Skip to main content
sharethis

วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2006 17:45น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้ จะยุติลงเมื่อใด กว่าสองปีที่ผ่านมา นับพันชีวิตต้องสูญเสีย สังเวยต่อเหตุการณ์นี้


 


ไม่เพียงความสูญเสียในระดับปัจเจกบุคคล แต่รูปแบบความรุนแรงได้พัฒนาขึ้นไปโดยตลอด แม้แต่ชุมนุมเมือง ที่มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หรือเครือข่ายโทรคมนาคม ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ก็ตกเป็นเป้าหมายก่อความรุนแรงมาแล้ว ที่สำคัญปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้ถูกขีดวงจำกัดอยู่แต่ภายในประเทศเท่านั้นเท่านั้น แต่มีความพยายามยกระดับสถานการณ์ขึ้นไปถึงระดับสากล หรือเวทีนานาชาติอีกด้วย


 


ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดั่งลิ่มแห่งความกลัวและความหวาดระแวง ที่ตอกย้ำรอยแยกของชนสองศาสนา สองชาติพันธ์ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นภาวะอันตรายยิ่ง หากยังไม่อาจหยุดยั้งได้


 


การคาดการณ์แนวโน้มอนาคตเป็นการนำข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วมาเรียบเรียง จัดระเบียบและตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปข้างหน้า หากเงื่อนไขปัจจัยต่างๆเป็นดังที่เกิดขึ้นมาแล้ว จึงเปรียบเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้า ชี้ให้เห็นว่าหากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเช่นนี้ต่อไป จะเกิดภัยอะไรขึ้นข้างหน้า เพราะเช่นนี้จึงต้องมุ่งมั่นแสวงหาลู่ทางการรักษาที่ผ่อนเบาหรือแก้ไขปัญหาในอนาคตให้ได้


 


ทั้งนี้ควรต้องตระหนักแต่ต้นว่า การฆ่าฟันทำร้ายที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมเป็น"การเตือนภัยที่ล่าช้าไปแล้ว"(late warning) สำหรับปรากฏการณ์ความรุนแรงซึ่งมีที่มาจากโครงสร้าง และมีระบบวัฒนธรรมบางลักษณะคอยให้ความชอบธรรมอยู่ หากหาวิธีแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างและระบบวัฒนธรรมได้ ก็อาจหยุดยั้งป้องกันไม่ให้การฆ่าฟันทำร้ายกันเลวร้ายลงไปกว่านี้ได้เช่นกัน


 


ในบางกรณีการหยุดยั้งป้องกันมิให้สถานการณ์เลวลง อาจมีส่วนช่วยผลักดันให้สถานการณ์พลิกกลับไปสู่จุดก่อนเกิดเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ระดับความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นในรอบทศวรรษที่แล้วมาได้ด้วย


 


มีการคาดคะเนสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากหลายฝ่าย เช่นรายงานศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ระบุว่า กลุ่มก่อความไม่สงบจะยังดำรงความมุ่งหมายแบ่งแยกดินแดนต่อไป คาดว่าคงจะก่อเหตุร้ายต่อเนื่อง โดยจะไม่คำนึงถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งของตนเอง อันจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในอำนาจรัฐ เจ้าหน้าที่ข้าราชการเกิดความกลัว และเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานออกจาก 3 จังหวัดมากขึ้น


 


ต้นเดือนตุลาคม 2548 หลังเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพที่บาหลีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 นายทหารบางคนเชื่อว่า เหตุการณ์จะยิ่งบานปลายออกไปเพราะไม่สามารถแยกแยะ"คนร้าย"ออกจากประชาชนได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดที่ชัดเจนได้


 


จากการสำรวจความเห็นของประชาชนทั้งราษฎรและเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ระหว่างวันที่ 21 ถึง 25 กันยายน 2548 ก็พบว่า ผู้คนที่เห็นสถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมรวมทั้งที่เห็นว่าเลวร้ายลงมากมีจำนวนถึง ร้อยละ 55.7 ขณะที่ร้อยละ 35.4 เห็นว่าสถานการณ์เหมือนเดิมคือมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นประจำ


