Skip to main content
sharethis


 


ค่ำคืนของวันที่ 22 มี.ค. ในร้านกาแฟละแวกราชประสงค์ พจนา จันทรสันติ นักเขียนนักแปลด้านศาสนธรรม เปิดโอกาสให้ "ประชาไท" ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงสถานการณ์บ้านเมือง ในระหว่างบทสนทนา เขาฉายภาพหนึ่งที่สถานการณ์ขณะนี้ชวนให้เขารำลึกไปถึง


 


ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลา เขาเห็นอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขณะนั้น เดินลงจากตึกคณะศิลปศาสตร์ พร้อมกับโดนรุมล้อมด้วยนักศึกษาที่ชูกำปั้นและส่งเสียงกราดเกรี้ยวใส่ หลังจากอาจารย์ป๋วยเข้าไปตักเตือนเรื่องการชุมนุม เขาจำได้ว่าอาจารย์ป๋วยเดินตรงกลับไปยังตึกโดม ด้วยใบหน้าแดงก่ำ นั่นเป็นภาพสุดท้ายที่เขาเห็นอาจารย์ป๋วย ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519


 


เขาบอกว่า ภาพนั้นทำให้เขาคิดถึงการ "เตือนกัน" แต่ท่ามกลางสถานการณ์ "แนวรบ" ซึ่งความกลัวการ "เสียกระบวน" มักถูกหยิบยกขึ้นเอ่ยอ้างเพื่อโต้กลับ และเลยไปถึงการสะท้อนกลับอย่างแรงเป็นการด่าทอ ประณาม และชี้หน้าว่าเป็นขั้วตรงข้าม


 


อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่าเขาควรจะได้ ทักท้วงบ้างในฐานะที่เขาก็เห็นด้วยในหลักการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หมดความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำประเทศไทยแล้ว แต่สำหรับกระบวนการชุมนุมอย่าง อหิงสาและถือสัจจะนั้น เขาไม่อาจเห็นด้วยได้เลย เนื่องจากเขามองว่าที่ผ่านมา พันธมิตรฯ เพียงแต่รักษาคำพูดและรักษาเวลาเท่านั้น นอกเหนือไปจาก 2 ประการนี้แล้ว ไม่มีอะไรเป็นสัญญาณว่า อหิงสาและมีสัจจะแต่ประการใด


 


"ประชาไท" สัมภาษณ์พจนา จันทรสันติ ก่อนหน้าเส้นตายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งพันธมิตรฯ ประกาศไว้ว่าคือเวลา 21.00 น. ของวันที่ 23 มี.ค. 2549 "ประชาไท" คงคำสัมภาษณ์ไว้ตามเดิมเพื่อคงความต่อเนื่องของเนื้อหา


 


ขณะนี้เหมือนกับทั้ง 2 ฝ่ายแพ้ไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าการแพ้ชนะ หรือใครชอบธรรมกว่าใคร คือความแตกแยกในสังคมไทยที่เริ่มลงรากลึก คุณมองประเด็นนี้อย่างไร


ผมไม่ค่อยห่วงเรื่องของการแบ่งแยก ผมเชื่อว่าความแตกแยกเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว ถ้าเหตุการณ์สงบมันก็ค่อยๆ กลืนกันไป


 


ผมคิดว่าความแตกแยกซึ่งลงรากลึกที่สังคมไทยเคยเผชิญก็คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะก่อนจะเกิดเหตุการณ์นั้น หลังนักศึกษาและประชาชนล้มถนอม-ประภาสได้ สังคมไทยเกิดความแตกแยกขึ้น และการแตกแยกคราวนั้นรุนแรงกว่าและกินเวลานานหลายปีมาก เป็นความแตกแยกระหว่างแนวคิดเรื่องการปฏิวัติสังคมหรือสังคมนิยม กับแนวคิดที่ชูสถาบันข้างบนไว้ ความแตกแยกคราวนั้นลึกมา เข้าไปในระดับครอบครัว พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง เพื่อนฝูง คิดกันไปคนละแนว


