Skip to main content
sharethis


ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์


 


หลังจากการกระทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ในวันที่ 19 กันยายน 2549  มีหลายเสียงทั้งจากนักวิชาการ และประชาชนที่เห็นว่าการกระทำนี้เป็นไปโดยสันติ  เพราะปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ  ประเด็นนี้น่าสนใจมากว่าในเมื่อไม่มีการเสียเลือดเนื้อเช่นนี้  เราจะสามารถเรียกการยึดอำนาจครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำโดยสันติวิธีได้หรือไม่ ?


 


สันติวิธีนั้นเป็นวิธีการที่ไม่ได้มีการจำกัดตายตัวว่าอะไรคือสันติวิธี  อะไรไม่ใช่สันติวิธี  สันติวิธีมีความหลากหลายอย่างมาก  เช่น  บางคนคิดว่าการใช้คำพูดด่าคู่กรณีนั้นเป็นสันติวิธี  เพราะไม่มีการใช้ความรุนแรงทางกายแต่อย่างใด  บางกลุ่มเชื่อว่าการใช้กำลังทำลายทรัพย์สินของคู่กรณี  โดยเฉพาะอาวุธที่ใช้ทำร้ายประชาชนเป็นสันติวิธี  เพราะนี่ไม่ใช่การทำร้ายมนุษย์ หากแต่เป็นการยับยั้งการทำร้ายผู้อื่น  ขณะที่อีกฝ่ายก็เชื่อว่าสันติวิธี  ต้องเป็นไปทั้งกาย วาจา และใจ   สันติวิธีเปิดกว้างสำหรับความคิดเห็นที่หลากหลาย  เพราะเชื่อว่านี่เป็นวิธีที่นำมาซึ่งสันติในสังคม 


 


ในบทสัมภาษณ์นี้ นารี  เจริญผลพิริยะ  นักฝึกอบรมสันติวิธี  ได้ให้ความคิดเห็นต่อคำถามที่ว่าการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นสันติวิธีหรือไม่   และให้มุมมองด้านสันติวิธีต่อคำถามอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม


 


คุณนารีคิดว่าการยึดอำนาจครั้งนี้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "การปฏิวัติที่สันติ"  "การปฏิวัติสีชมพู" หรือ "การปฏิวัติที่ปราศจากเสียงปืน" เป็นสันติวิธีหรือไม่


 


นารี :    ขอเรียกว่ารัฐประหารน่าจะตรงมากกว่าคำว่าปฏิวัติ  หากพูดถึงการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขครั้งนี้  ลองนึกย้อนกลับไปถึงกรณีก๊อดส์อาร์มี่บุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี  เมื่อ 24 มกราคม 2543  เป้าหมายต้องการนำหมอและยาไปช่วยชีวิตเพื่อนที่บาดเจ็บจากการปะทะที่แนวชายแดน  โดยใช้วิธีการนำอาวุธสงครามเข้ามาบังคับหมอในโรงพยาบาล  ผู้ก่อการทั้งหมดไม่มีโอกาสใช้อาวุธ  เพราะถูกทางการยิงเสียชีวิตทั้งหมด หรือไม่ได้ใช้อาวุธ  เพราะคนในโรงพยาบาลบอกว่าพวกเขาไม่ได้แสดงอาการจะทำร้ายใคร  เป้าหมายของคนกลุ่มนี้เป็นสันติ  เพื่อช่วยชีวิตคน  และแม้ถืออาวุธมาแต่ไม่ได้ใช้ทำร้ายใคร  แต่วิธีการที่คนกลุ่มนี้ใช้ก็ไม่อาจเรียกว่าสันติวิธี  การถืออาวุธบังคับให้ผู้อื่นทำตามที่ตนต้องการ  แม้บังคับให้ทำความดี  ก็ยังต้องถือว่าใช้ความรุนแรง 


 


เช่นกัน  การรัฐประหารครั้งนี้มีเป้าหมายยุติความขัดแย้ง  แต่วิธีการมีรูปแบบที่รุนแรง  ไม่งั้นจะเอาปืนเอารถถังออกมาทำไม  หรือก่อนออกจากกองทัพนั้นทหารได้ปฏิญาณหรือไม่ว่าจะไม่ยิง   การรัฐประหารครั้งนี้เราพูดว่าเป็นการใช้สันติวิธีไม่ได้  เพราะอาวุธที่ใช้ส่อเจตนา  แม้เป้าหมายจะเป็นสันติ  แม้ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น  แต่นี่เป็นเพราะคู่กรณีไม่ได้ต่อต้าน  เหมือนกับคุณใส่นวมชกมวยเตรียมจะไปชกคู่ต่อสู้  แต่คู่ต่อสู้คุณกลับนิ่งเฉย    ถ้าคุณทักษิณลุกขึ้นสู้ขึ้นมา  ทหารก็ต้องใช้ความรุนแรงกลับอยู่แล้ว  หรือถ้าชาวบ้านต่อต้านขึ้นมาคุณจะยิงหรือไม่ ?


