Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น ตรงที่มีสติปัญญาในการแสวงหา "เหตุผลและความรู้" แต่ในขณะที่ "เหตุผลและความรู้" คือแบบจำลองทางความคิด ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออธิบายหรือจำลองภาพความจริงของธรรมชาติ (เหมือนแผนที่ประเทศไทยที่จำลองภาพความจริงทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย)

ปรากฏการณ์เรื่องเดียวกัน จึงอาจมีแบบจำลองของ "เหตุผลและความรู้" ในการอธิบายความจริงเรื่องนั้นๆได้มากกว่า 1 แบบจำลอง (เหมือนแผนที่ประเทศไทยซึ่งมีได้หลายแบบหลายลักษณะ) อันส่งผลทำให้เกิดข้อถกเถียงกันได้ "เหตุผลและความรู้" ชุดไหนที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ในการอธิบายหรือจำลองภาพความจริง (reality) ของธรรมชาติเรื่องนั้นๆ

ข้อจำกัดของ "เหตุผลและความรู้" ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดมีทฤษฎีต่างๆได้หลายทฤษฎีในแต่ละศาสตร์สาขาความรู้ ที่อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติเรื่องเดียวกัน แต่ด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน

ข้อจำกัดนี้เกิดขึ้นกับวงการศาสนาทุกศาสนาด้วย ส่งผลทำให้แต่ละศาสนามักจะมีการแตกเป็นลัทธิหรือนิกายต่างๆ เพราะการตีความหลักธรรมคำสอนของศาสนานั้นๆด้วย "เหตุผลและความรู้" ที่ไม่ตรงกัน แม้ว่าจะยึดคัมภีร์หลักทางศาสนาเล่มเดียวกันก็ตาม

พระพุทธองค์ทรงตระหนักถึงข้อจำกัดของ "เหตุผลและความรู้" ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในลักษณะเช่นนี้ จึงได้ทรงบัญญัติระบบพระธรรมวินัยขึ้นเพื่ออาศัยหลัก "นิติปรัชญา" เป็นเครื่องช่วยยึดโยงสังคมสงฆ์ให้เป็นเอกภาพ

เพราะ "ภาษา" ของหลักนิติปรัชญา เป็น "ภาษาระดับปรากฏการณ์" (observation terms) ซึ่งมีปัญหาในการถกเถียงตีความได้น้อยกว่า "ภาษาศาสนาในระดับทฤษฎี" (theoritical terms)

เช่น ถึงแม้เราจะถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวางจนหาข้อยุติร่วมกันได้ยากว่า "นิพพาน" คืออะไร "พระอรหันต์" ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ การบรรลุ "โสดาบัน" มีลักษณะอย่างไร "ธรรมกาย" ตามพุทธพจน์หมายถึงอะไร ฯลฯ
แต่เราจะไม่มีปัญหาข้อถกเถียงมากนัก อันทำให้สามารถหาข้อยุติร่วมกันโดยไม่ยากว่า พฤติกรรมการกระทำผิด "ปฐมอาบัติปาราชิก" ของพระภิกษุ ด้วยการ "เสพเมถุน" มีลักษณะอย่างไร เป็นต้น

พระวินัยปิฎกจำนวน 8 เล่ม จากพระไตรปิฎก 45 เล่ม ก็คือหลักนิติปรัชญาของพุทธธรรม ซึ่งเป็นเสมือนระบบประมวลกฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อยึดโยงคณะสงฆ์(ที่เป็นแกนหลักของสถาบันพุทธศาสนา)ให้มีความเป็นปึกแผ่น

ระบบพระวินัยดังกล่าวมีเนื้อหาที่ครอบคลุมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบแห่งความผิดและสภาพบังคับ (เทียงเคียงได้กับกฎหมายสารบัญญัติ) ตลอดจนมีเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีตัดสินพิจารณาความต่างๆซึ่งเรียกว่า "หลักอธิกรณสมถะ" (เทียบเคียงได้กับกฎหมายวิธีสบัญญัติ) รวมทั้งมีบทบัญญัติที่กำหนดระบบความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุกับคณะสงฆ์ (คล้ายหลักกฎหมายมหาชน) และมีบทบัญญัติที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุกับภิกษุด้วยกัน(คล้ายหลักกฎหมายเอกชน)