 


สมัยนั้นกลุ่มคนก้าวหน้าเป็นกลุ่มซึ่งรวมอยู่ด้วยกันค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นก็รู้สึกมีพวกมีพ้อง ไม่ค่อยโดดเดี่ยวเท่าไหร่ แต่ผมมองว่าการแบ่งแยกครั้งนี้ระดับมันน้อยกว่าเยอะ และเกิดเป็นเหตุการณ์ช่วงสั้นๆ เมื่อเหตุการณ์จบมันจะค่อยๆ กลืนกันไปเอง


           


อีกอย่างหนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมฉาบฉวย เพราะฉะนั้นจะไม่มาซีเรียสจริงจังกับความคิด จะไม่ยืนยันความคิด ผมมองว่า เป็นเรื่องเฉพาะหน้า เป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่า แล้วจะค่อยๆ สลายไป


 


เรื่องความขัดแย้งผมไม่ห่วง ผมเป็นห่วงเรื่องการรู้สึกชนะ-แพ้ คือในแง่การต่อสู้แบบสันติวิธีแล้ว ผมคิดว่าการต่อสู้ครั้งมีความรุนแรงอยู่มาก


           


มาถึงวันนี้ เราวิจารณ์ทักษิณมากแล้ว เราน่าจะมาวิจารณ์ในแง่ของพวกเรากันเอง ซึ่งไม่ค่อยมีใครทำ แต่ก็มีนักคิดหรืออาจารย์หลายคนอย่าง พระไพศาล วิสาโลก็ดี อาจารย์เกษียร เตชะพีระก็ดี อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็ดี หรือแม้แต่นักวิชาการคนอื่นๆ ซึ่งพูดแล้วคนด่า ไม่ยอมฟัง ผมว่าเป็นเรื่องตลก เหมือนกับว่าเราวิจารณ์กันเองไม่ได้ แตะไม่ได้ แต่ว่ารวมหัวกันถล่มคนอื่น


 


ผมคิดว่าวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ถูก มันน่าจะมีการวิจารณ์กันเองเพื่ออุดช่องว่างของความเขลาของพวกเรากันเอง เราไปด่าคนรากหญ้า แต่เราไม่เคยมองตัวเรา เราเองก็เขลา เราเองก็ขาดหลักคิดที่ชัดเจน บางทีก็ไปตามสถานการณ์ หรือบางทีก็ฮือกันไป


 


ก่อนหน้านี้ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ออกมาตั้งคำถามว่าคนไทยอหิงสาจริงหรือเปล่า พร้อมกับบอกว่าในฐานะของนักประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาบอกว่าเราไม่เคยอหิงสาได้จริง ๆ


ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ชาญวิทย์ ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 จนกระทั่งถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผมไม่รู้สึกมีการชุมนุมแบบอหิงสาเลยนะ การที่ไม่ถืออาวุธในมือ ก็แค่ไม่มีอาวุธไง


 


โดยเนื้อหาแล้ว ผมว่าไม่ใช่การชุมนุมที่เป็นอหิงสาหรือเป็นสันติวิธี เพียงแค่ไม่ถืออาวุธเท่านั้นเอง ผมว่าคนที่มาร่วมชุมนุมเขาไม่ได้ต้องการจะรุนแรง คนที่มาชุมุนุมจำนวนมากเขาอาจไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เขาเห็นด้วยในแง่ของหลักการ แต่เขาอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการ การปลุกที่ใช้อารมณ์ การด่าอย่างถ่อยๆ เราว่าเขาถ่อย เราเองก็ถ่อย ผมคุยกับแท็กซี่ เขาก็บอกว่า พี่ เขาด่าตลอดเลย แท็กซี่ที่ผมคุยด้วยเขาก็เห็นด้วยกับหลักการของพันธมิตรฯ แต่เขาไม่ชอบกับวิธีการแบบนั้น เขารู้สึกว่ามันรุนแรงมาก


 


