Skip to main content
sharethis

ปัจฉิมกถา จากการสัมมนา " ชำแหละร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษและข้อตกลงเขตการค้าเสรี "
วันที่ 22 มีนาคม 2548 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

------------------------------------------------------------

ประเด็นที่อาจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ พูดไว้มีความสำคัญ คือท่านพูดถึงว่าเรื่องทั้งหมดที่เรากำลังเจออยู่ในขณะนี้ มันมีสัญญาณต่อเนื่องที่น่าจะรุนแรงขึ้นของประเทศไทย จริงๆ ผมคิดว่ามันไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย มันเปลี่ยนแปลงเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับโลก แต่ที่มันมาสะท้อนออกในประเทศไทยก็คือ เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่เราพูดกันในวันนี้

ผมคิดว่าต้องเริ่มต้นจากการที่บอกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคือการดำเนินการของทุน ที่มองเห็นว่า ภาวะที่ผมขอเรียกกว้างๆว่า "ปกติ" เป็นภาวะที่ทุนไม่สามารถทำงานได้สะดวก เพราะฉะนั้นทุนก็ต้องการหลุดออกมาจากภาวะที่เรียกว่าปกติ

ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของทุน ทุนได้สร้างพันธมิตรกับหลายกลุ่มมาแล้ว แล้วในเวลาต่อมาทุนก็พบว่าในเงื่อนไขที่มีพันธมิตรอยู่ด้วย หากไม่สามารถทำงานได้สะดวกก็จะสละพันธมิตรนั้นไป สร้างพันธมิตรใหม่อยู่ตลอดมา

ผมคิดว่าทุนในโลกนี้เข้ามาถึงจุดๆ หนึ่งที่ "ประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เคยกอดคอกันมา แต่ปัจจุบันผมอยากจะพูดว่าประชาธิปไตยเป็นพันธมิตรที่ทุนไม่อยากได้แล้ว และกลับเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตของทุนมากกว่า

อย่างกรณีที่มีการแลกเปลี่ยนกัน ผมเห็นด้วยว่า ประเทศจีนจากภาพปกติ ในระบบสังคมนิยมของเขาทำให้เขาไม่สามารถที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะทุนนิยมได้ เขาจึงขีดวงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา 3-4 วง และไปทำเฉพาะในวงเหล่านั้น เพื่อไม่ให้การพัฒนาของทุนไปกระทบสภาพปกติ คือ สภาพสังคมนิยมได้ เพราะฉะนั้นก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ในกรณีของประเทศไทย น่าประหลาดคือ ของจีนเขาต้องการรักษาระบบการเมืองไว้จึง ต้องสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ของเราตรงกันข้าม คือเรารู้สึกว่าสภาพการเมืองของเรา ระบบการเมืองของเราก้าวหน้าเกินไป เป็นประชาธิปไตยเกินไป มันขัดขวางกับการพัฒนาของทุน จึงต้องยกเลิกระบบประชาธิปไตยในระบบเศรษฐกิจทั้งหลายเพื่อที่จะสามารถพัฒนาทุนต่อไปได้

สรุปสั้นๆ เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ การยึดเอาทรัพย์สมบัติสาธารณะมาให้ทุนได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อากาศบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่ทุนอยากจะใช้ ก็จะเอาสมบัตินั้นๆมาเป็นของตน โดยใช้ข้ออ้างของการแข่งขัน ซึ่งบทความของอาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ ยกตัวอย่างมาจากงานวิจัยสำนักทนายความของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็บอกชัดเจนเลยว่า จุดมุ่งหมายของกฎหมายนี้เพื่อทำให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน

เพราะนั้น การแข่งขันระบบทุน หรือระบบเสรีนิยมในปัจจุบันนี้ ที่เรียกเสรีนิยมใหม่นั้น มันประหลาด คือ มันแข่งขันด้วยเงินหรือด้วยทรัพย์สมบัติของคนอื่น เพื่อที่จะแข่งขันเอาชนะ คุณอย่าไปควักกระเป๋าตัวเองแข่งขัน ไม่งั้นคุณแพ้เขา คุณจะแข่งยังไงก็แล้วแต่ โดยการเอาสมบัติของคนอื่นมาใช้ในการแข่งขัน

สภาพแบบนี้ผมคิดว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ถ้าดูลักษณะทุนนิยมแบบนี้ในทั้งโลก
ผมคิดว่ามันเกิดคล้ายๆ กันหมด ในอเมริกาก็เกิดลักษณะคล้ายๆ อย่างนี้ รัฐธรรมนูญอเมริกาเป็นหมันในหลายๆมาตรา หลังจากเกิดกรณีชนตึกเวิล์ดเทรด เป็นต้น

ฉะนั้นมันมีการพยายามไปเอาสมบัติกลางของสังคมไปใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันสูงพอสมควร แต่อย่างที่อาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ พูดไปแล้วว่า ในหลายๆ สังคมที่อเมริกา ผมคิดว่าพื้นฐานสังคมเข้มแข็งพอ ทำให้สามารถที่ต่อต้านระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ได้เข้มแข็งพอสมควร แต่ก็เพลี่ยงพล้ำไปหลายๆ กรณีเหมือนกัน

