลว่าจะถูกไล่รื้อที่ในภายหลัง เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของเอกชนรายใหญ่รายหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีข่าวว่าจะทำการไล่รื้อชุมชนเพื่อขายทอดตลาดตั้งแต่ยังไม่ประสบเหตุภัยพิบัติ

มุทิตา เชื้อชั่งและ ศิริรัตน์ อนันตรัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net