Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 ก.ย. 49       นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าได้รับทราบผลการตรวจเยี่ยมธนาคารพาณิชย์ที่ถูกลอบวางระเบิดในพื้นที่จ.ยะลา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประเมินความเสียหายเบื้องต้นมูลค่าประมาณ 1.55 ล้านบาท


 


กระทรวงการคลัง รายงานว่า จากการประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนประธานชมรมธนาคารจังหวัดยะลา และผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการสรุปมาตรการป้องกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


 


มาตรการป้องกันระยะสั้น จะมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลธนาคารในพื้นที่สาขาละ 2 นาย ส่วนพื้นที่รอบนอกจะให้ฝ่ายทหารเข้าไปดูแล และจะจัดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของธนาคารในการดูแลความปลอดภัยในเชิงป้องกันก่อนเกิดปัญหา ด้วย


 


ส่วนมาตรการป้องกันระยะยาว จะสนับสนุนให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่มีเครื่องตรวจโลหะและวัตถุระเบิดอย่างเพียงพอทั้งชนิดมือถือ และแบบเดินผ่าน พร้อมจัดให้มีกล้องวงจรปิดอย่างเพียงพอในแต่ละสาขา


    


วันเดียวกัน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ที่ประกอบด้วย 3 สถาบัน คือ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย มีข้อเสนอฉุกเฉินถึงรัฐบาล 2 ข้อ เพื่อเข้าไปเยียวยาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ การลงทุน โดยเสนอแก้ปัญหาความมั่นคงและความปลอดภัยในพื้นที่ และขอให้รัฐตั้งเขตเศรษฐกิจฉุกเฉินนั้น รัฐบาลควรรับฟังและนำไปปฏิบัติโดยเร็ว ไม่ควรเพิกเฉยอีกต่อไป



ทั้งนี้ ผลกระทบจากการวางระเบิดธนาคารใน จ.ยะลา ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความหวั่นวิตกต่อสภาพเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเหตุการณ์วางระเบิดธนาคารพาณิชย์ทำให้นักลงทุน นักธุรกิจ เกิดความวิตกกังวล เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นเมืองร้าง ดังนั้น ในส่วนของภาครัฐต้องเข้าไปมีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจ การลงทุนทุกส่วนเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีอะไรสะดุด



เหตุระเบิดธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม จำนวน 22 แห่ง มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 27 คน


 


ข้อมูลประกอบเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษฉุกเฉิน3จ.ใต้


ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) วันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมาประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สรุปว่าที่ประชุมเห็นชอบในข้อเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง 'เขตเศรษฐกิจพิเศษฉุกเฉิน' ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และรักษาสภาวะทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดภาคใต้ ให้ดำเนินต่อไปได้ โดยจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในทันที


 


นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน หอการค้าฯ เปิดเผยว่า รายละเอียด ของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย  และเทพา ประกอบด้วยนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการคลัง ขอให้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลดค่าธรรมเนียมภาษีเงินได้ทุกประเภท รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหลือ  1-50% จากที่เก็บอยู่ปัจจุบัน รวมทั้งภาษีนิติบุคคล ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ


      


นอกจากนี้ ขอให้ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (Soft Loan) 1.5% ที่จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ให้ขยายออกไปอีกอย่างน้อย 3 ปี


      


ขณะเดียวกันขอให้รัฐบาลเจรจาหรือให้การสนับสนุนค่าธรรมเนียมในการประกันภัยการก่อวินาศกรรม เดิมจ่าย 0.6% ลดเหลือ 0.1% และเพิ่มวง เงินประกันจาก 50 ล้านบาท เป็น 100  ล้านบาท ลดค่าธรรมเนียมการโอนและ จำนองเหลือ 0.01% เป็นเวลา 3 ปี


               


ในส่วนของความมั่นคงนั้น ขอให้รัฐบาลแต่งตั้งผู้มีอำนาจหนึ่งเดียว ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจสั่งการโยกย้ายข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ รวมทั้งพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษฉุกเฉิน โดยเบ็ดเสร็จไม่มีเงื่อนไข เพื่อเอกภาพในการบริหาร


      


นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่า หากมีการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถปรับปรุงและแก้ไขการทำงานได้ทันท่วงที ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีความเป็นเอกภาพ อีกทั้งยังเป็นแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงป้องกันการย้ายฐานการลงทุน


 


นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการรองประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ เคยมีการเสนอรัฐมาแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า หากรัฐไม่ลงมาดูแลจริงจังเชื่อว่าภาคธุรกิจคงย้ายการลงทุนไปมาเลเซียแทน เพราะเปิดรับอย่างเต็มที่ นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัญหา ที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจรายย่อยกระทบถึง 50% และสูญเสียรายได้ 70% จากที่เคยได้ในภาวะปกติ      


 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net