ผมสามารถยอมรับได้ ถ้าในการชุมนุมเป็นการเปิดประเด็นทางสติปัญญา ให้ข้อมูลประชาชน พูดในสิ่งที่ลุ่มลึกในเรื่องข้อมูล สติปัญญา แล้วก็ชุมนุมกันด้วยความสงบพอสมควร เอื้อเฟื้อกัน หรือแม้กระทั่งตำรวจที่ไปแซวเขา ไปว่าเขา ผมว่าเป็นความเสี่ยงที่มากเกินไปทำอย่างนั้น เป็นการยั่วยุ และเป็นการไม่เคารพคนอื่นด้วย เพราะตำรวจก็ทำหน้าที่ของเขา


           


การปลุกเร้า ด่าตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้คนที่อาจจะไม่ได้มีความรู้สึกรุนแรง ถูกปลุกเร้าตลอดเวลาด้วยความโกรธแค้น เมื่อความรู้สึกข้างในคุกรุ่นขึ้นมาแล้ว มันนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ถ้ามีมือที่ 3 แทรกเข้ามา ไปเผารถชาวบ้าน ไปทุบทำลายข้าวของ มันนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายมาก ซึ่งประเด็นพวกนี้ต้องระวัง


           


ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่พระไพศาลพูด บางทีเวลาเราแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมาก เราก็ถือเราถือเขา พอถือเราถือเขา อัตตาก็ทำให้รู้สึกว่าฝ่ายเขาเป็นศัตรูตลอดเวลา และจะหาจุดประสานกันไม่ได้เลย


 


แม้ฝ่ายเขาจะขาดความชอบธรรมก็ตาม แต่ในแง่การต่อสู้ทางสันติวิธี เราอย่าต่อสู้ด้วยความโกรธเกลียด ไม่ต้องถึงขั้นรัก แต่อย่าไปโกรธเกลียดมาก แค่ถ้าเขาไม่ชอบธรรม เราก็หาวิธีทำให้เขาหมดอำนาจที่จะใช้ความไม่ชอบธรรมอันนั้น แล้วต้องใช้อย่างสันติวิธีด้วย


 


ทุกวันนี้ที่พูดว่า สันติวิธี ดูแล้วมันไม่สื่อไปทางนั้นเลย เพราะว่าแค่ไม่ถืออาวุธเท่านั้นเอง แต่ความรุนแรงหรือความคุกรุ่น ความโกรธ มันพลุ่งพล่านมาก แล้วยิ่งไปปลุกให้คนที่เข้ามาร่วมรู้สึกอย่างนั้นไปด้วย มันนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายมาก


 


ขั้วตรงข้ามเป็นสิ่งที่อันตราย ผมเห็นว่าทักษิณไม่ชอบธรรม ในความไม่ชอบธรรมเขาก็ไม่มีสิทธิ์ในการเป็นผู้นำประเทศ แต่เขาก็ต้องไปตามวิถีทางประชาธิปไตย แม้ผมจะไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยก็ตาม


 


และประการต่อมาคือ เมื่อผู้ปกครองขาดความชอบธรรมเพราะความฉ้อฉลหรืออะไรก็แล้วแต่ ประชาชนน่าจะมีสิทธิถอดถอน คือไม่ยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง อันนี้เป็นสิทธิโดยธรรมชาติ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน


 


จริงๆ คุณทักษิณก็รู้ว่า คนที่มาขับไล่เขาก็ใช้สิทธิทางการเมืองที่มีอยู่ เขาก็แก้เกมด้วยการจัดเวทีวันที่ 3 มีนาคม เป็นการวัดพลังประชาชนแข่งกัน นั่นก็คือการโต้ตอบตามวิถีประชาธิปไตย