สิกขาบทต่างๆ มีการจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะของบทกำหนดโทษและความผิด โดยมีสภาพบังคับตั้งแต่โทษ "อาบัติปาราชิก" (ให้สึกจากการเป็นพระภิกษุ) ซึ่งคล้ายกับโทษประหารชีวิตในทางโลก) (อาบัติสังฆาทิเสส ( (ให้มีการกักบริเวณและตัดสิทธิบางอย่างช่วงอยู่ปริวาสกรรม ซึ่งคล้ายกับโทษจำคุกในทางโลก) รวมทั้ง อาบัตินิสสขิยปาจิตตีย์ (ให้สละทรัพย์สินหรือสิ่งของที่ได้มาโดยมิชอบ)คืนแก่เจ้าของหรือให้กับหมู่สงฆ์ ซึ่งคล้ายกับโทษเปรียบเทียบปรับในทางโลก) เป็นต้น

ตลอดจนมีตัวอย่างคำพิพากษาตัดสินคดีความผิดต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งเปรียบเสมือนคำพิพากษาฎีกา สำหรับใช้เป็นบรรทัดฐานอ้างอิงในการพิจารณาตัดสินคดีหรืออธิกรณ์ต่างๆด้วย

ในขณะที่พระพุทธศาสนาถือว่าโดยกฎธรรมชาติของกรรม หรือ "กรรมนิยาม" นั้น มนุษย์ทุกคนมี "เจตจำนงเสรี" ที่จะเลือกกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมในแต่ละขณะจิต การอาศัยอำนาจจากภายนอกบีบคั้นให้ผู้คนต้องกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (แม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม) จึงยังไม่อาจส่งผลให้เกิดเป็นกุศลวิบากที่สมบูรณ์ได้ ถ้าการกระทำนั้นๆไม่ใช่เกิดจากเจตจำนงเสรีดังกล่าว เหมือนนักโทษที่ถูกจับขังเดี่ยวในคุกจนหมดโอกาสไปทำร้ายใคร ก็ยังไม่อาจถือได้ว่า บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ทรงศีลหรือมีศีลบริสุทธิ์ และได้ประกอบกุศลกรรมตามนัยะแห่งหลักพุทธธรรม เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ระบบพระธรรมวินัยของพุทธศาสนา จึงบัญญัติขึ้นบนพื้นฐานแห่งเจตนารมณ์ ที่แฝงไว้ด้วยการให้ความเคารพอย่างสูงต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน อันสอดคล้องกับหลักแห่ง "กรรมนิยาม" ในพุทธปรัชญาดังกล่าว

ตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นหลักการสำคัญเรื่องนี้ในพระธรรมวินัยก็คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่อง "นานาสังวาส" ซึ่งปรากฏหลักฐานหลายแห่งในพระไตรปิฎก อาทิ ในพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ 5 ข้อ 238-260 โดยกล่าวถึงเรื่องราวของพระภิกษุ 2 กลุ่มในกรุงโกสัมพี มีความเห็นไม่ตรงกัน ในการตีความพระธรรมวินัย เพียงแค่เรื่องเข้าห้องน้ำแล้ว ต้องคว่ำขันน้ำหรือไม่ต้องคว่ำขันน้ำ สุดท้ายก็ขัดแย้งกันรุนแรงถึงขั้นแยกกันทำสังฆกรรมคนละอุโบสถ

เหตุการณ์กรณีดังกล่าว พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงใช้อำนาจตัดสินเพื่อบีบบังคับให้ภิกษุทั้ง 2 กลุ่ม หันหน้าเข้าปรองดองกัน หรือตัดสินชี้ขาดว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด เพราะถ้ากระทำเช่นนั้น ความกินแหนงแคลงใจจะยังไม่มีทางคลี่คลายหมดไปได้ ตรงกันข้ามอาจเกิดความกดดันหมักหมมจนกลายเป็นความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก

ผลที่สุดพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติ "หลักนานาสังวาส" ขึ้นในพระธรรมวินัย โดยให้ภิกษุทั้ง 2 ฝ่ายแยกกันทำอุโบสถ แต่ให้ทำสังฆกรรมภายใต้สีมาเดียวกัน (คือให้อยู่ภายในวัดเดียวกัน แต่ให้แยกกันประชุมทำสังฆกรรมต่างๆ)