 


แม้บางท่านในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์เอง ก็คาดเดาสถานการณ์ไปในทางที่จะเลวร้ายลง


 


แต่เมื่อเทียบเหตุการณ์รุนแรงระหว่างปี 2547 ถึง 2548 ที่ผ่านมาเป็นรายเดือน จะพบว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นมีลักษณะและระดับใกล้เคียงกันในระยะครึ่งปีแรก จากนั้นระดับความรุนแรงในปี 2548 ลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการบางอย่างของรัฐบาลที่หันมาทางสันติวิธีและใช้การเมืองนำการทหาร เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการและการวางกำลังในพื้นที่


 


ระดับความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอีกในช่วงกลางปีจนถึงเดือนมิถุนายน จากนั้นก็ลดลงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่กลับขยับขึ้นหลังเดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายนก็พุ่งสูงอีกครั้ง ส่วนในตอนปลายปีเดือนธันวาคม ความรุนแรงก็ลดต่ำลงอย่างมากเพราะเป็นช่วงฝนตกหนักและน้ำท่วม


 


เหตุการณ์ดูเหมือนว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นๆ ลงๆ เป็นคลื่น แต่ถ้าวงจรความรุนแรงในปี 2549 จะดำเนินไปเช่นในสองปีที่ผ่านมา ก็อาจคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์รุนแรงน่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้ หรือถ้าพิจารณาจากจำนวนผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย จะเห็นได้ว่าจำนวนคนที่เจ็บและตายในครึ่งแรกของปี 2548 มีมากกว่าจำนวนคนเจ็บคนตายในครึ่งแรกของ ปี 2547


 


ความรุนแรง : ดินแดนแห่งความกลัว


โดยที่ตลอดระยะเวลาสองปี คือ 2547-2548 มีคนเจ็บคนตายรวมทั้งสิ้น 2,940 คน ในจำนวนนี้มีผู้ตาย 1,175 คน และบาดเจ็บ 1,765 คน


 


ที่น่าสังเกตคือ ผู้ที่ตายเพราะความรุนแรงในรอบสองปีที่ผ่านมา พบว่าชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูกลับเป็นผู้เสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธ


 


มีคนมุสลิมเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 จำนวน 607 คนหรือร้อยละ 51.7 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนคนพุทธเสียชีวิตจำนวน 538 คนหรือเป็นร้อยละ 45.8 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรอบสองปี (จำนวนที่เหลือไม่สามารถระบุได้)


 


ในส่วนของผู้บาดเจ็บนั้น คนไทยพุทธมีจำนวนมากกว่า กล่าวคือคนพุทธได้รับบาดเจ็บจำนวน 1,085 คน หรือร้อยละ 61.5 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด ส่วนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูได้รับบาดเจ็บจำนวน 498 ตนหรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.2 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 ดังในแผนภูมิที่ 4 ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นมีเป้าหมายต่อผู้คนทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม


 


ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำหรือผู้ประกอบอาชีพที่มิใช่ข้าราชการ จำนวน 471 คนในปี พ.ศ. 2547 และจำนวน 564 คนในปี พ.ศ. 2548 รองลงมาคือกลุ่มตำรวจจำนวน 247 คนในปี 2547 และ 154 คนในปี 2548 กลุ่มที่ถูกกระทำเป็นกลุ่มที่สามคือทหาร


 


การที่เป้าหมายสำคัญของความรุนแรงคือประชาชนทั่วไปแทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีผลอย่างมากต่อการสร้างความรู้สึกหวาดกลัวในหมู่ประชาชนในวงกว้าง ที่สำคัญคือ เหยื่อของความรุนแรงที่เป็นประชาชนสามัญในปี พ.ศ. 2548 มีจำนวนสูงขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2547 อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงในปี พ.ศ. 2548 ได้มีแนวโน้มขยายเป้าหมายไปสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้นด้วย