ผมไม่เชื่อว่าปริมาณเป็นสิ่งที่แสดงถึงความถูกต้อง ที่บอกว่าโหวตเสียงข้างมากชนะ มันก็ไม่ได้แสดงถึงความถูกต้องไง เสียงข้างน้อยอาจจะถูกต้องก็ได้ แค่คนๆ เดียวที่คิด แล้วก็ไม่เห็นด้วยกับทั้งหมด คนๆ เดียวอาจจะถูกต้องก็ได้ในแง่ของหลักธรรม ในแง่ของจริยธรรม หรือในแง่ของสัจจะที่สูงกว่านั้นขึ้นไป เพราะทั้งหมดนี้อาจจะผิดหมดเลยก็ได้


 


แต่ฝ่ายพันธมิตรก็อาจจะไม่สามารถเป็นตัวแทนของสัจจะ


นี่ก็คือปัญหา เพราะฝ่ายพันธมิตรฯ ก็คิดว่าตัวเองมีคนเยอะ มีเสียงข้างมาก ซึ่งผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญก็คือเราต้องมีสัจจะในหัวใจ มีความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือหลัก แม้คนๆ เดียวก็มีพลังถ้ามีสัจจะ


 


ผมเห็นด้วยกับหลักการ แต่ไม่เห็นด้วยวิธีการหลายๆ อย่าง เช่น การใช้ความรุนแรงด้วยคำพูดก็ดี การกระตุ้นหรือยั่วยุของแกนนำก็ดี ผมเห็นว่าไม่ถูก ผู้ขึ้นอภิปรายควรเป็นไปอย่างสันติวิธี


 


แพ้หรือชนะ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก ถึงจุดหนึ่งถ้าเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเขาไม่ยอมออก เราจะทำอย่างไร ก็เป็นคำถามต่อไป ไม่ใช่ไปหาคำตอบแบบมักง่าย คือการขอนายกฯ พระราชทาน เป็นคำตอบแบบมักง่าย ถ้าเราใช้สติปัญญามากกว่านี้ ต้องอย่าเป็นขอทาน เราอย่าทำตัวเหมือนคนจนตรอกที่เลือกทางออกด้วยการขอทาน


 


ถ้าทักษิณไม่ยอมออก การจะพบทางออกอย่างไรต้องใช้สติปัญญา แล้วถ้าถึงจุดวิกฤต จุดที่อาจจะเสียหายได้ทุกฝ่าย อาจจะถึงเสียเลือดเนื้อได้ เรายอมถอยไหม เราเสียสละพอไหมที่จะให้เกิดสันติสุขในสังคม ถอยสักก้าวหนึ่ง กองทัพไม่ได้รุกอย่างเดียว บางครั้งต้องถอย อันนี้คือยุทธศาสตร์ของการรบ บางครั้งต้องถอยไปตั้งหลักใหม่ว่าจะสู้ยังไง


 


การสู้มีตั้งหลายวิธี ผมไม่เห็นด้วยกับการม็อบมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะว่ามีความเสี่ยงสูง ในยุคก่อนก็โดนปราบทุกครั้ง แล้วมือที่ 3 ก็แทรกแซงด้วย มันเสียเลือดเนื้อเยอะ


 


ผมคิดว่าไม่ควรอุทิศชีวิตและเลือดเนื้อแม้แต่คนเดียวเพื่อระบอบประชาธิปไตย แม้แต่หมาสักตัวก็ไม่ควร (หัวเราะ) มันไม่มีค่าเลยที่จะทำอย่างนั้น ถ้าเราอ้างว่าเป็นอหิงสา เราต้องให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นหลัก เราจะต้องเคารพชีวิตมนุษย์ทุกคน เคารพปัจเจกภาพของทุกคนที่มาร่วมในนั้น เขาอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับคุณหมดก็ได้ เห็นด้วยแค่บางข้อ เขาก็มาเพราะไม่มีทางออก แต่หลายอย่างเขาไม่เห็นด้วยกับคุณ ไม่เห็นด้วยกับการด่า ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนขบวน หรือต้องตบมือหรือร้องเพลงเมื่อถูกบอก ผมรู้สึกว่ามันไร้สาระมากในแง่ของความเป็นปัจเจกนะ


 


