Skip to main content
sharethis

สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และทีมนักวิชาการยกร่าง "ยุทธศาสตร์การจัดการกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ" หรือที่เรียกกันว่า "ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ" โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบนำเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและเตรียมที่จะนำเข้าสู่ ครม.

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวมี การกำหนดกลุ่มคนที่ไร้สัญชาติ โดยแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 5 กลุ่ม

1. คนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ระบุตัวเลขจากกรมการปกครองว่ามีจำนวน 90,739 คน ให้สถานะบุคคลไปแล้ว 73,133 คน คงเหลือที่เป็นปัญหา 17,606 คน

2. กลุ่มที่อพยพมาจากนอกประเทศแต่อาศัยมานานหรือทำประโยชน์ เช่น ชาวเวียดนามอพยพในอดีต กลุ่มนี้มีจำนวน 180,000 คน ได้รับสถานะบุคคลไปแล้ว 53,000 คน คงเหลือ 120,000 คน

3. กลุ่มคนที่ทางราชการมีการสำรวจและจัดทำระบบทะเบียนควบคุม และผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากนอกประเทศ มีจำนวน 360,000 คน

4. กลุ่มผู้ลี้ภัยจากการสู้รบและแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

5. กลุ่มคนไร้สัญชาติและไร้รัฐ หมายถึงไม่ทราบที่มา ปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจตัวเลข

ส่วนกรอบการให้สัญชาตินั้น สมช. จัดแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกประเทศ (หมายถึงกลุ่มคนต่างด้าว ทั้งที่เข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมาย และหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย) กลุ่มบุคคลที่ไม่รู้แหล่งที่มา และกลุ่มคนที่มีคุณประโยชน์กับประเทศ ทั้งนี้มีกรอบกว้าง ๆ ว่า ถ้าหากอยู่ในเมืองไทยมานานอย่างน้อยติดต่อกัน 10 ปี ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ก็จะให้สัญชาติไทยได้ถ้าทำมาหากินโดยสุจริต ประพฤติดี และกลุ่มคนที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น เรียนดี ทำวิจัยเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอยู่อาศัยติดต่อกัน 5 ปี ก็จะได้รับสัญชาติไทย เป็นต้น ส่วนกลุ่มชาวเขาในประเทศไทยกลับเลือนหายไป ไม่มีการระบุให้ชัดเจน

นอกจากนี้ ประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนค่อนข้างมาก และหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้ง คือ จะให้สัญชาติแก่เด็กไร้สัญชาติ หมายถึงเด็กที่เกิดในประเทศไทยเป็นบุตรของคนต่างด้าวก็จะได้รับสัญชาติไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม สมช. ก็ยังขยักไว้ตอนท้ายด้วยว่าสามารถถอนสัญชาติคืนได้ หมายถึงยึดบัตรประชาชนคืนได้ หากมีพฤติกรรมเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติตามกฎหมายการปกครอง

เนื้อแท้แค่จัดระเบียบแรงงาน ?

การเสนอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว อาจทำให้คนโดยทั่วไปเข้าใจว่า สมช.นั้นเข้ามาแก้ไขปัญหาสัญชาติแล้ว แต่สำหรับ "สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย" ปัจจุบันคือเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ และอนุกรรมการแก้ไขปัญหาชนเผ่าของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่ทำงานเกาะติดกับปัญหาชาวเขามานานมีข้อท้วงติงต่อร่างดังกล่าว เห็นว่า เนื้อแท้ของร่างดังกล่าวยังมีข้ออ่อน และไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาชาวเขาในประเทศไทย แต่กลับทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าชาวเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกับ "แรงงานต่างด้าว" ไปเสียอีก

