Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-24 ธ.ค.47 เมื่อเวลา 9.30 น. ที่จังหวัดสงขลา ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำสั่งคดีกลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวม 30 คน อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทย สลายการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านฯ ที่ปากทางเข้าโรงแรมเจบี. หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ที่ผ่านมา

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ฟ้องคดีบางคน โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา เป็นการกระทำที่มีฐานของอำนาจมาจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงมิใช่เป็นการกระทำทางการปกครอง กรณีนี้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยและเยียวยาความเสียหายได้อยู่แล้ว คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครอง

ศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นพ้องกับศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับฟ้อง ตามคำขอของผู้ฟ้อง ให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ชดใช้ค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บและเสียหายของทรัพย์สิน อันเกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง 3

นอกจากนี้ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ศาลจังหวัดสงขลาได้นัดฟังคำพิพากษา คดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 บริเวณสะพานจุติ - บุญสูง ทางเข้าโรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเครือข่ายคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ ท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตกเป็นจำเลย จำนวน 20 คน

นายสุไลมาน หมัดยูโซ๊ะ ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซ ท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า เครือข่ายฯ ร่วมกับสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยา
ลัยธรรมศาสตร์และกลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จังหวัดสงขลา ร่วมจัดงาน "2 ปี 20 ธันวา" ที่ห้องสมุดคุณหญิงหลง อรรถกวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมของชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซและโครงการท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย บริเวณสะพานจุติ - บุญสูง ทางเข้าโรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 โดยประมวลเหตุการณ์ต่อสู้คัดค้านของชาวบ้าน การดำเนินการและการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่วันดังกล่าว เป็นต้นมา

ในงานดังกล่าวได้เชิญนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หม่อมหลวงวัลวิภา บุรุษรัตนพันธุ์ อดีตกรรมการผู้ชำนาญการโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย และตัวแทนชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการฯ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครง
การฯ มาร่วมเป็นวิทยากร

มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net