Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสที่จะครบ 3 ปีการออกกฎติดฉลากจีเอ็มโอในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ กรีนพีซร่วมกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้องค์การอาหารและยาแก้กฎติดฉลากจีเอ็มโอครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่มีจีเอ็มโอทุกชนิดเป็นส่วนประกอบ


 


สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2546 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศบังคับใช้กฎติดฉลาก โดยมีเงื่อนไขว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองและข้าวโพดจีเอ็มโอใน 3 ส่วนประกอบหลัก 5% ขึ้นไปเท่านั้นจึงต้องติดฉลาก ส่วนพืชจีเอ็มโอชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ไม่อยู่ในข่ายต้องติดฉลาก


 


นับจากวันที่ออกกฎมาในวันที่ 11 พ.ค. นี้จะครบ 3 ปีแล้ว จะเห็นว่า กฎนี้ไร้ประสิทธิภาพ เพราะฉลากก็ไม่มีความชัดเจน ไม่สามารถให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อซึ่งนำไปสู่การได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยจากการบริโภค


 


ฉลากจีเอ็มโอจึงควรมีสัญลักษณ์ที่ชัดเจน เห็นได้ด้วยตาเปล่า ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ใช้วัตถุดิบจีเอ็มโอ เช่น มะละกอ มันฝรั่ง โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นลำดับหรือปริมาณเท่าใด


 


มีการเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎติดฉลากมาตลอด เนื่องจากกฎติดสลากของไทยอ่อนแอ กลายเป็นช่องโหว่ให้บริษัทผลิตอาหารใช้เป็นช่องทางการขายอาหารจีเอ็มโอให้คนไทย


 


กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรต้องตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเกี่ยวพันกับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย - สหรัฐ ซึ่งแม้ขณะนี้ยังชะลออยู่ แต่ประเด็นจีเอ็มโอเป็นประเด็นที่พร้อมจะถูกหยิบขึ้นมาทุกเมื่อ เราจึงต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ


 


ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการประเมินความปลอดภัยในอาหารจีเอ็มโอยังไม่เพียงพอ เช่น กรณีมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตร ที่ล่าสุดออกมาแถลงข่าวจากผลการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเองว่า ปลอดภัยต่อมนุษย์นั้น พบว่า มีการเปรียบเทียบสารอาหารสำคัญเพียงไม่กี่ชนิด ทดลองกับสัตว์เพียงในระยะสั้นๆ และยังไม่มีการทดสอบความปลอดภัยต่อมนุษย์ เช่น ทดสอบความเป็นพิษ หรือการเกิดภูมิแพ้


 


นอกจากนี้ยังพบว่ามะละกอจีเอ็มโอมียีนดื้อยาปฏิชีวนะเตตราซัยคลิน แต่กลับไม่มีระบุในการประเมินความปลอดภัย ขณะที่กฎหมายของสหภาพยุโรป ไม่อนุญาตให้วางจำหน่ายพืชและอาหารจีเอ็มโอที่มีสารต้านทานยาปฏิชีวนะ ดังนั้น มะละกอจีเอ็มโอจึงไม่ปลอดภัย


 


ดังนั้น องค์การอาหารและยาจะต้องแก้ไขกฎติดฉลากให้เข้มงวดขึ้น โดยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีจีเอ็มโอทุกชนิดเป็นส่วนประกอบตั้งแต่ 1% ขึ้นไป ในทุกส่วนประกอบต้องติดฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์รับรู้และปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอ รวมทั้งเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถอ้างอิงสืบค้นย้อนหลังและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ในกรณีที่พบว่าอาหารจีเอ็มโอมีอันตรายต่อสุขภาพ


 


โพลชี้คนเมืองไม่เข้าใจจีเอ็มโอคืออะไร


ด้าน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล แถลงผลการสำรวจเรื่องความคิดเห็นของประชาชนในเขตเมืองต่อพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ จากการสำรวจภาคสนาม ใช้การสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 2,071 ตัวอย่าง ระหว่าง 27 ก.ย.-15 ต.ค. 48 ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี


 


พบว่า ประชาชนที่ถูกสำรวจทราบความหมายและไม่ทราบความหมายของการดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดย 47.2% ทราบความหมาย 49.9% ไม่ทราบความหมาย และ 2.9% ไม่ระบุ


 


สำหรับกลุ่มที่ทราบความหมายของจีเอ็มโอ มากกว่า 2 ใน 3 หรือ 65.2% ไม่เคยพบเห็นการติดป้ายฉลากสินค้าที่มีข้อความว่า "ดัดแปรพันธุกรรม" วางขายในท้องตลาด ขณะที่มีเพียง 11.5% ที่เคยพบเห็น และ 23.3% ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ


 


ทั้งนี้ ผู้บริโภคกลุ่มที่ทราบความหมายของจีเอ็มโอ 74.5% ระบุว่า ไม่ทราบว่ามีการออกกฎของกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การติดฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2546 ขณะที่มีเพียง 25.5% ระบุว่าเคยทราบมาก่อน


 


นอกจากนี้ 72.2% ของกลุ่มที่ทราบความหมายของจีเอ็มโอ ระบุว่าเห็นด้วยกับการแก้กฎกระทรวงโดยให้มีการติดฉลาก ถ้ามีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ ปริมาณ 1% ในทุกส่วนประกอบของอาหาร ขณะที่ 7.8% ไม่เห็นด้วย และ 20% ไม่มีความเห็น


 


สำหรับข้อควรปรับปรุงของกฎการติดฉลากที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขนั้น ตัวอย่างระบุว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎการติดฉลากยังไม่เพียงพอ (69.5%) การติดฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรมควรครอบคลุมถึงอาหารสดด้วย (36.5%) ต้องการให้รัฐออกกฎบังคับให้มีการติดฉลากที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนจีเอ็มโอ ในปริมาณ 5% ทุกส่วนประกอบของอาหาร ไม่ใช่บังคับใช้เฉพาะ 3 ส่วนผสมหลัก (29.6%) และต้องการให้รัฐบาลออกกฎบังคับใช้ครอบคลุมอาหารประเภทอื่นที่มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ โดยไม่ได้บังคับเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีถั่วเหลืองหรือข้าวโพดเป็นส่วนผสมเท่านั้น (23.9%)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net