Skip to main content
sharethis


                     


 


ประชาไท—10 ก.พ. 2549 พรรคแนวร่วมภาคประชาชน (www.pcpthai.org) เสนอวาระคนจน กลางกระแสต้านทักษิณ ต้องปฏิรูปการเมืองเพื่อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เป็นกรรมาชีพ เกษตรกร คนจน และเยาวชนนักศึกษา


 


โดยแถลงการณ์พรรคแนวร่วมภาคประชาชนระบุว่าท่ามกลางกระแสการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ และการเสนอให้ปฏิรูปการเมือง องค์กรต่างๆในภาคประชาชน จะต้องยืนหยัดเข้มแข็งแสดงจุดยืนอิสระเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เป็นกรรมาชีพ เกษตรกร คนจน และเยาวชนนักศึกษา


 


"เราจะไม่ยอมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระแส "ขอนายใหม่" ตามหลังคนอย่าง สนธิ หรือพรรคประชาธิปัตย์  และเราจะต้องไม่ถูกเขี่ยออกจากใจกลางกระบวนการปฏิรูปการเมือง เหมือนที่เกิดขึ้นในยุครัฐธรรมนูญปี 2540"


 


สำหรับปัญหาที่พรรคแนวร่วมภาคประชาชนระบุว่าจะต้องแก้ไขหากมีการปฏิรูปการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอนาคตได้แก่


 


1. ความล้มเหลวขององค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนและพรรคการเมืองในรัฐสภา ในการตรวจสอบและยับยั้งรัฐบาลไทยรักไทย ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติด ความรุนแรงของรัฐในภาคใต้ การอุ้มฆ่าผู้นำชุมชนและทนายสมชาย ...การคอรัปชั่น หรือแม้แต่การที่รัฐบาลพร้อมจะเซ็นสัญญา FTA โดยไม่ปรึกษาหารือกับประชาชน พิสูจน์ว่าแนวทางรัฐธรรมนูญปี 2540 ตั้งอยู่บนความคิดที่ผิดพลาด ในความเป็นจริงความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ว่าจะเป็นในชุมชน ในภาคแรงงาน ภาคเกษตร หรือขบวนการนักศึกษา เป็นพลังและที่พึ่งในการตรวจสอบและปกป้องเสรีภาพและความเป็นธรรมในสังคม


 


2. ปัญหาการครอบงำสังคมโดยกลุ่มทุน ทั้งข้ามชาติและไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการลดอิทธิพลผูกขาดของธุรกิจใหญ่อย่างเร่งด่วน สิ่งเหล่านี้ทำได้ กระแสต้านกลุ่มทุนใหญ่ในระดับสากลเกิดขึ้นแล้วในขบวนการ WSF


 


·  ต้องลดความเหลื่อมล้ำและการกอบโกยผลประโยชน์ของกลุ่มทุน โดยรื้อถอนระบบโครงสร้างภาษี ต้องยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและลดภาษีน้ำมันซึ่งเป็นภาระกับคนจน ต้องเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีรายได้ในอัตราสูงพิเศษสำหรับเศรษฐี ต้องมีการขยายฐานเก็บภาษีสู่ทุกส่วนของคนที่มีรายได้สูงกว่าคนทั่วไปในสังคม


 


·  ต้องมีการนำภาษีที่เก็บจากคนรวยมาพัฒนาระบบสวัสดิการ ต้องมุ่งหน้าสู่รัฐสวัสดิการที่เป็นสิทธิของพลเมืองทุกคนไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา หรือสวัสดิการสังคมอื่นๆ


 


·  สาธารณูปโภคหลักๆ น้ำ ไฟ การคมนาคม ระบบการศึกษาทุกระดับ และโรงพยาบาล ควรนำมาอยู่ในภาครัฐแทนการถือครองโดยกลุ่มทุนเอกชน


 


·  ต้องมีการปฏิรูประบบบริหาร สวัสดิการทุกชนิด สาธารณูปโภค โรงเรียน โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย ภายใต้รูปแบบบริหารใหม่ที่เน้นประชาธิปไตย ทุกคณะบริหาร ควรจะมีสามส่วนที่มีอำนาจเท่าเทียมกันคือ


1. ผู้แทนของคนที่ทำงานในองค์กร 2. ผู้แทนขององค์กรภาคประชาชน สหภาพแรงงานหรือองค์กรเกษตรกร 3. ผู้แทนของภาครัฐทั้งส่วนกลางและทั้งถิ่น


 


·  ที่ดิน ต้องมองว่าเป็นมรดกของส่วนรวมไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของนายทุนใหญ่ ต้องมีการสนับสนุนป่าชุมชนการถือครองที่ดินร่วมโดยชุมชนต่างๆ และต้องมีการกระจายที่ดินให้เกษตรกรรายย่อย


 


