Skip to main content
sharethis

อลหม่านกันเต็มทีสำหรับการซื้อขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง ชินคอร์ป กับกองทุนเทมาเสก ของสิงคโปร์ มูลค่าว่า 7.33 หมื่นล้านบาท เมื่อ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยการนี้ไม่ต้องจ่ายภาษีใดๆ สักแดงเดียว


 


แม้ท้ายที่สุดของกระบวนการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะไม่ต้องเสียภาษีจริง เพราะซื้อผ่านผู้ถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ปในฐานะบุคคลธรรมดา ซึ่งในกรณีแบบนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์


 


แต่คำถามกลับระดมยิงมาจากทุกทิศทาง โดยเฉพาะกระบวนการคดเคี้ยวเลี้ยวลดก่อนจะมาโผล่บนกระดานหุ้นที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อน โดยมีชื่อบริษัทต่างชาติ "แอมเพิล ริช" เป็นเครื่องหมายคำถามอันใหญ่


 


แอมเพิล ริช หรือ Ample Rich Investments Ltd เป็นบริษัทที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปจดทะเบียนจัดตั้งไว้ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จินไอร์แลนด์ และบริษัทที่เขาจัดตั้งเองนี้ก็ได้ซื้อหุ้นชินคอร์ปของตัวเขาเอง เป็นจำนวน 329,260,000 หุ้น (10.98%) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 บนกระดานรายใหญ่ในตลาด


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบอีกทีในกาลต่อมาก็จะพบว่าทักษิณ ไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทนี้แล้ว แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าใครเป็นเจ้าของ


 


บริษัทนี้สำคัญ เพราะก่อนที่จะมีการเทขายหุ้น 49.595 % ให้เทมาเสกเป็นมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาทนั้น (แบ่งเป็นของพิณทองทา 604,000,000 หุ้น , พานทองแท้ 458,550,220 หุ้น , ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร20,000,000 หุ้นบรรณพจน์  ดามาพงศ์ และภริยา 404,589,900 หุ้น)  บริษัทนี้ได้ขายหุ้นให้กับ "พานทองแท้" และ "พิณทองทา" หมดทั้ง 329,260,000 หุ้น โดยแบ่งให้เขาและเธอคนละครึ่ง ในราคาหุ้นละ 1 บาทเท่านั้น ในขณะที่ไปขายให้เทมาเสกในราคา 49.25 บาทต่อหุ้น


 


ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นก่อนดีลซื้อขายชิน คอร์ปเพียง 1 วัน อีกทั้งยังตรวจไม่พบการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วย


 


เขาก็เลยถามกันให้แซดว่า ถ้าเข้าข่ายขายนอกตลาดหลักทรัพย์ ทำไมไม่ได้เสียภาษีสำหรับกำไรบานตะเกียงประมาณ 16,000 ล้านบาทนี้ (329,260,000 คูณกำไรต่อหุ้น 48.25) 


 


แต่ถ้างานนี้พบว่าขายกันในตลาดหลักทรัพย์จริง นี่ถือเป็นการอินไซเดอร์เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นลักษณะการรู้ข้อมูลภายในกันล่วงหน้าก่อนหรือไม่ ถ้าใช่ ผิดกฎหมาย ต้องโดนยึดกำไร 16,000 ล้านบาท แถมอาจถูกปรับเพิ่มอีกเท่าตัว


 


เรียกว่าโดนทุกทาง !


 


อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ดีลครั้งนี้มีการใช้ข้อมูลภายในการซื้อขายหุ้นหรือไม่ เนื่องจากนับตั้งแต่ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา ราคาหุ้นชินคอร์ป เคลื่อนไหวอยู่เพียง 37 บาท และขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสข่าวการขายกิจการของตระกูลชินวัตรออกมา โดยที่ตลาดไม่ได้ขึ้นเครื่องหมายเตือนตามกติกา เนื่องจากมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เป็นการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น


 


เรื่องนี้ถ้าขืนยังชักช้า ไม่ชัดเจน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกมาขู่แล้วว่า จะไปแจ้งความดำเนินคดีกับ ก.ล.ต. ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


 


ยิ่งไปกว่านั้น เขายังสงสัยกันไปไกลกว่า ไอ้แอมเพิล ริช นี่มันของใครกัน เพราะแม้ทักษิณจะอ้างว่าขายหุ้นของแอมเพิล ริช ซึ่งตัวเองถืออยู่ 100% ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เหตุใดจึงไม่ปรากฏเป็นรายได้ที่แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  


 