วิวัฒน์ ตามี่ อนุกรรมกรรมการแก้ไขปัญหาชนเผ่า สกน. กล่าวว่าหาก สมช.มีการดำเนินการตามข้อเสนอของนักวิชาการ ซึ่งมีแกนหลักคือ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ วุฒิสภา และประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้น มีการจัดแบ่งกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติผิดเพี้ยนไปจากสมัชชาชนเผ่า และทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาชาวเขาตกสำรวจได้จริง กล่าวคือแบ่งกลุ่มคนออกเป็นกลุ่มหลัก ๆ คือ 1) กลุ่มชาวเขาดั้งเดิม ซึ่งขณะนี้ตัวเลขของ สมช.ระบุว่าเหลือเพียงแค่หมื่นกว่าคน 2) อพยพหนีเข้าเมืองโดยเข้ามาเมืองไทยก่อน 3 ตุลาคม 2528 3) อพยพเข้าเมืองไทยหลัง 3 ตุลาคม 2528

การแบ่งกลุ่มคนดังกล่าว ทำให้มีการใช้กฎหมายคนละฉบับ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้กลุ่มชาวเขาที่เข้ามาเมืองไทยทั้งก่อนหลัง 3 ตุลาคม 2528 ถูกจัดกลุ่มเป็นกลุ่มเดียวกับแรงงานต่างด้าว ที่มีลักษณะพิเศษออกไปอีก ทั้ง 2 กลุ่มจะถูกบังคับใช้ด้วย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (คนต่างด้าว) ไม่ได้ผ่าน การพิสูจน์สถานะบุคคลแบบที่ สกน.พยายามเสนอคือ พิสูจน์จากหลักฐานการตั้งชุมชน พยานบุคคลในชุมชน คนกลุ่มที่ 2 จะกลายเป็นคนต่างด้าวถาวร ส่วนคนที่ 3 จะกลายเป็นคนไม่มีสิทธิ และต้องผลักดันออกนอกประเทศกลายเป็นคนไร้รัฐโดยปริยาย

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนของแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ สมช.นำเสนอ กับ ข้อเสนอของ สกน.คือ ร่างยุทธศาสตร์ของ สมช.ยังมองกลุ่มคนไร้สัญชาติเป็นเพียงผู้อพยพเข้ามาในแผ่นดินไทย เป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย ขณะที่มุมมองของ สกน.นั้นมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงนั้นเป็นคนไทย มีการตั้งถิ่นฐาน มีวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

วิธีการมองที่แตกต่างกันทำให้แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างกัน กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาของ สมช.จะรวมกลุ่มชาวเขากับแรงงานต่างด้าวเป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติเหมือนกัน ส่วนของ สกน.นั้นต้องการให้แยกกลุ่มชาวเขาออกมาจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวออกมาให้ชัดเจน และมีมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ต่างกันไป

ชาวเขาและแรงงานต่างด้าวต้องแยกแยะ

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2541 ก่อนที่ สมช.จะนำเสนอยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสัญชาตินั้น กลุ่มชาวเขาในภาคเหนือเคยมีการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นครั้งแรกที่ชาวเขารวมตัวกันมากที่สุด รวมตัวกันในนาม "สมัชชาชนเผ่า" เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาสัญชาติของชาวเขา

ข้อเรียกร้องของสมัชชาชนเผ่าครั้งนั้น มุ่งเน้นให้ภาครัฐให้สัญชาติแก่ชาวเขาที่ตั้งถิ่นฐานทำกินในประเทศไทย โดยคนกลุ่มนี้มีอยู่ถึง 8 แสนคน แต่รัฐบาลเพิ่งดำเนินการให้สัญชาติไทยเพียง 2 แสนคน ส่วนที่เหลืออีกกว่า 5 แสนคนนั้นได้รับบัตรสีฟ้าจากกระทรวงมหาดไทย หมายถึงกระทรวงมหาดไทยเตรียมที่จะให้สัญชาติในภายหน้า ส่วนที่เหลือก็เป็นกลุ่มคนที่ตกสำรวจหรือเกิดจากความบกพร่องของทางราชการเอง

