Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.48 ที่ผ่านมาได้มีประกาศมติจากคณะรัฐมนตรีว่า ตามความเห็นชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกาะระ อ.คุระบุรี จ.พังงา เป็นพื้นที่ระวังภัยดินถล่มหลัง ปรากฏการณ์ที่ตามมาคือห้ามชาวบ้านกว่า 40 คนบนเกาะระเข้าไปอาศัยบนพื้นที่เดิม อีกทั้งพื้นที่เกาะระ-เกาะพระทองยังเป็นพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ

"ผู้ใหญ่ยศ" หรือนายยศพล แซ่เด้ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านแป๊ะโย้ย ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา ให้สัมภาษณ์แก่" ประชาไท" ว่ามติครม.ดังกล่าวนำมาซึ่งความกังวลของชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยห่างเกาะระออกไป 1 กิโลเมตร …บนเกาะพระทอง

"ผู้ใหญ่ยศ" เล่าว่าการที่มีมติครม.ห้ามอาศัยบนเกาะระเพราะเป็นเกาะระเป็นพื้นที่อันตรายนั้น ชาวประมงบนเกาะระยังสามารถอาศัยบนเกาะพระทองได้ และเนื่องจากพื้นที่บนเกาะพระทองเป็นดินทราย มีชายหาดยาวรอบเนื้อที่บนเกาะ 63,750 ไร่ มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์

แม้จะห่างจากเกาะระเพียงกิโลเมตรเดียวแต่สภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน ชาวบ้านบนเกาะพระทองจึงไม่ได้กังวลใจเรื่องแผ่นดินยุบหรือดินถล่ม

เมื่อ" ประชาไท" ถามถึงความกังวลใจของชาวบ้านเกาะพระทอง "ผู้ใหญ่ยศ" เล่าว่าเมื่อช่วงปี 43-44 ชาวบ้านบนเกาะ เพิ่งมารู้ว่า" บ้าน" ที่พวกตนอาศัยอยู่มาเป็นร้อยปีนั้นได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติ

"เราไม่เคยรู้เลยว่าบ้านเรากลายเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิรัน แต่ที่หนักกว่านั้นคือทางอุทยานฯได้เตรียมประกาศให้เกาะพระทองอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานฯ เขาเตรียมใช้กฎหมายไล่เราออก จากบ้านของเราเอง" ผู้ใหญ่ยศกล่าว

ผู้ใหญ่ยศเล่าถึงหมู่บ้านบนเกาะพระทองว่า มี 3 หมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 1,000 กว่าคน คนที่นี่ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน ทั้งชาวเล และชาวมอแกน เพราะตั้งแต่เกิดถึงตาย คนบนเกาะพระทองอยู่กับท้องทะเลมาตลอด แต่หากมีการประกาศอุทยานแห่งชาติบนพื้นที่เกาะระ-เกาะพระทอง ย่อมหมายถึงคนที่นี่ต้องย้ายออก และนำไปสู่ความล่มสลายของชุมชนในที่สุด

"ทะเลเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา ถ้าเอาเราไปจากทะเล ก็ไม่ต่างจากเอาชีวิตไปจากร่างกาย เราอยู่ไม่ได้หากมีเพียงร่างกายแต่ไร้ชีวิต" ผู้ใหญ่ยศกล่าวในตอนท้าย

ด้านนายนุกูล โกกิจ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าเกาะพระทองกล่าวถึงกรณีนี้ว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องการที่จะดูแลจัดการทรัพยากรเอง เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรมาตลอด และสามารถอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ดังนั้นหากมีการประกาศเขตอุทยานฯทับพื้นที่ของชาวบ้านแล้ว ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านย่อมไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ของตนได้ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากยิ่งขึ้น

นายนุกูลกล่าวต่อว่า กรณีการประกาศอุทยานทับที่ของชาวบ้านเป็นความขัดแย้งกับภาครัฐมาหลายปี และเมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นซูนามิ รัฐจึงฉวยโอกาส กันชาวบ้านออกนอกพื้นที่ โดยไม่ได้พิจารณาถึงวิถีชีวิตที่สอดคล้องกันของชาวบ้านและทรัพยากรในท้องถิ่น

"รัฐจะต้องทบทวนนโยบายในการจัดการที่ดิน วิถีคนกับทรัพยากร โดยต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าว่ามีความเชื่อมโยงกัน" นายนุกูลกล่าว

