Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 ก.ค. 49 องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) กล่าวว่า ระบบอินเทอร์เน็ต (Internet) ในพม่าให้บริการในลักษณะคล้ายคลึงกับ "อินทราเน็ต" (Intranet) ขึ้นทุกทีๆ ทางการได้พยายามปิดกั้นและเข้าแทรกแซงบริการด้านอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น


      


ตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา บริการรับ - ส่งอีเมลล์ทางอินเทอร์เน็ตของเว็บไซต์จีเมล์ (Gmail) รวมถึงบริการสนทนาผ่านอินเทอร์เน็ต จีทอล์ก (Gtalk) และสไคปส์ (Skype) ในพม่าก็ถูกบล็อก อย่างไรก็ตามการบล็อกบริการดังกล่าวก็ยังไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะบางครั้งผู้ใช้บริการยังคงสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบได้


      


 "การตัดสินใจสกัดกั้นบริการจีทอล์ก และสไคปส์ นั้นมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางการเงิน เพราะบริการรับ-ส่ง สัญญาณเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol - VoIP) ได้รับผลกำไรแบบถล่มทลายในตลาดบริการโทรศัพท์ทางไกล ในประเทศที่รัฐบาลผูกขาด อีกทั้งบริการรูปแบบเช่นนี้เป็นการติดต่อสื่อสารที่ควบคุมดูแลยากด้วย และการควบคุมอินเทอร์เน็ตในพม่าก็เข้มงวดมากกว่าในจีน" องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุ


      


"เช่นเดียวกันกับเว็บเมล์ต่างๆ การสื่อสารประเภทนี้ควบคุมได้ยากมาก อินเทอร์เน็ตของพม่าถูกควบคุมมากกว่าระบบ เน็ต (Net) ของจีน" องค์การเดียวกันนี้กล่าว


      


นอกจากนี้บรรดาพนักงานรัฐบาลทหารพม่าก็ได้ดำเนินการบล็อกการเชื่อมต่อเข้าสู่บริการรับส่งอีเมล์ของ Yahoo และ Hotmail เพื่อบังคับให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตต้องหันไปใช้บริการ Mail4U ของ บริษัทเมียนมาร์เทเลพอร์ต (Myanmar Teleport เดิมคือ พุกาม) ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล ที่คอยควบคุม ตรวจสอบหัวข้อ เรื่องราวในอีเมล์ของผู้ใช้


      


ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นับตั้งแต่การคุมขังนางออง ซาน ซู จี ไว้ภายในบ้านพักถูกขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี ระบบอินเทอร์เน็ตในพม่าก็ล่ม เชื่อมต่อได้เพียงเว็บไซต์ เมียนมาร์ ไวด์ เว็บ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดการโดยทางการพม่า


      


กรมไปรษณีย์ และโทรคมนาคมพม่า (Myanmar Posts and Telecom - MPT) กระทรวงสื่อสาร ไปรษณีย์และโทรเลข (Ministry of Communications, Post and Telegraphs) แจ้งว่า สาเหตุที่อินเทอร์เน็ตล่มนั้นเนื่องจากเกิดปัญหาทางเทคนิคในการเชื่อมต่อกับสายเคเบิลใต้ทะเลนอกชายฝั่งของสิงคโปร์


      


แต่สำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) รายงานว่า การที่ระบบอินเทอร์เน็ตในพม่าล่มนั้นอาจจะเป็นอุบายที่ทางการใช้เพื่อดำเนินการยกระดับโครงการการคุมคุม ตรวจสอบทางอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ถึงแม้ว่าการพม่าเองพูดอยู่เสมอว่า ต้องการที่จะพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยก่อนเป็นลำดับแรก แต่ในความเป็นจริงกลับมีการควบคุมการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตเข้มงวดอย่างมาก


      


คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในประเทศต้องมีการขึ้นทะเบียนโดยกรมไปรษณีย์ และโทรคมนาคมพม่า ผู้ละเมิดมีโทษจำคุกนาน 15 ปี ส่วนการควบคุมร้านอินเทอร์เน็ตนั้น เริ่มจากการถูกบังคับให้ต้องถามข้อมูลลูกค้าเพื่อเก็บเป็นข้อมูลบุคคล และให้ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ใช้ตรวจสอบข้อมูลทุก ๆ 5 นาที โดยข้อมูลทั้งหมดมีการจัดเก็บไว้ในแผ่นซีดี และต้องส่งให้เจ้าหน้าที่อยู่เป็นประจำ


      


การตั้งเว็บไซต์ต่างๆ ในพม่าต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานรัฐ ภายใต้ข้อกฎหมายฉบับปี 2543 ที่มีข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่า บุคคลใดอภิปรายในประเด็นทางการเมือง หรือตั้งกระทู้บทความ "มีแนวโน้มทำลายความสนใจในสหภาพพม่า" หรือ "มุ่งร้ายทั้งทางตรง หรือทางอ้อมต่อนโยบายความมั่นคงของรัฐ" มีโทษจำคุก 6 เดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net