Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รูปจาก www.watcherry.iirt.net
----------------------------------------

ความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิง อาจไม่ใช่เรื่องของเพศสภาพภายนอกอีกต่อไป
มีใครเคยตั้งคำถามบ้างไหมว่า ทำไมเพศหญิงและชายจึงแตกต่างกัน ทางสรีระก็อาจกล่าวได้ว่าธรรมชาติเป็นผู้สร้างมาให้เป็นเช่นนั้น แต่บทบาทและหน้าที่ทางสังคมทำไมถึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในสังคมไทย

ภรรยาผู้ตกอยู่ภายใต้เจตจำนงของสามี

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงมหาเวสสันดรชาดกซึ่งเป็น 1 ใน 10 พุทธชาติชาดกของพระพุทธเจ้า ตอนหนึ่งกล่าวถึงเทพยดาที่ได้ยกย่องสรรเสริญและแซ่ซ้องถึงคุณธรรมของนางมัทรีซึ่งเป็นภริยาอันประเสริฐ ในการเป็นผู้สนับสนุนเจตจำนงในการบริจาคทานของพระสวามีของนางที่ได้ยกกัณหาและชาลีให้แก่พราหมณ์ชูชก จนในที่สุดพระเวสสันดรได้บรรลุถึงเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของชีวิตคือได้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา

การอบรมกล่อมเกลาของสังคมไทย ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาในเรื่องดังกล่าวไม่น้อย โดยการสั่งสอนให้สตรีเอาแบบอย่างนางมัทรี ซึ่งถือเป็นมรดกตกทอดที่มาพร้อมกับหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนานั่นเอง และยังได้กลายเป็นวาทกรรมย้ำเตือนพฤติกรรมทางเพศที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือการให้เจตจำนงและความปรารถนาของสามีอยู่เหนือเจตจำนงและความปรารถนาของผู้เป็นภรรยา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หญิงเมื่อตกเป็นภรรยาแล้วย่อมอยู่ภายใต้สามีของนางตลอดไป

การสร้างความคิดความเชื่อดังกล่าว ได้ปลูกฝังในรากลึกของสังคมไทยมาเนิ่นนาน ทำให้สตรีเพศไม่ตระหนักถึงการมีอำนาจที่เหนือกว่าหรืออำนาจต่อรองใดๆ เพราะยึดแบบฉบับของภรรยาที่ดีหรือศรีภรรยาสุดประเสริฐ ซึ่งเธอจะต้องดูแลรับผิดชอบในครัวเรือน จนบางครั้งได้กลายเป็นทาสในครอบครัวไปเสียแล้ว เพราะเวลาทั้งหมดเธอจะถูกใช้ไปในเรื่องการหุงหาอาหาร การทำความสะอาด ดูแลเครื่องนุ่งห่ม การเลี้ยงดูลูกๆ การปรนนิบัติสามี เป็นต้น จนแทบไม่มีเวลามาดูแลรักษาความงามของตนได้สักเท่าไรนัก

อำนาจของความงามที่ถูกลืม

ทั้งนี้ ความงามของสตรีหรือความเป็นเพศหญิงที่สามารถตอบสนองความต้องการทางเพศของชาย ถือเป็นพลังอำนาจสำคัญอันหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของผู้หญิงโดยธรรมชาติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสตรีใดจะตระหนักสำนึกรู้ในอำนาจและรู้จักวิธีใช้พลังอำนาจที่เธอมีอยู่นั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ตระหนักเสียแล้ว พลังอำนาจที่ว่านั้นก็ดูเหมือนจะไม่มีเอาเสียเลย

