Skip to main content
sharethis


ประชาไท - ภาคประชาชนวางยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ "หมอแว" แฉกลางวง ขบวนการอุ้มมุสลิมใต้ยังไม่หยุด เหยื่อรายล่าสุด เป็นช่างก่อสร้างชาวเจาะไอร้อง ถูกทหารค้นตัวแล้วอุ้มกลางวันแสกๆ "8 ว่าที่ ส.ว.มุสลิม" ผนึกกำลังดึง "อดีต ส.ว.สายเอ็นจีโอ"  ติวเข้มประเด็นการเมือง หนุนตั้ง "สภาชูรอ" ร่วมส่วนปกครอง 3 จังหวัดชายแดนใต้


 


ระหว่างวันที่ 3 - 4 มิถุนายน 2549 ที่โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่มเอเชีย) จัดประชุมยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 2 เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนปฏิบัติการภาคประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง โดยมีผู้เข้าร่วม 30 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ นักศึกษา ทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชนและสื่อมวลชน


 


ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะตั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยมีองค์ประกอบ 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสื่อ ทำหน้าที่เผยแพร่และรวบรวมข้อมูล กลุ่มนักกฎหมาย รับผิดชอบด้านคดีความมั่นคงและให้ข้อมูลแก่องค์กรอื่นเพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์ กลุ่มนักวิชาการ ทำหน้าที่วิจัยและเผยแพร่ข้อมูล กลุ่มฐานชุมชน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและประสานงานระหว่างชุมชนกับภาครัฐ กลุ่มรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ต่อสาธารณะ ทั้งในระดับภูมิภาคจนถึงระดับนานาชาติ และการรณรงค์เฉพาะกรณี รวมทั้งการล็อบบี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายรัฐบาล และกลุ่มนักศึกษา ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายนักศึกษาทั่วประเทศ และการลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชน


 


นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนราธิวาส กล่าวปิดการประชุมว่า ตนได้รับหนังสือร้องเรียนมาจากชาวบ้านในจังหวัดนราธิวาสว่า มีผู้ถูกทหารควบคุมตัว โดยไม่ทราบว่านำไปไว้ที่ใด ญาติได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ขณะที่สื่อเองก็ไม่ทราบเรื่องเหล่านี้เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการคุกคามประชาชนด้วยการอุ้มยังมีอยู่


 


นายแพทย์แวมาฮาดี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการประสานงานกันในกลุ่มว่าที่สมาชิกวุฒิสภาที่นับถือศาสนาอิสลาม 8 คน อยู่ในภาคใต้ 6 คน ภาคกลาง 2 คน เพื่อจะรวมกลุ่มกันกำหนดประเด็นร่วมในการขับเคลื่อนทางการเมือง โดยจะให้รักษาการสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะในสายองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มาถ่ายทอดประสบการณ์ รวมทั้งการกำหนดคณะกรรมการธิการที่จะให้แต่ละคนเข้าไปสังกัด เพราะขณะนี้มีว่าที่วุฒิสมาชิกบางส่วน เจรจาต่อรองกันแล้วว่า จะให้ใครเป็นกรรมาธิการชุดใด ในขณะที่ว่าที่สมาชิกวุฒิสภาภาคประชาชนยังไม่มีการหารือกัน


 


นายแพทย์แวมาฮาดี เสนอด้วยว่า อยากให้องค์กรภาคประชาชน ผลักดันเรื่องสภาซูรอเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาซูรอหมายถึงสภาแห่งการปรึกษาหารือ เพราะฉะนั้น การมีสภาซูรอหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนนั่นเอง ส่วนเรื่องการฟ้องร้องกฎหมาย ประชาชนที่ตกเป็นจำเลย ต้องพร้อมจะตั้งตัวเองเป็นทนายด้วย เพราะทนายที่รับอาสาเข้ามาช่วยมีน้อย และแต่ละคนมีคดีรับผิดชอบมาก จะต้องให้ประชาชนมีความรู้ทางกฎหมายด้วย จากการติดตามการว่าความในศาลหลายครั้ง พบว่าประชาชนมีความรู้มากขึ้น จำเลยจะมีกระดาษจดบันทึกไว้ด้วย กรณีที่พยานให้การเท็จ เพื่อให้ทนายนำมาใช้ซักค้าน


 


นายแพทย์แวมาฮาดี กล่าวอีกว่า ขอให้จัดทำฐานข้อมูลคดีที่ศาลยกฟ้อง หรือมีคำสั่งไม่ฟ้อง เพื่อใช้สรุปบทเรียนให้กับภาคประชาชน ตอนนี้มีคดีเกี่ยวกับความมั่นคงที่ยกฟ้องแล้ว 5 คดี ได้แก่ คดี เจ.ไอ., คดีปล้นปืนไดนาไมต์ที่จังหวัดยะลา, คดีปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ที่นายนัจมุดดีน อูมา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส และนายอนุพงศ์ พันธชยางกูร กำนันตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ตกเป็นจำเลย เป็นต้น รวมทั้งคดี 8 อุสตาซ ที่ดูจากรูปคดีแล้ว มีแนวโน้มว่าศาลจะยกฟ้อง ส่วนคดีที่ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้อง เช่น คดีชาวบ้าน 34 คน ถูกจับข้อหาปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ขู่บังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพ และสร้างหลักฐานเท็จ