แล้วให้พุทธบริษัทปฏิบัติต่อสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่ายให้เสมอภาค และใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญเองเมื่อไปคบคุ้นใกล้ชิดว่า สงฆ์ฝ่ายใดเป็นธรรมวาทีที่ควรสนับสนุนส่งเสริม ฝ่ายใดเป็นอธรรมวาทีที่ไม่ควรสนับสนุนส่งเสริม

ทั้งนี้ทรงยอมรับให้มีความแตกต่างทางความคิดเห็นและวัตรปฏิบัติ ถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น "นานาสังวาส" ในคณะสงฆ์ แต่ในท่ามกลางความแตกต่างนั้น ก็กำหนดบทบัญญัติในพระธรรมวินัยขึ้น เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการยึดโยงให้สงฆ์ทั้ง 2 ฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ยังคงความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน และเป็นเพื่อนสหพรหมจรรย์ภายใต้สังฆมณฑลเดียวกัน บนพื้นฐานของการให้เกียรติ และให้ความเคารพในสิทธิของกันและกันภายใต้กรอบแห่งพระธรรมวินัย
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีอลัชชีปะปนเข้ามาในสังคมสงฆ์ และก่อให้เกิดความเสียหายจนสุดที่จะให้อยู่ร่วมกันต่อไปได้อีก มาตรการลงโทษขั้นสูงสุดที่พระพุทธองค์ให้สงฆ์กระทำกับกับภิกษุนั้นก็คือ การลง "ปัพพาชนียกรรม" อันเป็นการลงโทษไล่ออกจากหมู่ ตลอดจนการกระทำ "ปกาสนียกรรม" อันได้แก่การประกาศต่อสาธารณชนว่า สงฆ์ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลนั้นๆอีก ถ้าบุคคลผู้นั้นไปกระทำเรื่องเสื่อมเสียอะไร ก็เป็นพฤติกรรมส่วนตัวของผู้นั้น โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับสงฆ์ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าให้กระทำปกาสนียกรรมแก่พระเทวทัต (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่มที่ 7 หน้า 115) ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงลงปกาสนียกรรมในกรุงราชคฤห์แก่พระเทวทัตว่า ปรกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วย กาย วาจา ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง"

หลักนิติปรัชญาในเรื่องนานาสังวาส รวมทั้งนิติประเพณีเรื่องการปกาสนียกรรมตามหลักพระธรรมวินัยของพุทธศาสนา ได้สะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงแห่งความปรารถนาดีของพุทธศาสนา ที่ประสงค์จะให้มนุษย์บนโลกนั้นอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ บนพื้นฐานของความเคารพในสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อของผู้อื่น โดยปราศจากการใช้กำลังอำนาจบีบบังคับให้ใครต้องเชื่อ หรือไม่ให้เชื่อในเรื่องต่างๆตามความคิดความเห็นของตน

ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับธรรมชาติแห่งความแตกต่างทางความคิดของผู้คนในสังคม แล้วอาศัยหลักแห่งนิติธรรม สร้างเอกภาพในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายให้เกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงวิธีการสร้างความแตกแยกร้าวลึกในสังคม ท่ามกลางภาพเปลือกนอกอันฉาบฉวยของความเป็นเอกภาพ ที่อาศัยกำลังอำนาจบีบเค้นให้ปรากฏ

ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงรับสั่งกับหมู่สงฆ์ว่า ไม่ทรงตั้งภิกษุรูปใดให้เป็นสังฆบิดรแทนพระองค์ แต่ให้ระบบพระธรรมวินัยเป็นเสมือนศาสดาแทนตัวพระพุทธองค์ ถ้าคณะสงฆ์ไทยเข้าใจและเข้าถึงแก่นสารคุณค่าของระบบพระธรรมวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่อง "นานาสังวาส" นี้ ข้อถกเถียงในการร่วมกันจัดงานวันวิสาขบูชาโลก เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างชาวพุทธกลุ่มต่างๆในสังคมไทย ให้สมกับเป็นงานวันวิสาขบูชาในระดับโลก ที่ร้อยรัดชาวพุทธทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่าจากทั่วทุกมุมโลกด้วยสามัคคีธรรม ก็คงจะไม่ปรากฏขึ้นดังที่เป็นข่าว
สุนัย เศรษบุญสร้าง
คณะกรรมการดำเนินงานจัดงานปฏิบัติบูชาวิสาขมาส ณ พุทธมณฑล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net