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นมาสร้างศักยภาพแห่งอำนาจที่มาจากความงามของนางได้ เพราะเธอตกอยู่ใต้พันธนาการทั้งความเป็นตัวตนและคุณค่า ความหมายของเพศหญิงนั้นถูกผูกติดอยู่กับความสัมพันธ์ที่มีกับเพศชาย โดยในสมัยก่อนเราจะสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าเพศหญิงจะดำรงค่าและมีความหมายอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเธอเป็นบุตรสาวของใครหรือเป็นภรรยาของใคร ซึ่งเชื่อว่าเพศหญิงเป็นเพียงวัตถุหรือกรรมสิทธิ์ของบิดา จนทำให้เธอไม่รู้จักตระหนักในเจตจำนงสิทธิเสรีภาพใดๆ เพราะการตกอยู่ในอำนาจของเพศชายดังกล่าว กลับถือเป็นคุณธรรมอันประเสริฐของเพศหญิงนั่นเอง

การตกเป็นทาสให้ถึงที่สุดของเพศหญิง ยังกระตุ้นให้เพศชายต้องพยายามหากุศโลบายต่างๆ เพื่อให้ขวัญและกำลังใจแก่ศรีภรรยา ด้วยเกรงว่าจะสูญเสียพลังอำนาจของตนไป เช่น การยกคำพูดว่า "แท้จริงแล้วเสน่ห์ใดๆ ก็ไม่สามารถมาเทียบ เสน่ห์ปลายจวัก ที่ทำให้สามีรักจนตัวตาย" เป็นต้น

มายาแห่งความเป็นชายและหญิง

จากความเชื่อเดิมสังคมได้กำหนด ความเป็นเมีย การตั้งครรภ์ และ ความเป็นแม่ แก่เพศหญิง โดยเป็นพันธนาการหรือโซ่ตรวนทางสังคมที่มีไว้เพื่อตีกรอบพวกเธอ ทั้งวาทกรรมของคัมภีร์ไบเบิลและพุทธชาดก ต่างปิดกั้นและพยายามทำลายที่มาของอำนาจของเพศหญิงที่เธอจะสามารถมีเหนือผู้ชายได้ โดยการปิดช่องในความงามและความรู้นั่นเอง

แม้ว่าความเข้าใจในมุมมองของความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิงจะมีหลากหลายก็ตาม แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ดำรงอยู่จริงในสังคมมีทั้งความหลากหลาย และอาจไร้ต้นตอของความหมายโดยสิ้นเชิง เนื่องจากความแตกต่างของประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ถ่ายทอดกล่อมเกลามนุษย์มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีความทับซ้อนซ่อนลึกในการหาคำตอบ

สำหรับหน้าที่ของสตรีศรีภรรยาของสังคมไทยที่ต้องทำตามกรอบจารีตนิยม ด้วยการทำงานบ้าน คอยปรนนิบัติสามี และเป็นแม่ที่ดีของลูก ฯลฯ เป็นที่น่าขบคิดว่ากรอบธรรมเนียมการปฏิบัตินี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรกัน

การหาคำตอบในเรื่องนี้มีหลายนักคิดพยายามจำลองภาพการดำรงชีวิตมนุษย์ในอดีต ก่อนที่จะมาเป็นครอบครัวและสังคมดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งบางครั้งอาจมองว่าเป็นธรรมดาและนี่คือสิ่งที่ถูกกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้า

บางครั้งการไม่รู้และโยนให้เป็นความรับผิดชอบของพระเจ้าทั้งหมดก็เป็นการหลอกลวงหรือบิดเบือนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไปเสียสิ้น แต่เมื่อการปฏิบัติทางเพศที่มีความแตกต่างนี้ มีรากเหง้าจากความเชื่อซึ่งตกทอดกันมา จนตกผลึกในความคิดของสังคม เนื่องจากต่างเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม แม้จะมีผู้เสียประโยชน์หรือได้รับผลร้ายจากการกระทำดังกล่าวก็ตาม แต่การปลุกให้สตรีเพศปฏิเสธ ด้วยการลุกขึ้นมาปฏิวัติความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า

ความแตกต่างทางเพศมีที่มาและที่ไป และอำนาจก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แฝงเร้นอยู่เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครหยิบยกมาใช้ตรงส่วนไหน ในการต่อสู้ระหว่างเพศชายและหญิงนั่นเอง

ติล์ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net