 


ความกลัวนี้มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างประชาชนต่างวัฒนธรรมด้วยกันเอง กล่าวคือ ในทางหนึ่งผู้คนทั่วไปหวาดกลัวภัยจากความรุนแรงในเงามืดที่รัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้ บ้างก็อาจไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเองมีส่วนก่อความรุนแรงด้วยหรือไม่ ในอีกทางหนึ่ง เนื่องจากพวกเขาเผชิญภัยคุกคามจากผู้ก่อความรุนแรงที่มองไม่เห็นตัว ความกลัวจึงอาจเปลี่ยนเป็นความหวาดระแวงต่อกัน ทำร้ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรมที่เคยมั่นคงแข็งแรงมาแต่เดิม


 


ประเภทของความรุนแรงที่ปรากฏมากที่สุดก็คือการยิง ในรอบสองปีเกิดขึ้น 1486 ครั้งหรือร้อยละ 42 รองลงมาคือการวางเพลิง 736 ครั้งหรือร้อยละ 20 ส่วนการใช้ระเบิดเกิดขึ้น 510 ครั้งหรือร้อยละ 14 นอกจากนี้ยังมีการก่อกวนและสร้างสถานการณ์ เช่นวางตะปูเรือใบตามท้องถนน หรือ ทำลายข้าวของ พ่นสีตามป้ายสาธารณะอีก 331 ครั้งหรือร้อยละ 9


 


ในรอบสองปีที่ผ่านมาเกิดกรณีฆ่าตัดคอ 16 ครั้งซึ่งส่งผลต่อจิตใจผู้คนมากแม้จะเกิดขึ้นไม่มากครั้งเมื่อเทียบกับความรุนแรงชนิดอื่น


 


เมื่อแยกรายจังหวัดและวิธีการก่อเหตุรุนแรงพบว่า นราธิวาสเป็นจังหวัดที่เกิดเหตุรุนแรงสูงสุด คือมีเหตุการณ์การยิง 635 ครั้ง วาง เพลิง 305 ครั้ง และวางระเบิด 266 ครั้ง รองลงมาคือปัตตานีมีการยิง 498 ครั้ง การวางเพลิง 243 ครั้ง และวางระเบิด 44 ครั้ง และยะลาเป็นจังหวัดที่มีการยิง 326 ครั้ง การวางเพลิง 183 ครั้งและวางระเบิด 129 ครั้ง


 


น่าสนใจว่ายะลามีการวางระเบิดเกิดขึ้นมากกว่าปัตตานีในระยะหลังโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2548


 


เมื่อประเมินแนวโน้มในอนาคตจากข้อมูลความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในรอบสองปีที่ผ่านมา คงสรุปได้ว่า


 


1. ความรุนแรงน่าจะดำเนินต่อไป แม้ในช่วงปลายปีจำนวนเหตุการณ์รุนแรงจะลดลง แต่อาจมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นช่วงต้นปี


 


2. การใช้ระเบิดมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มในครึ่งหลังของปี 2548 พบว่า มีการใช้ระเบิดสร้างความรุนแรงมากขึ้นกว่าการลอบวางเพลิงเช่นที่เคยเป็นมา และ


3. ที่สำคัญประชาชนสามัญตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน


 


ลิ่มแห่งความระแวง : กับดักความรุนแรง


พิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนหมู่เหล่าต่างๆทั้งในระดับท้องถิ่นชายแดนภาคใต้และในระดับประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ สันติภาพและความมั่นคงของไทยวางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระหว่างผู้คนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูกับชาวไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ และความสัมพันธ์คู่นี้ก็วางอยู่ในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอุษาคเนย์และในระดับโลกอีกทอดหนึ่ง


 