การชุมนุมจะดำเนินไปอย่างเคารพผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้ไหม ในแง่ของมนุษย์ทุกคนที่เป็นปัจเจกที่มาในที่นั้น ไม่ใช่ความต้องการของผู้นำการชุมนุม แต่เป็นความต้องการของคนทุกคนที่มาร่วม ถ้าคุณพูดว่าคุณเชื่อในประชาธิปไตย คุณต้องประมวลสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาจากความต้องการของเขา ไม่ใช่ความต้องการของคุณ เป็นความต้องการของคนทุกคนที่มาร่วม


 


แต่เท่าที่ดูตอนนี้เป็นการนำอย่างเด็ดขาด ผมอยากให้คนที่ไปร่วมแสดงออก แสดงความคิดเห็น ให้ฝ่ายนำเขาฟังว่าเราต้องการอะไร เราไม่ชอบอย่างไหน แล้วก็ต้องเคารพ คืออย่าปิดบังข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา เช่น สมัยพฤษภาคม 2535 เมื่อผู้นำได้ข่าวมา มักไม่ค่อยบอกข้อมูลกับผู้ที่มาร่วม บางครั้งบางข่าวก็เป็นเรื่องอันตราย แต่สุดท้ายผู้นำการชุมนุมก็เอาตัวรอดไปก่อน มวลชนไม่ใช่โล่กันกระสุนนะ ผมเสนอว่าอย่าให้เกิดการสูญเสียแม้แต่คนเดียว ถ้าทำได้อย่างนี้ ผมเชื่อว่าฝ่ายนำก็มีจิตใจที่เป็นอารยะ


 


เรามักจะชอบพูดกันอย่างหนึ่งคือ "ทุกอย่างต้องได้มาด้วยการสูญเสีย" ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว จบ ไม่ควรชุมนุมเลย ทุกอย่างได้มาด้วยการสูญเสีย หรือชัยชนะก็ต้องมีการสูญเสียเลือดเนื้อกันบ้าง เป็นความคิดแบบมักง่าย


 


การเดินลงไปบนถนน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และเสี่ยงที่สุด


ในช่วงต้นๆ ที่ผ่านมา การม็อบมีระยะเวลาจำกัดและแน่นอน ความเสี่ยงจะน้อยกว่า เที่ยงคืนเลิก สี่ทุ่มเลิก เสาร์อาทิตย์หน้าเจอกันใหม่ ก็ยังโอเค แต่การชุมนุมยืดเยื้ออันตรายมาก มีความเสี่ยงสูงมาก ผมไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คนทั้งนั้นเลยนะ


 


ผมมองจากมุมของความเป็นมนุษย์ ต้องคิดถึงคนตรงนั้นเป็นหลัก อย่าคิดถึงผลได้ของตนเอง หรือทิฐิที่ว่าต้องชนะ ต้องรักษาชีวิตคน อันนี้ต้องเตือนให้หนัก ไม่ฉะนั้นแล้ว เราไปด่าเขาว่าไร้จริยธรรม แต่จริงๆ แล้วเราโคตรไร้จริยธรรมเลย ถ้ารู้อยู่แก่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นแล้วเราไม่บอกคนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเรา หรือถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วเขาพร้อมจะตายกับเรา ต้องบอกเขานะ ต้องให้เขาเป็นคนตัดสินใจ คนที่อยู่ตรงนั้นเป็นคนรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเอง ถ้าตัดสินใจอยู่ โอเค แต่ไม่ใช่การปลุกเร้าและปิดบังข้อมูล


 


ผมเห็นว่าวิธีการต่อสู้ต่อไปนี้ น่าเปลี่ยนรูปแบบจากการม็อบได้แล้ว ก็มีคนถามผมว่าจะให้ทำยังไง นี้ก็คือปัญหาที่คุณต้องคิด ต้องใช้สติปัญญา


 


