Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-24มี.ค.48 นักวิชาการระบุ งานวิจัยชี้ชัด คน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่มีความคิดแบ่งแยกดินแดน ขณะเดียวกันกลับต้องผจญกับปัญหาถูกนายทุน แย่งชิงทรัพยากรในท้องถิ่น และกังวลเกี่ยวกับการถูกอุ้มจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายตรงข้าม

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาอาวุโสกล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง "งานวิจัย
เกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้" ในการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 4 ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ว่า ผลวิจัยซึ่งทำโดยชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุชัดเจนว่า ชาวบ้านกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรอย่างหนักหน่วง อีกทั้งยังกังวลกับการถูกอุ้ม โดย เฉพาะหลังรัฐยุบเลิก ศอ.บต. และพตท.43 ซึ่งสื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสนใจกรณีชาวบ้านถูกอุ้มเท่าใดนัก

"ถ้าถามว่าชาวบ้านแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า คนเหล่านี้ไม่ได้คิด แต่เขามีความสุขกับการเป็นคนเมืองปัตตานี" รศ.ศรีศักรระบุ อย่างไรก็ดีรัฐเองนอกจากไม่ได้คิดเช่นนั้นแล้ว ยังสื่อสารผ่านสื่อมองประชาชนในพื้นที่เป็นปรปักษ์อีกต่างหาก

อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ปัญหาความรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นนั้น สัมพันธ์กับปัญหาข้างต้น เพียงแต่มีการพูดกันว่า มีไอ้โม่งมาสอนยิงปืนให้กับเด็ก แต่ข้อมูลยังสับสนอยู่อย่างมาก

รศ.ศรีศักรกล่าวว่า หากต้องการแก้ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร รัฐจำเป็นต้องเปิดช่องให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น การจัดตั้งสภาหมู่บ้าน เนื่องจากกลไกอบต. อีกทั้งตัวกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เป็นที่ยอมรับในพื้นที่

นายแพทริก เจอร์รี่ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าวว่า สถาน
การณ์ภาคใต้ทำให้สังคมหันมาสนใจในความเป็นอิสลามสุดโต่ง สนใจในสงครามการก่อการร้าย ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดงานเขียนเชื่อมโยงสภาพดังกล่าว โดยไม่สนใจปัจจัยเชื่อมโยงอื่นๆ เช่นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ปัจจัยทางสังคม

นายแพทริกได้ยกตัวอย่างงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ของรัฐปัตตานี ซึ่งเห็นว่า เป็นชิ้นที่ดีที่สุดคือ งานของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตีพิมพ์ในหนังสือศิลปวัฒนธรรมเดือน มิ.ย. 2547 เป็นการมองสถาน การณ์ภาคใต้ผ่านแว่นกบฏชาวนา ซึ่งงานดังกล่าวได้ทำลายมายาคติที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับศาสนาอิสลาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net