 


ในอีกแง่หนึ่งการรวบอำนาจนั้นเป็นความรุนแรง  ซึ่งตรงข้ามกับการกระจายอำนาจซึ่งเป็นสันติวิธี  การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตัดสินชะตากรรมของคนทั้งประเทศ  การบังคับเอาอำนาจ  การควบคุมสิทธิการแสดงความคิดเห็น เป็นความรุนแรงอยู่แล้ว  เหมือนกับการตัดสินใจสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ไม่ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็เป็นความรุนแรง


 


มีเสียงบอกว่าการปฏิวัตินี้เป็นทางออกสุดท้าย  ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว


 


นารี :    ที่เราอยากให้สู้โดยสันติต่อก็เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคน  ในเวลาที่มีความขัดแย้ง  คนก็อยากจะให้มีการแก้ปัญหาโดยเร็ว  จึงอยากกลับไปใช้วิธีที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  แต่ถ้าใช้สันติวิธีให้การศึกษาให้ข้อเท็จจริงประชาชน  ซึ่งเราก็เดินหน้าเปลี่ยนความคิดคนมาได้มากแล้วในเรื่องระบอบทักษิณ  มีคนที่เห็นด้วยมากขึ้นน่าจะถึง 50 ต่อ 50 แล้ว  ถ้าเราทำให้ประชาชนเรียนรู้มากขึ้น  เมื่อประชาชนเปลี่ยน  ประชาชนจะเป็นผู้เปลี่ยนผู้นำเอง  แต่การเปลี่ยนแปลงแบบเบ็ดเสร็จนั้น  ประชาชนที่เชียร์ทักษิณอีก 50 % ก็ยังคงชื่นชมระบอบทักษิณ  ระบอบทักษิณไม่ได้ไปพร้อมกับอำนาจของคุณทักษิณ  ระบอบทักษิณยังคงอยู่ในใจของประชาชนเหล่านี้  เมื่อมีผู้นำลักษณะเช่นเดิมเข้ามาอีก  ระบอบทักษิณก็จะได้รับการสนับสนุนกลับขึ้นมาอีกครั้ง  แต่การเปลี่ยนแปลงแบบสันติจะทำให้ประชาชนมีความรู้สามารถตรวจสอบผู้นำที่อยุติธรรม  และใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน (ประชาธิปไตย) มันเป็นการเปลี่ยนโดยระบบ  แม้เราจะมีผู้นำที่ไม่ดีเข้ามา  ระบบแบบนี้จะทำให้ผู้นำนั้นอยู่ไม่ได้  เพราะประชาชนเท่าทันผู้นำและรู้จักใช้อำนาจของตน


 


บางคนคิดว่า  การปฏิวัติจำเป็นเพราะหากเราใช้วิธีสันติต่อไปมันจะลงเอยด้วยการนองเลือด  เพราะทักษิณพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงแล้ว


 


นารี :    หากการชุมนุมกำลังจะถูกแทรกแซงด้วยความรุนแรง เช่น มีข่าวการลอบทำร้ายผู้ชุมนุมด้วยระเบิด  หรือยกอีกพวกมาตี  ซึ่งอาจเกิดการนองเลือด  ผู้นำการชุมนุมก็สามารถหยุดพักหรือยกเลิกการชุมนุม  สามารถหยุดการนองเลือดได้ไม่ยากเลย  แล้วสร้างสรรค์วิธีการอื่นมาทดแทน  จะใช้สัญลักษณ์สีแสดงความเห็นต่างหรือจะขึ้นป้ายหน้าบ้านตัวเอง  เมืองทั้งเมืองก็สามารถกลายเป็นที่ชุมนุมแสดงความเห็นซึ่งตัวคนไม่ต้องออกมารวมตัวกันจำนวนมากซึ่งดูแลความปลอดภัยได้ยาก  แต่ถ้าบ้านที่ขึ้นป้ายถูกวางระเบิด  ผู้ปกครองก็จะหมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ  เพราะไม่สามารถรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน  หรือใช้การไม่ร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น การถอนเงินออกจากแบงค์  ไม่ซื้อไม่ขายกับกิจการของรัฐบาลต่าง ๆ  ไม่ซื้อลอตเตอรี่  ดังนั้น รัฐประหารจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย


             


ขณะนี้กำลังมีกระแสแบ่งเป็นสองขั้วว่า  ถ้าเราไม่อยู่ข้างฝ่ายรัฐประหาร  เราก็ต้องอยู่ข้างทักษิณ  เรามีทางเลือกอื่นที่ถือว่าเป็นสันติวิธีอีกไหม