อาจจะเป็นการ ต่อสู้ด้วย Symbolic อื่น ๆ หรือการทำอย่างคุณรสนา โตสิตระกูลที่เลือกใช้วิธีการทางกฎหมาย แล้วถ้าไม่ชนะต้องยอมรับด้วย เพราะว่าอหิงสาไม่ได้หมายความว่าชนะ อหิงสาหมายถึง การแสดงความเห็นในเรื่องความเป็นจริง คือการแสดงสัจจะ


 


สัจจะไม่ได้ชนะเสมอไป ถ้าเหตุปัจจัยไม่เอื้อ ใช้คำว่าแพ้ก็ยังลำบาก สัจจะยังถูกต้องอยู่ต่อไป อย่าไปคิดว่าการชนะคือการบรรลุผล แต่ตอนนี้เหมือนเป็นเรื่องการรบกันแล้วต้องฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ไม่ใช่นะ


           


เราควรเลิกคิดว่ามีวิธีการม็อบวิธีเดียวเท่านั้น โดยธรรมชาติการม็อบมันน่าเกลียด ทั้งที่คนมาร่วมเขามีความหวังดี แต่คุณทำให้เขากลายเป็นสิ่งที่น่าเกลียด คุณไม่เคารพความเป็นปัจเจกของเขา คุณมองเขาเป็นแค่เครื่องมือที่จะเอาชนะ เพราะฉะนั้นมันมีอีกหลายวิธี ต้องระดมหัวคิดกันขึ้นมา แล้วถ้าเริ่มคิดแบบนี้ มันจะเกิดความหลากหลาย แล้วปลอดภัยต่อชีวิต คุณอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ที่บ้านก็ได้ คุณทำได้หมดเลย ทุกคนร่วมด้วยได้ด้วยสัญลักษณ์ เช่นการติดปลอกแขนดำบ้าง เปิดไฟหน้ารถ นัดหยุดงาน ไม่ยอมเสียภาษี ซึ่งเป็นวิธีที่ เฮนรี เดวิด ธอโร นักคิดชาวอเมริกันทำ คือปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีให้รัฐ เราทำได้หลายอย่างมาก ทำไมต้องมีการม็อบเท่านั้น


 


คำเตือนนี้จะช้าไปไหม เพราะขณะนี้ก็เลยเส้นตายที่พันธมิตรฯ ประกาศแล้ว


การกำหนดเส้นตายก็เป็นความรุนแรง อย่างกรณีคุณฉลาด วรฉัตร อดข้าวประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อย่าคิดว่าการอดข้าวประท้วงเป็นอหิงสา การอดข้าวประท้วงคือการบีบจิตสำนึกคนอื่น เล่นกับความรู้สึกผิดของคนอื่น ถ้าฉันตายคุณต้องรู้สึกผิด อันนี้เป็นความรุนแรงที่รุนแรงมาก เอาความตายตัวเองไปบีบคั้นคนอื่น


 


คราวนี้แกเอาเชือกมาใช่ไหม อันนี้เป็นความรุนแรง คุณฉลาดใช้ความรุนแรงมาตลอดเลย ไม่ใช่อหิงสา อย่าเข้าใจผิด


 


ตอนนี้คุณฉลาดไปแจ้งความว่าแกนนำพันธมิตรฯ ล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้ว


เลื่อนเปื้อนไปกันใหญ่ หลายฝักหลายฝ่าย เวลาจะฟังความคิดเห็นของใครต้องพิจารณากันดีๆ แล้วสังคมไทยแปลกที่คนที่ควรฟังกลับไม่ฟัง ชอบฟังอะไรที่เลื่อนเปื้อน ข่าวลือ หรือฟังข้อมูลที่เล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง


 


เรื่องนี้พระไพศาลกล่าวไว้ชัด วิธีการกับเป้าหมายต้องเป็นอันเดียวกัน ถ้าวิธีการของเราสกปรก สิ่งที่ได้มามันจะใสสะอาดได้อย่างไร ถ้าเราใช้ความสกปรกทุกอย่างเพื่อให้ชนะ เราก็ไม่ต่างจากนักการเมือง แจกเงินเพื่อให้ชนะเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นวิธีการของเราต้องสะอาด อันนี้สำคัญมาก ซึ่งส่วนมากไม่ค่อยเชื่อกัน