หวั่นเกรงกันเหลือเกินว่าจะเป็นการซุกหุ้นภาค 2 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเป็นเรื่องแน่นอน อาจนำไปสู่นำไปสู่การเสนอถอดถอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216(6) ได้


 


แต่หลายคนอาจสงสัย กะอีแค่ชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ แอเพิล ริช ทำไมตรวจสอบไม่ได้ ก็นี่เองที่บริษัทใหญ่ยักษ์ของโลกจำนวนมากเลือกไปจดทะเบีบนบริษัทที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เพื่อหลบเลี่ยงภาษีและฟอกเงิน เพราะที่นั่นเขามีเงื่อนไขน่ารักน่าชังดังนี้


 


1.การตั้งบริษัทไม่ต้องกำหนดสัญชาติ 2.ไม่ต้องแจ้งชื่อเจ้าของกิจการ 3.ไม่มีกฎใดๆ สำหรับธุรกิจต่างชาติหรือผู้ถือหุ้น 4.ใช้ตัวแทนถือหุ้นของบริษัทได้ 5.กรรมการหรือเจ้าหน้าที่บริษัทไม่ต้องอาศัยอยู่ในบริติช เวอร์จิน


 


6.ไม่ต้องชำระทุนจดทะเบียน 7.ถ้าเป็นบริษัทข้ามชาติ ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ 8.ไม่ควบคุมเรื่องการแลกเปลี่ยนเงิน 9.ไม่ต้องแสดงงบดุลประจำปี และ 10.ทุกอย่างปิดเป็นความลับได้ ไม่จำเป็นต้องแจ้งรายละเอียดข้อมูล


 


ส่วนกฎหมายจำกัดเพดานให้ต่างชาติถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมได้ 49% นี้ก็เพิ่งมีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อเพิ่มเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติจาก 25% เป็น 49% และมีผลบังคับใช้เมื่อ 21 มกราคม 2549 นี้เอง เรียกว่าแก้กันหมาดๆ ก่อนขาย ชนิดหมึกไม่ทันแห้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตอนยังไม่คิดขายหุ้น รัฐบาลทักษิณเองที่ปรับลดให้ต่างชาติถือหุ้นได้แค่ 25% จากเดิมที่อนุญาตให้ถือหุ้นอยู่แล้ว 49% เพื่อสกัดการเข้ามาของทุนต่างประเทศในบริษัทคู่แข่ง


 


แต่ในกรณีของเทมาเสก เอาเข้าจริงแล้วถือหุ้นในชินคอร์ปเกิน 49% ที่กฎหมายกำหนดไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยอาศัยการถือหุ้นแบบปิรามิด หรือการถือหุ้นแบบนอมินี แบบที่ตั้งบริษัทไทยบังหน้า ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเทมาเสกถือหุ้นใหญ่ทั้งนั้น ซ้อนกันไปมาจนนักวิเคราะห์หลายคนออกมาบอกว่า เอาเข้าจริง เทมาเสกถือหุ้นในชินคอร์ปเกินกว่า 70%  และถือหุ้นในเอไอเอส บริษัทเป้าหมายที่เขาอยากได้จริงๆ กว่า 97%


 


ดูได้จากชาร์ต (ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ) 


 



 


 



 


ถามว่าในเมื่อสน "เอไอเอส" แล้วทำไมไม่ซื้อแต่เอไอเอส มาซื้อชินคอร์ปยกยวงให้ยุ่งยากเปลืองตังค์ทำไม เหตุผลก็เพื่อให้ (ชินคอร์ป) ปลอดภาษี เพราะหากซื้อเฉพาะเอไอเอสที่ชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ 42% ก็เท่ากับว่าเป็นการขายของนิติบุคคล แน่นอนชินคอร์ปในฐานะผู้ขายต้องจ่ายภาษี ซึ่งมีการประเมินกันว่า ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลมากกว่า 40,000 ล้านบาท และตระกูลชินวัตรซึ่งถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ป ต้องจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาจากเงินปันผลอีก 20,000 ล้านบาท


 


แต่เมื่อดีลครั้งนี้ซื้อผ่านผู้ถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ปในฐานะบุคคลธรรมดา ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีถูกต้องตามกฎหมาย แน่นอน มาถึงยุคนี้ถูกกฎหมายไม่จำเป็นต้องถูก "จริยธรรม"


 


เรื่องนี้การถือหุ้นระดับชาติที่ใช้วิธีการแบบซิกแซกนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมไทย ชนิดที่สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความผิดหวังอย่างแรงว่า เมื่อผู้นำทำเสียเองเช่นนี้ ก็เท่ากับปิดทางที่จะปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นได้ เพื่อให้เมืองไทยหลุดพ้นข้อกล่าวหาเสียทีว่า เป็นประเทศที่มีการถือหุ้นแบบนอมินีได้ง่ายที่สุดในเอเชีย


