Skip to main content
sharethis

2 พ.ค. 48 - บราซิลตบหน้าสหรัฐด้วยการปฏิเสธรับเงินช่วยเหลือโรคเอดส์จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท เพื่อเป็นการประท้วงต่อเงื่อนไขให้ผู้รับทุนต้องยอมรับที่จะต่อต้านการค้าประเวณี

การตัดสินใจของรัฐบาลบราซิลในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดฉากตอบโต้ต่อแนวนโยบายของรัฐบาลบุชและฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสภาคองเกรสที่พ่วงเอามาตรการด้านศีลธรรมมาเป็นเงื่อนไขกำกับในการให้เงินช่วยเหลือต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ, ยาเสพติด และการป้องกันเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนา

บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาเอดส์และเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศต่างๆ โดยส่วนหนึ่งของความสำเร็จมาจากการยอมรับและเปิดกว้างต่อการดำเนินงานในกลุ่ม เป้าหมายต่างๆ อาทิ กลุ่มพนักงานบริการ, กลุ่มชายรักเพศเดียวกัน, ผู้ใช้ยาเสพติด และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ดังนั้นหากยอมรับต่อเงื่อนไขที่สหรัฐกำหนดในการให้ความช่วยเหลือนั้น ก็เหมือนจะเป็นการขัดขาตัวเอง ซึ่งหมายรวมถึงการที่สมาคมพนักงานบริการจะต้องตำหนิและต่อต้านการค้าประเวณี

"เราไม่สามารถควบคุมโรคได้ถ้าต้องยึดตามหลักการของกลุ่มผู้เคร่งศาสนาต่างๆ" คือความเห็นของ ดร.เปโดร เชเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งบราซิลและประธานกรรมาธิการแห่งชาติซึ่งได้มีมติปฏิเสธเงินช่วยเหลือดังกล่าวตราบเท่าที่ยังคงมีเงื่อนไขให้ต่อต้านการค้าประเวณี กรรมาธิการซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรี, นักวิทยาศาสตร์, ผู้แทนจากคริสตจักรและนักกิจกรรม เห็นว่า ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯเป็นการแทรกแซงที่ก่ออันตรายต่อนโยบายของบราซิลที่ดำเนินการโดยคำนึงถึงความหลากหลาย, หลักจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน

บราซิลเป็นประเทศผู้รับความช่วยเหลือรายแรกที่แสดงการต่อต้านต่อความพยายามของสหรัฐฯที่จะใช้เงินช่วยเหลือมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเป็นเครื่องมือในการยึดแนวทางอนุรักษ์นิยมเพื่อแก้ปัญหาความเจ็บป่วยในสังคม นักกฎหมายในซีกของรีพับลิกันในกรุงวอชิงตันกำลังกดดันให้มีการตัดงบช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางหากการดำเนินงานนั้นไม่เป็นไปตามแนวทางของประธานาธิบดีที่ส่งเสริมไม่ให้มีเพศสัมพันธ์, ตำหนิการขายบริการทางเพศและต่อต้านโครงการเข็มสะอาดสำหรับผู้ใช้ยาเสพติด ขณะเดียวกันทางทำเนียบขาวก็ใช้เงินของรัฐบาลกลางไปในการอุดหนุนต่อกลุ่มองค์กรศาสนาให้ดำเนินโครงการด้านสุขภาพในประเทศต่างๆ โดยยึดหลักทางศาสนาเป็นแนวทางดำเนินงาน

"เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าบราซิลมีสิทธิที่จะเลือกทำอย่างนี้" คือคำกล่าวของวุฒิสมาชิกแซม บราวน์แบค จากพรรครีพับลิกัน แห่งรัฐแคนซัสซิตี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเขาหวังว่าเงินดังกล่าวจะถูกใช้ไปในประเทศที่มีนโยบายเอดส์ที่เป็นแนวทางเดียวกันกับแนวทางการบริหารของรัฐบาลบุช "เราคุยกันแล้วทั้งในรัฐบาลและวุฒิสภาเราเชื่อว่าการส่งเสริมการค้าประเวณีเป็นอันตรายต่อผู้หญิง" เขากล่าวทิ้งท้าย

สัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลบราซิลได้มีจดหมายถึงหน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้จัดสรรความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ โดยอธิบายถึงการตัดสินใจที่จะปฏิเสธการรับเงินช่วยเหลือที่ยังคงเหลืออยู่จากโครงการที่เริ่มมาแล้วเมื่อปี 2003 และจะดำเนินต่อไปถึงปี 2008 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯเป็นเพียงงบประมาณส่วนเล็กน้อยจากงบประมาณรวมทั้งหมดของบราซิลที่ถูกใช้ไปเพื่อแก้ปัญหาโรคเอดส์ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณด้านเอดส์มาจากรัฐบาลบราซิล อีก 7-8 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินจากธนาคารโลกและที่เหลือคือเงินจากสหรัฐฯและรัฐบาลประเทศอื่น ดร.เชเกอร์ เปิดเผยว่ารัฐบาลบราซิลจะเพิ่มงบประมาณเพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดหายไปจากเงินช่วยเหลือของสหรัฐฯ

โรสลีน แมททิว โฆษกขององค์กรด้านการช่วยเหลือแห่งสหรัฐฯ(USAID) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลบราซิลอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวน "เรื่องนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป" และ "เรากำลังอยู่ในกระบวนการตัดสินใจว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร"

สำหรับประเทศบราซิลการค้าประเวณีไม่ได้ถือว่าเป็นอาชญากรรม และสมาคมของพนักงานบริการก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการแก้ไขปัญหาเอดส์มาโดยตลอด เงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯที่ให้ต่อรัฐบาลบราซิลในครั้งนี้ ประมาณ 190,000 เหรียญสหรัฐเป็นเงินที่จะให้แก่กลุ่มพนักงานบริการ 8 กลุ่ม ทั่วประเทศ

ซึ่งในเรื่องนี้ กาเบรียลล่า ไลติ ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานบริการ ซึ่งเคยเป็นพนักงานบริการมาก่อนได้เปิดเผยว่า เธอได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกับทางUSAIDเป็นเวลานาน เพื่อยืนยันให้มั่นใจว่าเงินของสหรัฐฯจะถูกใช้เพื่อให้การศึกษาเรื่องเอดส์และส่งเสริมการป้องกัน โดยจะไม่นำไปใช้ในการทำงานด้านสิทธิของพนักงานบริการ จนออกมาเป็นข้อตกลงจำนวน 50 หน้า แต่ในที่สุดก็ล่มเพราะกลุ่มของเธอไม่ต้องการที่ตำหนิหรือคัดค้านการค้าประเวณี

บราซิลเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคเอดส์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข แม้ว่ารัฐบาลจะกระตุ้นให้คนไม่มีเพศสัมพันธ์และมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตัวเองเท่านั้น แต่ความพยายามในการป้องกันก็เน้นไปที่การให้การศึกษาเรื่องถุงยางและกระจายถุงยางให้ใช้ได้ทั่วถึงมากกว่า นอกจากนี้ในปี 1996 รัฐบาลได้เริ่มจัดการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรค๊อกเทลฟรีเพื่อยืดชีวิตของผู้ติดเชื้อ

ผลที่ได้จากความพยายามดังกล่าวทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่าที่มีการคาดประมาณไว้มาก จากที่คาดการว่าในปี 2002 บราซิลจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 1.2 ล้านคน แต่กลับพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโดย ประมาณการมี 660,000 ราย ในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเกือบ 40 ล้านคน

"ทำไมเราจะต้องยอมรับแนวทางที่ต่างไป ทั้งที่สิ่งที่เราทำอยู่นั้นประสบผลสำเร็จมากว่า 10 ปีแล้ว" คือทัศนะของโซเนีย คอเรีย นักกิจกรรมด้านเอดส์ชาวบราซิล และประธานร่วมของคณะทำงานนานาชาติว่าด้วยเรื่องเพศและนโยบายสังคม ซึ่งถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระดับโลกของนักวิจัยและนักกิจกรรม

ข้อกำหนดให้ต่อต้านการค้าประเวณีออกมาตั้งแต่ ปี 2003 โดยถูกบรรจุไว้ในกฎหมายสองฉบับคือกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเอดส์ และกฎหมายปราบการค้าประเวณีหรือการค้ามนุษย์ในธุรกิจบริการทางเพศ

(แปลและเรียบเรียงจาก Brazil Refuses U.S.AIDS Funds, Rejects Conditions, โดย Michael M. Phillips และ Matt Moffett, Wall Street Journal, หน้า A3)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net