 


แต่คนที่นำการชุมนุมเขาก็เชื่อว่าเขาถือสัจจะ คือบอกว่าจะชุมนุมวันนี้ ก็ชุมนุม บอกว่าจะเลิกเที่ยงคืน ก็เลิกเที่ยงคืน


อันนั้นก็ดี ตรงเวลา (หัวเราะ) แต่ไม่เรียกว่าสัจจะ ถือว่าตรงเวลา เขาเรียกว่า รักษาคำพูด (หัวเราะ) มันไม่เหมือนกัน สัจจะต้องมาจากสัจจะข้างใน ต้องมาจากหลักธรรม สัจจะเป็นองค์รวม แต่พอเอามาแยกใช้กับสิ่งต่างๆ ในส่วนย่อยต้องมีองค์รวมในนั้นอยู่ครบ แต่การรักษาคำพูดก็เป็นเรื่องดี เป็นการสร้างนิสัยที่ดี (หัวเราะ)


 


ที่ผมพูดอาจจะฟังดูตลกนะ แต่ผมคิดว่าเราควรเปิดใจกว้าง การเปิดใจกว้างช่วงนี้สำคัญมาก ถ้าใครวิจารณ์แล้วมาด่ากัน ก็กลายเป็นความคับแคบอีกแบบ ควรจะรับฟังก่อน มันเหมือนยุคก่อน 6 ตุลา ติงกันไม่ได้เลย ถูกกล่าวหาว่าเป็นสันติบาล ผมเองก็ชินเพราะโดนข้อหามาตั้งแต่ยุคนั้น อยู่กับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เป็นสันติบาลตลอด


 


บางครั้งเราต้องเลือกว่า ต้องการเป็นคานธี หรือเป็นพระพุทธเจ้า หรือต้องการเป็นโซฟิสต์ ก็ต้องเลือกเอา ถ้าต้องการเป็นเยี่ยงพระพุทธเจ้า ต้องมีสัจจะจริงๆ คำพูดเป็นแค่เปลือกนอกเท่านั้นเอง คำพูดเปลี่ยนไปตั้งร้อยอย่าง หัวใจก็ยังเป็นสัจจะดวงเดิม พูดอะไรก็เป็นสัจจะ แต่ว่าถ้อยคำเปลี่ยนหมดเลย บางครั้งก็ดูขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นสัจจะ แต่ถ้าโซฟิสต์ก็ปลิ้นปล้อนไปเรื่อย เพราะว่าไม่มีสัจจะ ไม่ว่าจะพูดสวยแค่ไหน คำพูดนั้นก็น่าเกลียดอยู่ดี เป็นถ้อยคำน่าเกลียด แค่คิดคำสวยๆ ขึ้นมา ก็ดีได้คำใหม่ๆ ใช้ (หัวเราะ) แล้วเราก็รุ่มรวยภาษามากขึ้น


 


มีคนถามผมว่าไม่ไปร่วมชุมนุมหรือ ผมก็บอกว่าผมไม่อยากเป็นม็อบ ผมไม่ได้ดูถูกม็อบนะ หลายคนไปร่วมด้วยจิตใจที่ดีงาม ผมเชื่อและศรัทธาในเขา แต่เวลาผมไปร่วมในม็อบ ผมถูกทำให้กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่ตัวผม ผมกลายเป็นม็อบ ผมไม่ใช่คนไม่ใช่ปัจเจก ผมถูกชักนำไปด้วยกระแสอะไรไม่รู้ แล้วแต่ว่าฝ่ายนำจะนำพาไป ซึ่งผมไม่เห็นด้วย


 


คนที่ไปร่วมทุกคนควรช่วยกันเตือนฝ่ายนำเพื่อให้เขาทำในสิ่งที่เป็นสัจจะ และเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่เกื้อประโยชน์ต่อทั้งหมด ต้องสะท้อนความคิดเห็น ช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายนำ แล้วผมเชื่อว่าเขาฝืนไม่ได้ นี่คือประชาธิปไตย