 


การเลี่ยงภาษีล็อตใหญ่ครั้งนี้ พูดแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องขุดคุ้ยเรื่องเก่ากันในช่วงที่ทักษิณขายหุ้นให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท และคุณหญิงพจมาน ขายหุ้นให้บรรณพจน์ ชินวัตร 26.8 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 10 บาทเช่นกัน โดยทั้งสองรายการขายนอกตลาด ซึ่งในครั้งนั้น สรรพากรตีความว่าไม่ต้องจ่ายภาษี เนื่องจากขายในราคาทุนในฐานะผู้ซื้อ หากมีการขายในอนาคตและมีกำไร ต้องจ่ายภาษี


 


เรื่องนี้ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่าไม่ต้องเสียภาษีจริงหรือไม่ เพราะนักกฎหมายหลายคนเห็นตรงกันว่า การละเว้นการเก็บภาษีของกรมสรรพากรในกรณีดังกล่าว เป็นเพียง "ความเห็น" ไม่ใช่ "คำวินิจฉัย" ที่เป็นบรรทัดฐาน


 


หลายคนจึงสงสัยในมาตรฐานของสรรพากรไทยอย่างช่วยไม่ได้


 


นี่ยังไม่รวม คำถามอันห่างไกลเหลือเกินเกี่ยวกับ "จริยธรรมทางการเมือง" ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ กับการขายหุ้นในธุรกิจครอบครัว-เครือญาติด้วยกรรมวิธีซับซ้อนซ่อนเงื่อนว่า มีความเหมาะสมหรือไม่


 


รวมทั้งข้อสังเกตเรื่องความมั่นคงของชาติ เมื่อต่างชาติเข้ามาบริหารกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมข้อมูลข่าวสารทางราชการ รวมทั้งสื่ออย่างไอทีวีด้วย อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่า "ชินวัตร" จะซื้อคืนสองกิจการนี้ทีหลัง


 


ทั้งนี้ เราจะพบว่า ตลอดอายุการเป็นนายกรัฐมนตรี กำไรในชินคอร์ปโดยเฉพาะเอไอเอสได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยธรรมภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ระบุว่า เมื่อเทียบผลกำไรที่บริษัทชินคอร์ปได้รับ ระหว่างปี 41-47 บริษัทชินคอร์ป เอไอเอส และชินแซทฯ มีกำไรสุทธิรวม 111,877 ล้านบาท โดยก่อนที่จะเป็นนายกฯ  3 บริษัทมีกำไรสุทธิเพียง 26,221 ล้านบาท แต่เมื่อเป็นนายกแล้ว บริษัทกลับมีกำไรสูงขึ้น 59,435 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสูงขึ้น 226.7% โดยเอไอเอสเป็นธุรกิจที่ให้ผลกำไรมากที่สุด


 


โดยกำไรเหล่านี้ได้มาจากการที่ เอไอเอส ได้สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นรายแรกของไทย ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้จากบีโอไอ เป็นจำนวนเงินกว่า 16,000 ล้านบาท, โครงการไอพีสตาร์ในพม่าได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากเอ็กซิมแบงก์หลายพันล้าน, ไอทีวีได้ลดสัมปทานจาก 25,200 ล้านบาท เหลือเพียง 150  ล้านบาทต่อปี หรือ  3,000  ล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน และเปลี่ยนผังรายการโดยลดรายการข่าว แต่ให้เพิ่มรายการด้านบันเทิง ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไม่น้อยกว่า 40,000 - 50,000 ล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน


 


สำหรับการเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ นั้น นอกจากจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นำโดยนักวิชาการและ สื่อมวลชนแล้ว ฝ่ายค้านก็ตั้งทีมขุดคุ้ยเรื่องนี้กันอย่างสุดฤทธิ์ และล่าสุด องค์กรผู้บริโภคได้หารือกับกลุ่มนักกฎหมาย เพื่อที่จะหาประเด็นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากกลุ่มบริษัทในเครือชินคอร์ป เช่น บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บริษัทชินแซทเทลไลท์ (แซทเทล) บริษัทไอทีวี (ไอทีวี) เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภค และมีผลกระทบถึงความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในอนาคต


 


.................................................................


 ข้อมูลจาก          -    www.manager.co.th 


-          www.korbsak.com


-          www.bangkokbiznews.com


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net