ส่วนคนต่างด้าวแท้ ๆ ที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่นั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน แต่การชุมนุมของสมัชชาชนเผ่าก็ยังถูกโจมตีว่าเป็นพวกต่างด้าวต้องการบัตรประชาชน ทำให้การแก้ไขปัญหาชาวเขาที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่ง สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจนที่นำโดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ ต้องออกมาเรียกร้องให้มีการแยกแยะชาวเขากับแรงงานต่างด้าวออกจากกัน เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหากลุ่มคนทั้งสองกลุ่มได้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ แจงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจน เพราะชาวเขาในประเทศไทยมีปัญหาคนละแบบกับ "แรงงานต่างด้าว" ปัญหาชาวเขาที่ไม่ได้รับสัญชาตินั้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเกิดจากความบกพร่องของส่วนราชการเอง ที่มีการทุจริตบ้าง ประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึงบ้าง เป็นต้น

ชาวเขาประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย เช่น กะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ เย้า อาข่า ไทยใหญ่ ฯลฯ การที่กลุ่มชาวเขาไม่ได้รับสัญชาติไทยมีปัญหาตามมา ทำให้ไม่ได้สิทธิในด้านอื่น ๆ เช่น สิทธิในการทำกิน การจัดการทรัพยากร การศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มแรงงานต่างด้าว นั้นอพยพเข้ามาในประเทศไทยช่วงไม่ถึง 10 ปีมานี้ ปัจจุบันกลุ่มแรงงานต่างด้าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนมีการระบุตัวเลข 1- 2 ล้านคนนั้น เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามา เพราะเหตุผลต้องลี้ภัยจากการสู้รบในประเทศพม่า เพื่อนบ้านของเรา และภาคเอกชนเองก็นำเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานประมง อุตสาหกรรม และงานดูแลสวน เป็นต้น คนกลุ่มนี้ก็จะมาอยู่ในแคมป์คนงานบ้าง อยู่ในโรงงานบ้าง และอยู่ตามบ้านบ้าง ไม่ได้มีการตั้งถิ่นฐานเหมือนกับชาวเขาที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย

แต่เวลานี้ เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยที่กำลังจะเหมารวมว่าคนที่พูดภาษาไทยไม่ชัด มีภาษาตามชาติพันธุ์ของตนเองนั้นเป็น "ต่างด้าว" ไปหมด ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอมาตรการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยที่เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาการให้สัญชาติแก่ชาวเขาเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2548 ว่าจะมีการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว 1 ปี และจะเร่งรัดลงรายการสัญชาติให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีคำถามว่าหากกรมการปกครองดำเนินการเสร็จไม่ทัน 1 ปี ชาวเขาจะถูกผลักดันออกนอกประเทศใช่หรือไม่

นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐจะสับสน ชาวเขาเองก็สับสนไปด้วย ด้วยความไม่แน่ใจในหลักประกันของตัวเองว่ารัฐจะแก้ไขปัญหาสัญชาติให้หรือไม่ เมื่อไม่รู้ก็ต้องหาทางอยู่รอดไปก่อน ก็พากันไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวไว้ก่อน จากที่เคยมีบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง เป็นชาวเขาในประเทศไทย สถานะก็ตกต่ำโดยพลัน กลายเป็นแรงงานต่างด้าวไปเสียอีก ถ้าไม่ต่ออายุขึ้นทะเบียนแบบปีต่อปี ก็มีสิทธิถูกผลักดันออกนอกประเทศได้ ทั้ง ๆ ที่บ้านของตัวเองก็อยู่ที่นี่แท้ ๆ เป็นต้น

นี่คือกรณีตัวอย่างของความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หาก สมช.จะยกร่างยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชาวเขาที่ตกสำรวจไม่ได้รับสัญชาติ สมควรอย่างยิ่งที่ต้องฟังเสียงของกลุ่มเหล่านี้ดูก่อน และต้องแยกแยะการแก้ไขปัญหา "แรงงานต่างด้าว" ด้วย

เบญจา ศิลารักษ์
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779, 09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net