ผมคิดว่าถ้ามองในจุดนี้ บวกกับสภาพการเปลี่ยนแปลงคน บวกกับการรุกคืบเข้ามาของทุนโลกาภิวัตน์ในรูปของ FTA ก็ตามในรูปอะไรก็ตาม ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือพยายามที่จะเข้ามาใช้สมบัติที่เป็นของส่วนรวมมาใช้เป็นประโยชน์ในการแข่งขัน เมื่อเป็นเช่นนี้ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น ….. ผมก็ทำนายไม่ถูกเหมือนกัน

อยากจะเล่าให้ฟังเรื่องที่หนึ่ง คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ทุนนิยมยุคแรกๆ ในอังกฤษ มีกระบวนการ "ล้อมรั้ว" เกิดขึ้น สมัยหนึ่งที่ดินเป็นของขุนนาง คำว่า "ของ" ในที่นี้ไม่เหมือนในปัจจุบัน คือ ขุนนางเป็นใหญ่ในที่ดินแปลงหนึ่ง ในที่ดินแปลงนั้นก็จะมีพวกไพร่ติดอยู่ในที่ดินแปลงนั้น ทำมาหากินบนที่ดิน ถามว่าใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินอันนั้น ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรมต้องตอบว่าไม่รู้ คือมันไม่มีกรรมสิทธิ์เอกชนบนที่ดิน ตัวนายเป็นตัวใหญ่ในที่ดินนั้น มีสิทธิในการจะได้ผลผลิตจากแรงงานไพร่ในที่ดินนั้น เป็นเจ้าของส่วนหนึ่ง

ไพร่เองก็เหมือนกัน ตราบใดที่ยังส่งพืชผลให้แก่นายครบตามประเพณีที่กำหนดไว้ ไพร่ก็มีสิทธิบนที่ดินเหมือนกัน จะไปไล่ไพร่ออกจากที่ดินไม่ได้ สิ่งที่นายเรียกร้องจากไพร่อาจจะไม่ยุติธรรมเลยก็ได้ อย่าง ตำนานโอเปร่าของโมซาร์ต คือ คุณจะแต่งงานต้องส่งเจ้าสาวไปให้นายก่อน คุณถึงจะแต่งได้ นี่เป็นสิทธิที่นายจะพึงได้ตราบเท่าที่ทำตามพันธะตรงนั้น สิทธิการใช้ที่ดินก็ยังคงมีตลอดไป

วันหนึ่งมีการเปลี่ยนโดยทุนที่ต้องการให้เจ้าของที่ดินสามารถใช้ที่ดินนั้นเลี้ยงแกะ และส่งขนแกะไปขายในยุโรป เก็บเงินมาและนำเงินเหล่านั้นไปซื้อหุ้น ไปลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม ทำยังไงจะเกิดการสะสมของทุนได้ มันก็มีการเปลี่ยนกฎหมายให้ที่ดินเหล่านั้นเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของเจ้าของที่ดินอย่างเดียว ก็เกิดการล้อมรั้วขึ้นมาไล่เอาไพร่ที่ติดที่ดินเหล่านั้นออกไป ซึ่งเท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว

เพราะว่า หนึ่ง คือได้ที่ดินมาเลี้ยงแกะ และสอง คือ คนที่หลุดออกไปก็กลายเป็นกรรมกรยากจน ต้องอพยพเข้าไปอยู่ในเมือง ทำให้สามารถจ้างแรงงานได้ในราคาถูกเพื่อที่จะทำโรงงานอุตสาหกรรม นี่คือการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรนั่นเอง

ผมคิดว่ามันก็ไม่ได้แตกต่างกับสภาพที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ คุณออกกฎหมายทำอะไรต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนความคิดของคน ทำให้คนยอมรับการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วก็คุณสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรในลักษณะที่ประ เพณีก็ตาม กฎหมายก็ตาม รัฐธรรมนูญก็ตาม อะไรก็ตามในลักษณะเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้ต่ออีก

นี่คือการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร เป็นการปฏิวัติที่รุนแรงมากๆ และทุกครั้งที่มีการปฏิวัติทางเศรษฐกิจมันจะเกิดผลอย่างนี้

ถามว่าจะต่อต้านสำเร็จไหม มันก็เป็นประวัติยืดยาว พวกท่านก็ต้องไปต่อสู้กันเอง กว่าจะมาสร้างงาน สร้างสังคมกรรมกร สร้างสถานะตัวเอง นั่นเป็นเรื่องที่เป็นนิยายที่จบลงดูดีหน่อย นิยายที่จบลงและดูไม่ดีก็เช่น การเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรของแอฟริกา

ผมคิดว่าเราไม่ได้สนใจเลย ความอดอยากของแอฟริกาในปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรแท้ๆ เลย เพราะนักมานุษวิทยาที่ไปทำงานในแหล่งชุมที่อยู่ห่างไกลและถูกผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงน้อย เขาพบว่า คนแอฟริกันไม่ได้อดอยาก คือ ไม่ได้มีอาหารอร่อยๆ ซึ่งไม่รู้ว่าหมายความว่าไง กินตลอดทั้งปี คือคุณต้องเปลี่ยนอาหารการกินตลอดไปเรื่อยๆ ตามแต่ฤดูกาลพอสมควร แต่อย่างน้อยคุณไม่ขาดคาร์โบไฮเดรต คุณไม่ขาดโปรตีน คุณไม่ขาดผัก แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะมีกินอย่างนี้ได้ตลอดทั้งปี คุณก็ต้องเปลี่ยนการกินไปเรื่อยๆ

แต่ทั้งหมดเหล่านี้ถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อลัทธิอาณานิคมเข้าไปยังแอฟริกา และพยายามที่จะนำเอาสิ่งที่เรียกว่า ความเจริญ มาตรฐานต่างๆ เข้าไปสู่ชนเผ่าต่างๆ ในแอฟริกา ล้มเลิกประเพณีของเขา ซึ่งก็คือ ล้มเลิกวิธีการที่มนุษย์จะสัมพันธ์กับทรัพยากรอย่างที่เคยมีมานั่นเอง

พอเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้คุณก็เกิดความอดอยากขึ้นมาทันที เพราะว่าสิ่งที่มันเคยสัมพันธ์กันมาแล้วสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นพันๆปีเหล่านั้นมันหายไปหมด มีการล้อมรั้ว ต้อนสัตว์เข้าไปอยู่ในเขตที่เรียกว่า สงวนพันธุ์สัตว์ ไม่สามารถจะใช้สิ่งเหล่านั้นได้อีก

ความอดอยาก เร้นแค้นในแอฟริกาจึงเกิดขึ้นกับคนมากมายเหลือเกิน ซึ่งสะท้อนมาให้ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก อย่างเช่นดูหนังแอฟริกาคนไทยก็จะดูว่าคนแอฟริกานี่ป่าเถื่อน มันแย่เหลือเกิน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เขาก็อยู่ของเขาได้อย่างสบายๆ จนกระทั่งทั้งหมดเปลี่ยนไป อันนั้นผมคิดว่ามันเป็นนิยายที่ค่อนข้างน่าเศร้า เพราะฝ่ายประชาชนหรือคนส่วนใหญ่ไม่สามารถขับไล่ หรือไม่สามารถฟื้นชีวิตที่ดีกลับคืนมาได้ ก็เป็นนิยายที่น่าเศร้า

คำถามก็คือว่า เมื่อเกิดการปฏิวัติทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขนาดนี้ แล้วเมืองไทย คนไทยจะสามารถที่จะรักษาความสัมพันธ์กับทรัพยากรของตนเองที่เคยมีมาต่อไปได้ไหม หรือในที่สุดเราจะต้องมีการเปิดให้เปลี่ยนการใช้ทรัพยากรที่จะเป็นนายทุนโลกาภิวัตน์ หรือนายทุนโลกาภิวัตน์ที่เป็นนายหน้าเข้ามาตักตวงการใช้ทรัพยากรโดยไม่ขัดขวางได้หรือไม่

จริงๆ เลยผมอยากจะตอบว่าผมไม่รู้ พูดตรงๆ เลยผมเองก็ทำนายไม่ถูกเหมือนกันว่าเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

ผมไม่ได้หวังอะไรจากนักการเมือง แต่หวังว่าภาคประชาชนจะเข้มแข็งพอที่จะปกป้องตนเองในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ แต่ที่ผ่านๆ มาก็พบว่า บางทีภาคประชาชนก็เพลี่ยงพล้ำอยู่บ่อยๆ และก็ค่อนข้างอ่อนแอ กระทั่งว่า บางทีขยับอะไรก็ไม่ออก รู้เท่าทันบางกลุ่มก็ไม่สามารที่จะหาพันธมิตรร่วมกันได้

อันนี้ยืนยันว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่พรรคไทยรักไทยสามารถทำคะแนนเสียง 300 กว่าเสียง ซึ่งทำนายไว้แล้วว่าจะต้องได้ แต่ว่าเมื่อดูจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะทันกับที่เราจะล่ารายชื่อหรืออะไรหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าไม่ควรจะทำ ควรทำอย่างยิ่ง คิดทำอะไรได้ก็ทำเถิด

แต่ว่าพูดกันตรงไปตรงมาก็คือว่า ผมก็คงอยากจะร่วมด้วยกับการที่จะทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่ได้คิดคาดหวังว่าจะชนะร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ก็แค่ห้าสิบๆ เท่านั้นเอง ว่าเราจะสามารถปกป้องบ้านเมืองของเรา ให้ลูกหลานของเราพอที่จะอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net