3. ความรุนแรงที่รัฐใช้ในสังคมเป็นอุปสรรคในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด 3 จังหวัดภาคใต้หรือการปราบปรามขบวนการประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลาและพฤษภาทมิฬ


 


·  ต้องมีการจำกัดความสามารถของรัฐในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ผ่านการตัดงบประมาณทหารและตำรวจ และเพิ่มความมั่นคงอย่างสันติและยั่งยืนโดยพัฒนาสมรรถภาพขององค์กรต่างๆในประชาสังคม


 


·  ต้องยกเลิกการร่วมมือทางทหารกับประเทศอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้างแนวร่วมทางทหารเพื่อรังแกประเทศเล็กๆน้อย ๆ ทั่วโลก... ต้องมีการห้ามส่งทหารไทยไปปฏิบัติการในต่างประเทศ


 


·  ความขัดแย้งทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในสังคม ควรแก้ไขด้วยวิธีทางการเมืองแทนการใช้ความรุนแรงของรัฐ


 


4. ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย มาจากกรอบคิดคับแคบเกี่ยวกับความเป็นไทยและวัฒนธรรม "อันดีงามของไทย" ผ่านกระแสคลั่งชาติ


 


·  ต้องต่อต้านกระแสคลั่งชาติที่ทำลายปัญญาความคิดของพลเมือง เราต้องยกเลิกการนิยาม "ความเป็นไทย"และความสำคัญของ"ความเป็นไทย"เพื่อหันมาเคารพอัตลักษณ์หลากหลายที่มีอยู่จริงในสังคมเรา ความเชื่อ ภาษา ทางเลือกทางเพศ และเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับวิถีชีวิตทุกชนิด ต้องได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน


 


·  เด็กทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยต้องมีสิทธิเป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีเงื่อนไข


 


·  ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจากต่างประเทศเพื่อหางานทำ ควรมีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองไทยในการรับบริการสาธารณสุข การศึกษาสำหรับลูกหลาน และสิทธิที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน


 


5. สังคมไทยขาดผู้แทนของคนจนในระบบการเมือง การเมืองกลายเป็นเรื่องผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่


 


·  ต้องยกเลิกกฎหมายเลือกตั้งที่ระบุว่าพรรคการเมืองต้องจดทะเบียนพร้อมเงื่อนไขต่างๆ ที่ตามมา


 


·  ต้องยกเลิกกฎหมายที่บอกว่าผู้แทนของประชาชนต้องจบปริญญาตรี


 


·  ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของคนจนเข้ามาในระบบของการเมืองไม่ว่าจะเป็นรูปแบบพรรค หรือรูปแบบปัจเจก


 


·  ต้องเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งให้สะท้อนความจริง คนที่ย้ายเข้ามาในเมืองเพื่อประกอบอาชีพควรมีสิทธิเลือกตั้งในเมืองไม่ใช่ยึดติดกับระบบทะเบียนบ้าน


 


·  ต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ผ่านโครงสร้างการบริหาร องค์กรต่างๆ ของสังคมที่มีผู้แทนของคนทำงาน และองค์กรภาคประชาชนร่วมกับผู้แทนของฝ่ายรัฐ ตามที่เสนอแล้วในข้อ 2


 


6. สื่อถูกครอบงำโดยกลุ่มธุรกิจ รัฐบาล และทหาร ต้องมีการตั้งองค์กร "สื่อสาธารณะเพื่อบริการสังคม" ภายใต้ระบบการบริหาร 3 ส่วน ที่มีผู้แทนขององค์กรภาคประชาชน ร่วมอยู่กับภาครัฐดังที่กล่าวไว้แล้วใน ข้อ 2


 


7. เพื่อประหยัดทรัพยากร เสริมคุณภาพชีวิต และปกป้องสิ่งแวดล้อม


 


·  ต้องส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนฟรี ที่มีคุณภาพสูง และจำกัดการใช้ยานยนต์ส่วนตัวอย่างเป็นธรรม


 


·  ต้องส่งเสริมและลงทุนในระบบรถไฟไฟฟ้าสาธารณะ ที่ทันสมัยและมีความรวดเร็ว เพื่อเดินทางระหว่าง


จังหวัดต่างๆ แทนการอาศัยเครื่องบินซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มอุณหภูมิโลก


 


·  ต้องมีการพัฒนาระบบพลังงานทางเลือกแทนน้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังน้ำจากเขื่อน เพื่อให้ประเทศไทย มุ่งผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ ในอัตราส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายให้ใช้พลังงานทางเลือกเพื่อผลิต 30%ของไฟฟ้าภายใน 10 ปี


 


พร้อมกับแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว พรรคแนวร่วมภาคประชาชนได้ชักชวนองค์กรภาคประชาชนต่างๆที่ต้องการสร้างพื้นที่อิสระ มาร่วมแลกเปลี่ยนใน "วาระคนจน" ในวันพฤหัสบดี ที่ 16 ก.พ. เวลา 10.00น ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net