           


เพราะฉะนั้น ผมขอฝากไปถึงคนที่ไปร่วมทุกคนช่วยกันสะท้อนสิ่งดีๆ สิ่งที่เป็นธรรมะ สิ่งที่เป็นสัจจะไปให้ฝ่ายนำเขาทำตาม ไม่เช่นนั้นเราก็ดื้อแพ่ง ไม่ต้องมาร่วมชุมนุม ถ้าเขาไม่เปลี่ยนวิธีการ ก็เลิกไปร่วมชุมนุมได้แล้ว


 


ตอนนี้มีการพูดถึงกันมากเรื่อง อารยะขัดขืน แกนนำพันธมิตรฯ ก็อธิบายว่าสิ่งที่เขากระทำอยู่ก็คือ อารยะขัดขืนแล้ว


ผมรู้สึกว่าสันติวิธีต้องเอาไปใช้กับคนที่เป็นอารยะจริงๆ จิตใจเข้าถึงแก่นของอารยะ ไม่เช่นนั้นแล้วมันกลายเป็นรูปแบบหมด แต่เนื้อหาเหมือนเดิมหมดเลย


 


ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจก็เป็นดาบ 2 คม แม้แต่ธรรมะ ธรรมะยิ่งอันตรายถ้าไม่เข้าใจ เอาไว้ฆ่าผู้อื่น "ไอ้นี่ไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง ไม่มีธรรมะไม่มีสัจจะ" มนุษย์เอาทุกอย่างมารับใช้ตัวเองได้หมดไม่ว่าอะไร


 


การม็อบน่าจะเลิกใช้ได้แล้ว น่าจะหาวิธีการอื่นซึ่งมองมนุษย์เป็นมนุษย์ แล้วไม่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต วิธีการอื่นๆ มีเยอะแยะ มีคนชอบถามผม ผมเสนออย่างนี้แล้วทำยังไง คำถามนี้มันตื้นเกินไปนะ คุณช่วยกันคิดสิ มันจะเกิดสิ่งใหม่ๆ เยอะแยะเลย แล้วไม่ต้องสูญเสีย และสวยงามด้วย คนที่เขามาหลายคนไม่ได้อยากมาหรอก แต่เขาไม่มีทางออก แล้วเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดหรอก เขามาเพราะไม่มีทางอื่นเลย คุณเสนอทางอื่นให้เขาไหม


 


ถ้าเกิดมีการปราบก็ได้เป็นวีรชนน่ะ พ่อแม่สูญเสียลูก ลูกสูญเสียแม่สูญเสียพ่อไป ขาขาดพิการ ไม่มีคนเลี้ยง เราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ เราคิดแต่ว่าการต่อสู้ต้องมีการสูญเสีย เราต้องสูญเสียเพื่อให้ได้มาบางอย่าง น่ากลัวนะวิธีคิดแบบนี้ เราต้องคิดว่าชีวิตทุกชีวิตมีค่า ชีวิตคุณทักษิณก็มีค่า ทุกคนมีค่า แต่ว่าเขามาอยู่ในตำแหน่งซึ่งเบียดเบียนคนอื่นได้เยอะ ไม่ควรให้เขาอยู่ ต้องเอาเขาออกไป เร็วช้าเท่านั้นเอง


 


ถ้าต้องเอาเขาออกให้ได้วันนี้ แล้วพวกเราอาจจะสูญเสีย ก็ไม่คุ้ม แม้แต่ชีวิตเดียวก็ไม่คุ้ม ชีวิตของหมาสักตัวก็ยังไม่ควรเลย ควรจะถอยสักก้าวหนึ่ง แม้แต่หาบเร่ที่ไปขายของก็ไม่ควรต้องเสี่ยง เขาควรต้องได้ขายของอย่างมีความสุข และขายดีด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net