 


นารี :    การที่ไม่เอาระบอบทักษิณนั้นเป็นเป้าหมาย  ซึ่งอาจมีหลากหลายวิธีการ  ถ้าเรากล่าวหาว่าระบอบทักษิณเป็นเผด็จการแล้วเราเห็นด้วยกับการรัฐประหารนั้น  เท่ากับการล้มเผด็จการด้วยเผด็จการ  แต่ถ้าเราไม่เอาระบอบทักษิณ  แล้วเราล้มระบอบทักษิณด้วยสันติวิธี  นั่นเราจะได้ประชาธิปไตย 


 


การรัฐประหารทำให้เรากลับไปนิยมความรุนแรงอีกครั้ง  เหมือนยุคที่คนชอบถามหาคนอย่างจอมพลสฤษดิ์เมื่อมีปัญหา   สังคมเราต้องการประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน  ถ้าเราผ่านประสบการณ์การใช้สันติวิธีร่วมกัน  อย่างเราเห็นร่วมกันว่าการชุมนุมบนราชดำเนินเราทำได้แล้วไม่มีความรุนแรง  เราก็จะเห็นว่ามันเป็นไปได้  แต่เมื่อเราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นต้องใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ดังการรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีต  เราจึงได้แต่เรียนรู้ระบอบเผด็จการเท่านั้น  การศึกษาประชาธิปไตยจริง ๆ จึงกระท่อนกระแท่นมาก  เมื่อเรามีรากฐานเช่นนี้เราจึงตอบรับการยึดอำนาจโดยกำลังทหารได้โดยง่าย  ดังจะเห็นได้ว่าเราสามารถยอมรับการรัฐประหารในระบอบประชาธิปไตยได้  แม้เราจะมีผู้นำรัฐประหารที่สังคมยอมรับว่าเป็นคนดี  แต่ระบบยังเป็นเหมือนเดิม  จิตสำนึกของประชาชนนิยมเผด็จการโดยคนดี  ที่ไม่มีหลักประกันและไม่มีสิทธิเลือก 


 


ในระบบเผด็จการนั้นการรวบอำนาจไม่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาในปัจจุบัน  เพราะสังคมขยายจำนวนประชากรมากขึ้น  ความหลากหลายของผู้คนและปัญหามีมากขึ้น  ถ้ามีคนที่มีอำนาจการตัดสินใจจำนวนน้อย  จะลดความสามารถในการแก้ปัญหาลง  แต่ถ้ากระจายอำนาจ  ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา  จะทำให้มีสติปัญญารวมกันมากขึ้น  การแก้ปัญหาก็จะมีประสิทธิภาพ


 


แต่ คปค. ประกาศว่าจะทำหน้าที่เพียงสองอาทิตย์เท่านั้น  แล้วจะคืนอำนาจให้ประชาชน  สองอาทิตย์นี้จะมีผลอะไรกับสังคมได้หรือไม่


 


นารี :    เป็นที่ปรากฏว่าพ่อแม่พาลูก ๆ ใส่ชุดลายพราง  ไปขอปืนจากทหารมาทำท่าจ่อยิงผู้อื่น  และถ่ายภาพไว้ชื่นชม  เพียงสองอาทิตย์นี้เราก็มีระเบิดเวลาในอนาคตเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่ลูก  การคืนเสรีภาพให้ประชาชนนั้นยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี  ไม่เช่นนั้นจะเกิดค่านิยมใหม่ที่เป็นอันตรายกับสังคม  เราจะมีคนที่สนับสนุนการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเต็มประเทศ  ทั้งเข้าใจประชาธิปไตยผิดเพี้ยนไป  สังคมไทยควรมีพัฒนาการเรียนรู้ประชาธิปไตยมากกว่านี้


 


ในเวลาเดียวกัน  การคืนอำนาจให้กับประชาชนเร็วเท่าไรก็จะยิ่งเป็นผลดีกับ คปค. เพราะการจับปูใส่กระด้งไม่ใช่เรื่องง่าย  คนไทยอาจชอบใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับคนอื่น  เเต่ไม่ชอบให้ใครใช้อำนาจบังคับตนเอง  เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก  คปค. ก็ต้องอาศัยคำประกาศต่าง ๆ ในการกำกับความเป็นไปของประเทศ  เช่น  คำประกาศที่ต้องลงท้ายด้วย  "... หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษโดยเฉียบขาด"     คปค.จะปกครองประเทศที่ผู้คนมีใจเป็นไท  ด้วยคำขู่และความกลัวได้นานแค่ไหน ?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net