Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 พ.ค.48 "เรื่องของการคุ้มครองการลงทุนคงอยู่ในเอฟทีเอไทย-สหรัฐเป็นหลัก เพราะตัวผลักดันหลักก็คือสหรัฐ เพราะเขาไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการทางกฎหมายของประเทศกำลังพัฒนาจึงมีวัตถุประสงค์ที่จะบายพาส หรือข้ามกระบวนการทางกฎหมายของเราไปทั้งหมด" ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้า และคุ้มครองผู้บริโภค จากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "การลงทุนและการระงับข้อพิพาทในข้อตกลงเขตการค้าเสรี" จัดโดยกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอวอทช์)

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการเจราจาข้อตกลงเขตการเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ ที่เพิ่งดำเนินการเจราจาครั้งที่ 3 ที่พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการหารือในหลายประเด็น โดยประเด็นที่ค่อนข้างคืบหน้าประเด็นหนึ่งคือเรื่องการเปิดเสรีการลงทุน ที่ต้องมีมาตรการคุ้มครองการลงทุน อาทิ การระงับข้อพิพาทในระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

ดร.เดือนเด่นกล่าวต่อว่า ในกระบวนการของอนุญาโตตุลาการของไทยในปัจจุบัน ซึ่งต้องส่งคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการมาให้ศาลไทยพิพากษารับรองก่อนนั้น เชื่อว่าทางสหรัฐคงไม่ยอมในเรื่องนี้ คงต้องมีการแก้กฎหมายไทยเอง เพื่อให้ทุกอย่างสิ้นสุดที่คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการเปิดเสรีด้านการเงิน ซึ่งสหรัฐพยายามผลักดันนั้น จากการวิจัยพบว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรสงวนเอาไว้ โดยเฉพาะการลงทุนในเงินกู้ระยะสั้น เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะอาจนำประเทศไทยไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนปี 2540 เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่สามารถควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้

ด้านนายวริน เทียมจรัส นักกฎหมายและที่ปรึกษากรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ แต่ไม่เคยมีการผลิตบุคลากรที่จะมาทำงานตรงนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายไทยยังคงยึดกับกรอบความรู้ของกฎหมายเอกชนเป็นหลัก และไม่คุ้นเคยกับกฎหมายมหาชน ซึ่งปัญหาเรื่องอนุญาโตตุลาการนี้แม้แต่กรณีพิพาทภายในประเทศ ระหว่างรัฐวิสาหกิจและประชาชนก็ยังมีปัญหาอยู่

"ถามว่าแล้วการระงับข้อพิพาทซึ่งในเอฟทีเอทุกฉบับพูดว่าจะไปใช้กระบวนการตรงนั้น ขนาดในประเทศเองเรายังไม่ได้สร้างบุคคลากร ท้ายที่สุดกระบวนการชี้ขาดนี้จะนำไปสู่กระบวนการให้ต่างชาติได้ประโยชน์" นายวรินกล่าว

นายวรินระบุด้วยว่า นอกจากนี้ตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการระบุว่า เมื่อมีผลชี้ขาดแล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ในประเทศไทยได้ทันที ต้องเอาผลทั้งหมดมาสู่ศาลไทยแล้วให้ศาลไทยมีคำพิพากษารับรองอีกครั้งหนึ่ง แต่ศาลก็จะทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบกับกระบวนการอนุญาโตเท่านั้น และมีอำนาจพิจารณาเฉพาะข้อกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงมันยุติเลย ซึ่งตรงนี้มีปัญหาเพราะข้อมูลต่างๆ แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยเมื่อนำกลับเข้ามาสู่ศาลไทย

"ส่วนคำถามว่ากระบวนการของอนุญาโตตุลาการกรณีที่เอกชนพิพาทกับเอกชน และเอกชนพิพาทกับรัฐจะเหมือนกันหรือเปล่านั้น มันใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน กระบวนการก็คงไม่ต่างอะไร แม้ว่าในต่างประเทศจะพยายามจะรื้อเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการปกปิดข้อมูลเป็นความลับก็ตาม" นายวรินกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net