เจ้าหน้ารัฐชี้พร้อมเคลียร์คนออกจากพื้นที่
ต่อมาเมื่อ" ประชาไท" ได้พูดคุยกับแหล่งข่าวระดับสูงในจังหวัดพังงาถึงเรื่องนโยบายของภาครัฐโดยให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ทางจังหวัดพังงาได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการร่วมกับอุทยานเกาะระ-เกาะพระทอง เพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่ก่อนเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ

แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางจังหวัดกำลังคอยนโยบายจากทางภาครัฐ และทางอุทยานแห่งชาติในการประกาศพื้นที่เกาะระ-เกาะพระทอง ซึ่งคาดว่า เกาะระ ไม่น่าเป็นปัญหาในการประกาศเขตเพราะเป็นพื้นที่ระวังภัยดินถล่ม ซึ่งทางราชการได้ประกาศห้ามอยู่อาศัยแล้ว แต่เกาะพระทองยังมีปัญหาเพราะมีคนไม่เห็นด้วย และไม่ย้ายออก จึงยุ่งยากในการประกาศเขตฯ

แหล่งข่าวระดับสูงให้ข้อมูลอีกว่า จังหวัดพังงาพร้อมในด้านการโยกย้ายคนออกนอกพื้นที่เกาะพระทอง แต่ในเบื้องต้นทางจังหวัดพังงายังไม่มีนโยบายว่าจะย้ายประชาชนบนเกาะพระทองไปในพื้นที่ใด ทั้งนี้คาดการว่าอุทยานไม่น่าจะประกาศเขตทับที่ของประชาชนเพราะอาจจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

"หัวหน้า" หรือ นายมรกต จันทร์ไทย รับตำแหน่งหัวหน้าพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติเกาะระ-เกาะพระทอง เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า การจะประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาตินั้นเป็นเรื่องยาก และมีขั้นตอนหลายขั้นตอน

หัวหน้ากล่าวว่า ในเบื้องต้นของการประกาศเขตอุทยานคือต้องทำการสำรวจพื้นที่ ซึ่งโดยมากเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าอุดมสมบูรณ์ เพื่อกันเขตป่าอุทยาน และในการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นของชุมชนอีกด้วย

"หากชุมชนไม่เห็นด้วย เราก็ประกาศเขตเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เราเผชิญเพราะชาวบ้านในชุมชนไม่เข้าใจถึงความสำคัญในการประกาศเขตอุทยาน อ้างว่าตนจะได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยาน ทำให้เราต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านหนักมาก" หัวหน้ามรกตกล่าว

หัวหน้าเล่าต่อว่า ทางอุทยานฯได้เริ่มสำรวจพื้นที่เกาะระ-เกาะพระทองเมื่อปี เสร็จสิ้นไปเมื่อต้นปี 46 ที่ผ่านมา ประเด็นที่ชาวบ้านกังวลคือกลัวทางการจะประกาศอุทยานทับที่ดินของตน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทางอุทยานฯไม่ได้กั้นเขตเหนือที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิของชาวบ้าน

หัวหน้ากล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือ มีชาวบ้านบางส่วนอ้างว่าอาศัยเหนือพื้นที่มานาน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้แน่ชัด อีกทั้งเกาะระ-เกาะพระทอง ไม่สามารถประกาศเขตอุทยานได้ในเร็ววันเพราะต้องผ่านขั้นตอนอีกหลายขั้น ทั้งเรื่องกำหนดเขตลงในแผนที่เพื่อให้กรมอุทยานฯ รอผ่านมติคณะรัฐมนตรีและเป็นประกาศพระราชกฤษฎีกา ซึ่งแต่ละขั้นตอนกินเวลานานมาก

หัวหน้ากล่าวสรุปว่าปัญหาคือเรื่องความไม่เข้าใจ และทางอุทยานฯได้เร่งลงพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

และไม่ว่าปัญหาจะอยู่ที่ความไม่เข้าใจ หรือ ความต้องการจัดการทรัพยากรตามวิถีของชาวบ้านก็ตาม แต่เป้าหมายคือการรักษาทรัพยากรในพื้นที่ให้ยั่งยืน เกาะพระทองจึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่น่าจับตาว่าปัญหาภาครัฐและชาวบ้านจะปิดฉากลงเช่นไร

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net