ระหว่างความสัมพันธ์สองมิติคือ รัฐกับประชาชน และ ระหว่างประชาชนด้วยกันเองนั้น ความมั่นคงของประเทศขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในรัฐด้วยกันเองยิ่งกว่าระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะถ้าผู้คนซึ่งแตกต่างหลากหลายในรัฐแตกแยกเกลียดชังกัน คงยากที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจะดีไปด้วยได้ ในทางกลับกัน แม้บางยุคบางสมัยที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนร้าวฉาน แต่ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในรัฐเข้มแข็งรักใคร่กัน ความมั่นคงของประเทศก็จะถูกโอบอุ้มคุ้มครองอยู่ด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในรัฐนั้นเอง


 


ปัญหาสำคัญยิ่งในขณะนี้คือ เหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องกันในรอบสองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547นั้น กระทบความสัมพันธ์ทั้งสองมิติอย่างไร ความเข้าใจในเรื่องนี้น่าจะชี้ให้เห็นแนวโน้มความรุนแรงในอนาคตข้างหน้าว่า จะเป็นอย่างไรได้บ้าง


 


ผลสะเทือนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2548 สะท้อนให้เห็นชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่ไว้ใจในรัฐเพราะไม่แน่ใจว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ของรัฐมากน้อยเพียงไร


 


แม้กระทั่งข้อความข้างอาคาร (graffiti) ว่า "ฟาตอนีย์ เมอร์เดกา"(เอกราชปัตตานี)ที่มีผู้ใช้สีเสปรย์พ่นไว้ในชุมชน ตามอาคาร ป้ายทางหลวง หรือบนถนน ในบริเวณสุไหงปาดี และ เจาะไอร้อง ก็มีชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูบางส่วนเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันชาวพุทธในพื้นที่ก็ไม่ไว้ใจในรัฐเพราะเห็นว่าไม่สามารถปกปักรักษาพวกตนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเองได้


 


ในแง่นี้สัญญาณอันตรายของรัฐไทยอยู่ที่ กำลังเคลื่อนเข้าใกล้ภาวะซึ่งบางคนเรียกว่า "รัฐล้มละลาย" (failed states) ซึ่งเป็นอาการของรัฐที่ไม่สามารถประกันความปลอดภัยให้กับพลเมืองของตนได้ ไม่สามารถให้บริการสาธารณะกับผู้คนในรัฐได้ อีกทั้งยังดูเหมือนมีอาณาบริเวณที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึงมากขึ้นเรื่อยๆ


 


การศึกษา"รัฐล้มละลาย"ในระยะหลังให้ความสำคัญกับกระบวนการที่รัฐค่อยๆหมดความ สามารถจะปกครอง (state weakening)ยิ่งกว่ากรณีที่รัฐทำอะไรไม่ได้เลย(state collapse) เพราะผลที่สำคัญประการหนึ่งของการที่รัฐอ่อนแอลงเรื่อยๆจนปกครองไม่ได้คือ ความสามารถของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐจะเข้าครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวได้มากขึ้นในสภาพที่ความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินเสื่อมโทรมลงไป


 


ที่อันตรายยิ่งกว่าคือ ไม่ว่ารัฐจะเป็นอย่างไร เข้มแข็งหรือล้มละลาย หากชุมชนยังเข้มแข็ง ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายยังอยู่ร่วมกันในฐานะพลเมืองเสมอกันได้ ประเทศก็ยังมั่นคงปลอดภัยอยู่ได้ แนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ไม่เพียงรัฐอ่อนแอแทบหมดกำลังจะปกป้องคุ้มครองพลเมือง แต่ชุมชนเองก็ดูเหมือนเข้าใกล้กับความล้มละลายไปด้วย (failed communities) กรณีตันหยงลิมอเป็นกรณีที่ชุมชนหมดกำลังจะปกป้องคุ้มครองคนที่ตนรับภาระดูแลอยู่ได้


 


ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ทั้งในประเทศก็ดูเหมือนจะถูกลิ่มแห่งความรุนแรงตอกให้แยกห่างจากกันมากขึ้นทุกที เพราะชาวไทยพุทธบางส่วนในพื้นที่รู้สึกว่า คนไทยนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม"ต้องถอยร่นทางวัฒนธรรม" อำนาจรัฐก็ไม่ยุติธรรม เพราะลำเอียงเข้าข้างชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ทำให้คนเหล่านี้ดูเหมือนมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนไทยหมู่เหล่าอื่น เวลาคนมุสลิมทำผิดไม่ค่อยถูกลงโทษ แต่หากเป็นคนศาสนาอื่นจะถูกลงโทษหนักที่สุดตามกฎหมาย


 


ขณะที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูกลับรู้สึกว่า ตนได้รับความไม่เป็นธรรม และมักได้รับการปฏิบัติจากรัฐไม่เหมาะสมอันเป็นผลจากการปฏิบัติตนในฐานะมุสลิม เช่นหากแต่งกายตามแบบชาวมุสลิมในภาคใต้ จะถูกหวาดระแวงทำให้ถูกตรวจค้นมากขึ้น


 


ในระยะสองปีมานี้ยังพบว่าในพื้นที่มีใบปลิวหลายประเภท ทั้งที่เผยแพร่โดยฝ่ายผู้ก่อการและโดยภาครัฐ ในใบปลิวที่ออกมาข่มขู่คนพุทธจะชี้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารหรือฝ่ายปกครองก็ล้วนเป็นชาวพุทธ เป็นศัตรูของพระเจ้าและศาสนา (กาฟิร)


 


ขณะเดียวกันก็ข่มขู่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ให้ความร่วมมือกับรัฐโดยเรียกคนเหล่านี้ว่า มุนาฟิก (พวก หลอกลวงหน้าไหว้หลังหลอก)


 


ถ้าเป็นใบปลิวที่เขียนเป็นภาษามลายูท้องถิ่นจะมีเนื้อหาว่าด้วยความไม่ยุติธรรมของรัฐไทย แต่ถ้าเป็นภาษาไทยจะมีเนื้อหาโจมตีคนที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ในรายงานวิจัยจะระบุว่าไม่พบใบปลิวนี้อีกในช่วงปลายปี 2548 แต่ในการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งระบุว่า ผู้นำศาสนาอิสลามหลายท่านได้รับใบปลิวที่มีเนื้อหา "6 ไม่ 1 ต้อง" คือ


 


ไม่เจรจาประนีประนอมกับรัฐไทย ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ยอมรับระบบรัฐสภา ไม่โยกย้ายหนีไปไหน ไม่มอบตัว และไม่รับเขตการปกครองพิเศษ ส่วน 1 ต้อง คือ ต้องทำสงครามแบ่ง แยก


 


จะเห็นได้ว่า แนวโน้มอันตรายในอนาคตประการหนึ่งคือภัยจากลิ่มแห่งความรุนแรงที่นอกจากจะทำลายสถาบันทางวัฒนธรรมที่ผูกร้อยผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เห็นคนที่แตกต่างจากตนทั้งที่อยู่ในสังคมการเมืองเดียวกันเป็นดังคนแปลกหน้าหรือกระทั่งเป็นศัตรู ยังทำให้ผู้คนผูกติดอยู่กับการใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นผลโดยตรงของความกลัวและความหวาดระแวงต่อกัน


 


สภาพเช่นนี้นี่เองที่ทำให้การเลือกใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหา นอกจากจะผิดฝาผิดตัวแล้ว ยังจะทำให้อาการข้างหน้าเลวร้ายลงอีก ดังนั้นทางออกของสังคมไทยเพื่อหยุดยั้งแนวโน้มอันตรายในอนาคตจึงจำเป็นต้องหันมาหาแนวทางสมานฉันท์ (reconciliation)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net