Skip to main content
sharethis

พัทยา - 5 เม.ย.48 "เรารับปากไม่ได้ว่าจะไม่นำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาเจรจา แต่เรารับปากว่าจะนำข้อกังวลของท่านไปพูดคุยกับตัวแทนสหรัฐ หน้าที่ของเราคือเจรจา ดังนั้นจึงต้องรับฟังข้อเสนอของสหรัฐด้วย เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเจรจา ส่วนที่ตัดสินใจว่าจะเจรจาหรือไม่เป็นเรื่องของนโยบายที่รัฐบาลกำหนดมาแล้ว"

นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาการจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย - สหรัฐ ยืนยันระหว่างนำคณะเจรจาอาทิ นงนุช เพชรรัตน์ รองหัวหน้าคณะเจรจา,อภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มาร่วมหารือกับตัวแทนเครือข่ายต่างๆ 15 คน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง

ตัวแทนเครือข่ายดังกล่าวมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการเจรจาเอฟทีเอจากทั่วประเทศกว่า 1,500 คน ที่ปักหลักอยู่บริเวณหน้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช ฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเจรจารอบที่ 3 นี้

ตัวแทนทั้ง 15 คนได้ร่วมกันชี้แจงและเรียกร้องให้คณะเจรจาของไทยนำประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา (ไอพีอาร์) ออกจากการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและทำให้ราคายาสูงขึ้น กระทบต่อการเข้าถึงการรักษาโรคของประชาชน

"ทำไมการเปิดเสรีทางการเงิน ไทยจึงบอกได้ว่าไม่พร้อมและยกออกจากการเจรจา แต่ประเด็นสิทธิบัตรซึ่งจะกระทบกับคนจำนวนมากกลับไม่สามารถหยิบยกออกจากการเจรจาได้ ถ้าท่านเอาออกไม่ได้ นี่คือการเปิดตัวการคัดค้านที่พลังของพวกเราจะช่วยให้ท่านนำเรื่องที่เราเสนอไปพูดคุยกับสหรัฐได้มากขึ้น" นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายนิตย์กล่าวยืนยันว่า จะรับฟังข้อวิตกกังวลทั้งหมดจากภาคประชาชน เพื่อนำไปร่วมพิจารณา แต่การเจรจาครั้งนี้และที่ผ่านมายังไม่มีการพูดคุยเรื่องยา และยังไม่มีการตกลงยอมรับในเรื่องใด คาดว่ากว่าจะสรุปข้อตกลงกันได้ อาจต้องใช้เวลามากกว่า 2-3 ปี อีกทั้งข้อตกลงต่างๆ ก็สามารถเสนอให้แก้ไขตลอดจนยกเลิกข้อตกลงนั้นเสียก็ได้

"ชีวิตคนไม่ใช่สินค้าผมเข้าใจดี การเจรจาก็มีผลดีได้ อาจทำให้เกิดความร่วมมือที่ทำให้ยาถูกลงด้วยซ้ำ อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้" นายนิตย์กล่าวพร้อมทั้งตอบคำถามเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าการเจรจามีข้อมูลของประเทศอื่นด้วย จึงไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในที่สุดต้องมีเรื่องที่ปรากฏอยู่ในรัฐสภา

ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ขอคำยืนยันจากคณะผู้เจรจาว่าในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทยจะไม่ตกลงกับสหรัฐเกินไปจากข้อตกลงระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) รอบโดฮา ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนามีมาตรการเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมกับตนเอง

"มาตรฐานขั้นต่ำต้องอยู่ในกรอบดับบลิวทีโอ ไม่มีการเจรจานอกกรอบ เว้นแต่บางเรื่องที่ยังไม่มีการพูดคุยในดับบลิวทีโอ อย่างไรก็ตาม การเจรจาไม่ใช่การรักษาผลประโยชน์เท่านั้น แต่อาจจะเป็นการเกื้อกูลสุขภาพทำให้ได้รับประโยชน์มากขึ้น ทำไมไปลดถึงขั้นต่ำสุด" นายนิตย์กล่าว

พร้อมกันนี้นายนิตย์เสนอให้ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าพบคณะเจรจาของสหรัฐในช่วงบ่าย ซึ่งยินดีจะพบกับภาคประชาชนไทย แต่ตัวแทนทั้งหมดปฏิเสธ โดยระบุว่าต้องการประกาศจุดยืนและยื่นข้อเรียกร้องกับตัวแทนของตนเองเท่านั้น และเป็นหน้าที่ที่คณะผู้เจรจาของไทยต้องไปเจรจากับสหรัฐเอง

หลังเสร็จสิ้นการหารือ กลุ่มตัวแทนเครือข่ายได้ออกมาชี้แจงกับชาวบ้านที่รออยู่ด้านนอก โดยแสดงความผิดหวังที่คณะผู้เจรจาของไทยไม่หยิบยกประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิบัตรออกจากการเจรจา โดยให้เหตุผลว่าข้าราชการต้องทำตามหน้าที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจระดับนโยบาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net