Skip to main content
sharethis








เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 22 สิงหาคม 2548 ที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะกรรมาธิ การการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความ จัดเสวนาเรื่อง "พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร" มีประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมกว่า 1 พันคน

 



นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวว่า ถ้าวัดจากจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย ระดับความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังน่าเป็นห่วง เพราะตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 830 ราย โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นห่วง โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งประชาคมระหว่างประเทศ สหประชาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชน


 


นายสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ไทยไม่สามารถปิดกั้นความสนใจจากข้างนอก เรื่องความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกแล้ว มีวิธีเดียวที่จะนำมาใช้แก้ปัญหานี้ได้ คือ การใช้สันติวิธีภายใต้กระบวนการรัฐธรรมนูญ สาเหตุที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมีอำนาจไม่เพียงพอ แต่เกิดจากการใช้อำนาจเกินขอบเขต ก่อให้เกิดปัญหาการฆ่าตัดตอน ใช้อำนาจเกินเลย โดยไม่มีความรับผิดชอบ หรือหาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้


 


นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายฝ่ายบอกว่า พระราชกำหนดนี้ใช้แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ได้ แถมยังมีแนวโน้มจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น เพราะไปมอบอำนาจล้นฟ้าให้กับฝ่ายบริหาร โดยไม่มีกลไกตรวจสอบ นี่คือ สิ่งที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเป็นห่วง นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ ยังทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทย ในสายตาประชาคมระหว่างประเทศเสียหายอีกด้วย


 


นางชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การที่จะรักษาความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นั้น อยู่ที่ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมมีคุณภาพ กลไกรัฐมีประสิทธิภาพเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ไม่ใช่พัฒนากฎหมายให้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นสำคัญสำหรับการรักษาความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการรักษาความสงบ เพื่อให้ประชาชนเชื่อและมั่นใจในกลไกของรัฐ นโยบายที่ออกมาตอบโต้ด้วยความรุนแรงประชาชน จะยิ่งให้ประชาชนหวาดกลัวกลไกรัฐ ทำให้แก้ปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น


 


นายสุวโรช พะลัง ประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการยุติธรรม ต้องการมุมมองจากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสีย จากการบังคับใช้พระราชกำหนดนี้ ทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จากนั้น จะประมวลผลนำส่งให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยกรรมาธิการชุดนี้พร้อมจะช่วยยกร่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับคนไทยทั้งประเทศด้วย


 


ต่อมา ในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม นายวิรัตน์ กัลยาศิริ รองประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวสุรปหลังเสร็จสิ้นการประชุมกลุ่มย่อยว่า ผู้เข้าร่วมเสวนาไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ และเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติกับชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสมือนเป็นคนไทยคนหนึ่ง สำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด คณะกรรมาธิ การฯ จะรวบรวมมอบให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำเสนอรัฐบาลต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net