Skip to main content
sharethis

"ปัญหาการแย่งชิงฐานทรัพยากรที่ดิน น้ำ และพื้นที่ป่าในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง เมื่อนำมาประมวลกับคดีฆ่าพระสุพจน์แล้ว รู้สึกน่าตกใจ เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งเมื่อกลับไปแล้ว ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง" นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว หลังการประชุมรับฟังข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคดีฆ่าพระสุพจน์ สุวโจ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

จากกรณีเหตุฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวจโน (ด้วงประเสริฐ) เจ้าอาวาสสถานปฏิบัติธรรมสวนป่าเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สมาชิกกลุ่มเสขิยธรรม ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาและอนุรักษ์ผืนป่ากว่า 700 ไร่ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา จนเป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั่วประเทศ และเครือข่ายองค์กรต่างๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าไปตรวจสอบและเร่งคลี่คลายคดีดังกล่าวนั้น

ล่าสุด ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสช.) และอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ได้ลงมาตามคดีฆาตกรรมพระของสำนักสงฆ์สวนเมตตาธรรม รวมถึงประเด็นการแย่งชิงฐานทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่า ว่ามีความขัดแย้งกันจริงหรือไม่ โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับคดีดังกล่าว มาชี้แจงข้อมูลในแต่ละด้าน

นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า กล่าวว่า ที่เชิญแต่ละหน่วยงานมาชี้แจงให้ข้อมูลในครั้งนี้ ก็เพื่ออยากให้ทางตำรวจได้มองเห็นปัญหาและภาพรวมทั้งหมด เพราะดูเหมือนมีข่าวมาหลายกระแส และน้ำหนักเน้นไปที่การฆ่า
โดยตั้งเป้าในวงแคบๆ ว่าเป็นการฆาตกรรมเฉพาะในสถานที่เกิดเหตุเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งน่าจะต้องมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ยังไม่ได้มีการสอบปากคำพระ หรือผู้ที่ใกล้ชิด ซึ่งทุกฝ่ายบอกว่าพร้อมและยินดีที่จะให้ปากคำอย่างละเอียด รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่รอบๆ บริเวณสำนักปฏิบัติธรรมด้วย

"นอกจากนั้น ควรจะต้องมีการประมวลประวัติความเป็นมาของที่ดินบริเวณสำนักปฏิบัติธรรมแปลงนี้ ว่ามีปัญหาความขัดแย้งในประเด็นอีกหรือไม่" นางสุนี กล่าว

ซึ่งนางสุนี ได้กล่าวถึง กรณีลุ่มน้ำฝาง ในพื้นที่ 3 อำเภอ ซึ่งทาง กสช.ได้ติดตามมาโดยตลอดพบว่า ยังมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องที่ดิน น้ำ และพื้นที่ป่า ซึ่งกลุ่มทุนได้เข้ามารุกพื้นที่กันมาก และเมื่อนำมาต่อเข้าด้วยกันแล้ว จะพบว่า ในขณะนี้ สถานการณ์การบุกรุกป่า หรือต้องการพื้นที่ป่าไปทำสวนขนาดใหญ่เกิดขึ้นเต็มไปหมด ทำให้เห็นเชื่อมโยงได้ชัดว่า นายทุนไม่ได้จำกัดพื้นที่ว่าจะมีเอกสารสิทธิหรือไม่ เพราะว่ากลุ่มทุนสามารถจัดการกับสวนส้ม สวนไม้ผลขนาดใหญ่ได้ ผลประโยชน์ตรงนี้นั้นมหาศาล โดยไม่จำเป็นต้องมีเอกสารสิทธิ

ที่ผ่านมา นโยบายของรัฐ รวมทั้งนโยบายของแต่ละกรมกองยังไม่มีความชัดเจน บางเรื่องรู้อยู่เต็มที่ว่ามีการบุกรุกป่า แต่เนื่องจากนโยบายไม่ชัดเจน ก็คาราคาซัง ตรงนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีมากๆ เพราะทำให้กลุ่มทุนคิดว่าตัวเองยังคงมีโอกาส มีหวังจะบุกรุกพื้นที่ป่า และซื้อสิทธิจากชาวบ้านได้ และในที่สุดก็เข้ามายึดถือครองที่ดินได้ง่ายขึ้น

"เพราะนโยบายของรัฐนั้นยังกำกวม เช่น จะแปลงป่า แปลงที่ดิน สปก.มาให้เช่า เพื่อทำธุรกิจ ซึ่งเมื่อฟังข้อมูลที่เกิดปัญหาในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอ รวมทั้งคดีฆ่าพระสุพจน์แล้ว รู้สึกน่าตกใจ เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งเมื่อกลับไปแล้ว ทาง กสช.จะได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังรัฐบาล รวมทั้งติดตามความคืบหน้า การประกาศเขตพื้นที่ควบคุมสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าประกาศได้ ก็จะช่วยป้องกันการรุกพื้นที่ปลูกสวนส้มขนาดใหญ่ได้"

ด้าน นายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวหลังรับฟังปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าของกลุ่มนายทุนในพื้นที่ลุ่มน้ำฝางจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ว่า สวนส้ม เป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับอำเภอ เมื่อพบการบุกรุกพื้นที่ป่า ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด เพราะเมื่อจัดการไม่เด็ดขาด มันก็ส่งผลทำให้เกิดการแย่งชิงที่ดิน น้ำ และพื้นที่ป่า เกิดความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน และชุมชน

"เพราะฉะนั้น จะต้องทำขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน ว่าส่วนไหนเป็นพื้นที่ป่า ป่าชุมชน หรือที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน สปก. มีการคาบเกี่ยวกันตรงไหน และต้องรีบป้องกันเพื่อไม่ให้ใครมาฉวยโอกาส ในช่วงที่สถานการณ์กำลังร้อนๆ น่ากลัวว่า กำลังอยู่ในภาวะคุกคามทั้งทางตรงทางอ้อม และถือโอกาสเข้ามายึดครองที่ ดังนั้นต้องมีการตีกรอบกันให้ชัด ให้แขวนเอาไว้ก่อน เพื่อให้คดีนั้นมีการคลี่คลายเสียก่อน" นายปริญญา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net