 


นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ที่ปรึกษาสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุบลราชธานี รับจะดำเนินการจัดเวทีถ่ายทอดประสบการณ์ ระหว่างรักษาการสมาชิกวุฒิสภากับว่าที่สมาชิกวุฒิสภามุสลิมทั้ง 8 คน ในเร็วๆ นี้


 


นายแพทย์แวมาฮาดี เปิดเผยกับ "ประชาไท" ภายหลังการประชุมว่า ชาวบ้านถูกอุ้มชื่อ นายแวหะเล็ม กูแวกาแม อายุ 30 ปีเศษ อาชีพเป็นช่างก่อสร้าง อยู่บ้านบาตะปาเซ หมู่ที่ 6 ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 บนถนนในหมู่บ้านบาตะปาเซ หมู่ที่ 6 ตำบลบูกิต ขณะนี้ตนได้ขอให้ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วยติดตามอยู่ นอกจากนี้ เวลา 09.00 น. วันที่ 5 มิถุนายน 2549 ญาติของนายแวหะเล็ม จะไปร้องเรียนกับนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอยส.) ภาคใต้ ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ด้วย


 


ญาติของนายแวหะเล็ม เปิดเผย "ประชาไท" ว่า นายแวหะเล็มถูกทหารตรวจค้นในช่วงเช้า พอตอนเย็นก็หายตัวไป จนถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ทางญาติได้ร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสแล้ว ยังไม่ได้รับคำตอบ


 


ทั้งนี้ในเอกสารบันทึกเหตุการณ์ฉบับหนึ่งที่ส่งให้นายแพทย์แวมาฮาดี ระบุว่า เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 17.20 - 17.30 น. วันที่ 28 พฤษภาคม 2549 จุดที่หายตัวไปอยู่ระหว่างร้านน้ำชาที่หมู่บ้านกำปงบารู ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง และทางไปหมู่บ้านบาตะบาเซ ซึ่งมีทหารตั้งด่านที่หน้าสนามฟุตบอล


 


หนังสือฉบับดังกล่าว ลำดับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า เวลาประมาณ 07.00 น. ขณะที่นายแวหะเล็ม ขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน หมู่ที่ 6 บ้านบาตะปาเซ ไปทำงานที่บ้านบูเกะตาโมง เมื่อถึงด่านตรวจถูกทหารประจำด่านตรวจค้น เมื่อเดินทางไปถึงบ้านบูเกะตาโมง จึงเล่าเหตุการณ์ให้เพื่อนและญาติฟังว่า ทหารบอกว่าไม่อยากค้นอาวุธ แต่บอกว่าอยากหาเงิน ต่อมาญาติทราบจากคนในร้านน้ำชาที่บ้านกำปงบารูว่า มีทหารคนหนึ่งเข้ามาถามชื่อที่อยู่ของนายแวหะเล็ม


 


ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น. วันเดียวกัน นายแวหะเล็ม เดินทางกลับจากที่ทำงาน และแวะนั่งที่ร้านน้ำชาร้านเดิม มีโต๊ะครูคนหนึ่งขับรถจักรยานผ่านหน้าร้านน้ำชาไปทางบ้านบาตะปาเซ หลังจากโต๊ะครูคนนั้นขับรถจักรยานผ่านไปไม่นาน นายแวหะเล็มได้ขับรถจักรยานยนต์ตามหลังไป เพื่อกลับบ้านพัก ต่อมา มีเด็กอายุ 8 ขวบคนหนึ่ง เล่าให้แม่ฟังว่า เห็นทหารกำลังจับใครก็ไม่รู้ แต่แม่ไม่สนใจ ขณะที่โต๊ะครูยืนยันว่า เห็นทหารตั้งด่านอยู่ใกล้สนามฟุตบอล ก่อนจะถึงมัสยิดบ้านบาตะปาเซ มีรถยนต์จอดอยู่ 1 คัน


 


นายแวหะเล็ม เคยเข้าอบรมโครงการวิวัฒน์พลเมือง เพราะถูกทางราชการจัดให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่เคยถูกจับกุม ญาติได้ติดตามหาตัวตามค่ายทหาร หรือบริเวณที่ทหารตั้งด่านตรวจ แต่ไม่เจอ จึงร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายอำเภอเจาะไอร้อง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบูกิต และหน่วยทหารในพื้นที่แล้ว


 


ล่าสุด ญาติเตรียมจะเข้าร้องเรียนกับนายอุกฤษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องการทราบว่า ถูกนำตัวไปที่ไหน หากเสียชีวิตแล้ว จะได้ขอรับศพไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net