Skip to main content
sharethis

หลังจากเกิดเหตุการณ์ "แก๊งออลเวย์" แก๊งกวนเมืองเชียงใหม่ ชักปืน .22 จ่อยิงนายวิษณุ อุปันโณ สตาฟฟ์โค้ชกีฬาเทควันโด เขต 5 เชียงใหม่ ที่หน้าร้านมินิมาร์ท ของปั๊มน้ำมันคิวเอท สาขาวัดเจ็ดยอด ถ.สายเชียงใหม่-ลำปาง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จนเสียชีวิต ได้ทำให้หลายฝ่ายวิตกกันว่า กลุ่มแก๊งป่วนกวนเมืองกำลังฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง และมีการตั้งคำถามกันว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะมีทางแก้ไขปัญหานี้หรือไม่

"แก๊งออลเวย์" เป็นกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มไหน มีที่มาอย่างไร

ข้อมูลจากในพื้นที่ระบุว่า "แก๊งออลเวย์" เป็นกลุ่มวัยรุ่นทั้งชายและหญิง อายุตั้งแต่ 16-20 ปีขึ้นไป ที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อปกป้องสมาชิกภายในกลุ่ม ซึ่งปัจจุบัน แก๊งดังกล่าวมีจำนวนสมาชิกจำนวน 656 คน โดยจะมีหัวหน้าจำนวน 4-5 คน คอยควบคุมดูแลเมื่อเกิดการรวมตัวกันขึ้น

สัญลักษณ์ของ แก๊งออลเวย์ จะสังเกตง่ายๆ คือ จะติดสติ๊กเกอร์ที่ข้างรถจักรยานยนต์ว่า "ออลเวย์ อำมหิต" นอกจากนั้น จะสวมเสื้อยืดสีดำที่สกรีนชื่อ ออลเวย์อำมหิต ติดอยู่หน้าอกเสื้อ และชอบขับรถจักรยานยนต์กันไปเป็นกลุ่ม เลาะเลียบไปตามคลองชลประทาน ย่านวัดเจ็ดยอด และชอบไปรวมตัวกันที่ร้านอู๋ยาดอง กันเป็นประจำ

นางลัดดาวัลย์ ชัยนิลพันธ์ หรือยายแอ๊ว จากโครงการลดพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนในเมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กลุ่มออลเวย์ อดีตเคยอยู่ในสมาชิกของกลุ่มเอ็นดีอาร์ ตอนหลังได้แยกตัวออกไป จึงไม่อาจสามารถควบคุมดูแลพวกเขาได้ ล่าสุด กลุ่มออลเวย์ ได้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงกับ เอ็นดีอาร์ จนเกิดปัญหาบานปลาย ตนจึงได้พยายามเข้าไปเจรจากับแกนนำของทั้งสองฝ่าย แต่ไม่อาจตกลงกันได้

"กลุ่มที่น่าจับตามองในขณะนี้ มีทั้งหมด 4 แก๊ง คือ กลุ่มป่าตัน กลุ่มเก้าแสน กลุ่มอารามบอย และกลุ่มออลเวย์ ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนี้ ไม่ยอมเข้าร่วมในโครงการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในเมืองเชียงใหม่ ที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดขึ้น ซึ่งทำให้มีการควบคุมดูแลกันยาก จนทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ได้ใช้ความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์" นางลัดดาวัลย์ กล่าว

นางลัดดาวัลย์ กล่าวอีกว่า ตนรู้สึกเสียใจ ที่รู้ข้อมูลมาก่อนแล้วว่าจะมีการใช้ความรุนแรง แต่ไม่สามารถป้องกันได้ อีกอย่างตนได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว และเคยเสนอให้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือวางแผนหามาตราการยุติความรุนแรง เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่มีการประชุมกัน แต่ก็เกิดเหตุรุนแรงขึ้นจนได้ เชื่อว่า หลังจากนี้ ทุกฝ่ายคงจะมีการตื่นตัวกันมากขึ้น

ตำรวจหามาตรการระงับความรุนแรง

พ.ต.ท.สมทรง มณฑากุล สารวัตรงาน 3 กองกำกับการ 5 ตำรวจภูธร ภาค 5 กรรมการผู้ทรง
คุณวุฒิด้านสวัสดิการเด็ก จ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีกลุ่มวัยรุ่นที่สำคัญอยู่ประมาณ 11 กลุ่ม ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะมีทั้งวัยรุ่นในเมือง และอำเภอรอบนอก เช่น หางดง สารภี สันกำแพง ซึ่งที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะตั้งจุดตรวจไว้รอบๆ เพื่อสอดส่องดูแลกันอยู่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนจะรุนแรงกว่านี้มาก

ขณะทางจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายขวัญชัย วงศ์เหรียญทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานดำเนินงาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เข้าร่วมเป็นกรรมการ มีการประชุมกันทุกเดือน ซึ่งหลายฝ่ายเห็นด้วยว่า น่าจะมีการพาหัวหน้ากลุ่มวัยรุ่นทุกกลุ่มมาจัดกิจกรรมร่วมกัน และรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่น เพื่อหาวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง โดยจะเน้นการระงับความรุนแรง ไม่ให้มีการตอบโต้ และใช้การเจรจาเป็นหลัก

"ตอนนี้ เราได้ทำประสบความสำเร็จแล้ว ก็คือ กลุ่มเอ็นดีอาร์ ซึ่งเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ทางกลุ่มเอ็นดีอาร์ ได้รวมพลังกันที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งวัยรุ่นกลุ่มนี้ได้แสดงเจตนารมย์ว่าจะยุติความรุนแรง จะสร้างคุณงามความดีให้กับจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับการตั้งกฎขึ้นมาควบคุม
ดูแลกันเอง " พ.ต.ท.สมทรง กล่าว

พ.ต.ท.สมทรง ยังกล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว กลุ่มวัยรุ่นในเชียงใหม่ ไม่ได้เลวร้ายไปทุกกลุ่มทุกคน ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของเด็กวัยรุ่น จะไม่ให้มีปัญหานี้เลย คงเป็นไปไม่ได้ แต่หากเรารู้และเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่น เชื่อว่าปัญหาความรุนแรงจะลดลงไปเรื่อยๆ

ผู้ปกครอง-ผู้บริหารสถาบันศึกษา ต้องร่วมมือ

"ที่สำคัญที่สุด เราจะต้องร่วมกันเข้าไปดูแล โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ที่ปล่อยให้ลูกเข้ามาเรียนในตัวเมือง โดยที่ไม่ได้ติดตามดูแล ผลที่ตามก็อาจทำให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางคณะกรรมการคุ้มครองเด็กฯ กำลังเสนอกันว่า น่าจะเข้าร่วมการประชุมผู้ปกครอง เพื่อพูดกับผู้ปกครองโดยตรง และมีการประชุมกับผู้บริหารสถานศึกษา ให้เข้าใจว่า จะต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชนด้วย ไม่ใช่จะปกป้องแต่ชื่อเสียงของสถาบันเพียงอย่างเดียว" กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการเด็ก จ.เชียงใหม่ กล่าว

พ.ต.ท.สมทรง ยังพูดถึงเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าตำรวจที่มีต่อกลุ่มวัยรุ่นอีกว่า ตอนนี้เราพยายามจะให้ตำรวจมีความเข้าใจในจิตวิทยาวัยรุ่น ไม่ใช่เห็นวัยรุ่นเป็นศัตรูอยู่ตลอด โดยเฉพาะตำรวจจราจร เพราะจะต้องเจอกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไปมาอยู่ตลอดเวลา

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net