Skip to main content
sharethis


รศ.ดร.ถนอมวงศ์  กฤษณ์เพ็ชร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า จากการศึกษาการประเมินรูปแบบการเต้นมวยไทยแอโรบิกที่เหมาะสมกับกลุ่มอายุ ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้ค้นพบว่า แม้คนทั่วไปจะรู้ว่าการออกกำลังกายเป็นการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีที่สุด แต่ส่วนมากยังหันไปหาอาหารเสริมแพงๆ วิตามินสารพัดแหล่งสกัด เข็มขัดลดหน้าท้อง ครีมกระชับสัดส่วน เพื่อหวังว่าสุขภาพจะดีโดยไม่ต้องเหนื่อยและเสียเวลา หรือถ้าอยากออกกำลังกายจริงๆ ก็ไม่มีสถานที่ อีกทั้งอุปกรณ์ออกกำลังกายแบบต่างๆ ก็ราคาแพง


 


การออกกำลังกายด้วยมวยไทยแอโรบิกเป็นการออกกำลังกายแนวใหม่ที่ไม่ได้แค่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจเบิกบาน โดยไม่ต้องลงทุนเท่านั้น หากยังเชื่อมโยงถึงสังคมไทยในอนาคตให้คนในชาติรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากขึ้นด้วย


 


การนำมวยไทย สู่มิติสากลของการออกกำลังกายแบบการเต้นแอโรบิกน่าจะทำให้วัยรุ่นหันมาสนใจได้แบบเดียวกับ Tae Bo และ Body Combat เพราะเต็มไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์สุดๆ และยังให้ผลตอบแทนคุ้มค่าในระยะยาว ทั้งสร้างเกราะป้องกันด้านสุขภาพ และรักษาภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทยไปด้วยในเวลาเดียวกัน"


 


รศ.ดร.ถนอมวงศ์กล่าวต่อว่า มวยไทยแอโรบิกถือเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่ต่างจาก Tae Bo หรือ Body Combat ที่ไม่ใช่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่นที่ชอบความแปลกใหม่ และต้องการการออกกำลังกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะสามารถผนวกความโดดเด่นของศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทยเข้าไว้ด้วยกันกับความเป็นสากลอย่างกลมกลืนยิ่ง


 


"การออกกำลังกายแบบมวยไทยแอโรบิกเป็นการออกกำลังกายด้วยท่ากายบริหารศิลปะมวยไทยร่วมกับการเคลื่อนไหวเบื้องต้นและจังหวะดนตรีที่ทำให้ร่างกายต้องใช้ปริมาณออกซิเจนให้เพียงพอ ลักษณะการออกกำลังกายจึงต้องมีความหนักปานกลาง ใช้เวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 นาที  ผลลัพธ์ที่ได้จะส่งผลต่อร่างกายในเรื่องการทำงานของระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ หัวใจ ปอด และหลอดเลือด ส่งผลต่อความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ ความอ่อนตัว ดัชนีมวลกาย  เปอร์เซ็นต์ ไขมัน และสารชีวเคมีในเลือด รวมทั้งการหลั่งสารสุขหรือฮอร์โมนเอ็นโดรฟีนเมื่อออกกำลังกายนานกว่า 10 นาทีขึ้นไป" 


 


รศ.ดร.ถนอมวงศ์กล่าวด้วยว่า จากหลักฐานการทดสอบและผลยืนยันทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังแบบมวยไทยแอโรบิกนั้นเหมาะแก่คนทุกกลุ่ม โดยพบว่าจากการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิง 140  คน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า หลังการทดลอง กลุ่มอายุ 20-29 ปี 30-39 ปี และ 40-49 ปี ทั้งกลุ่มที่เต้นมวยไทยแอโรบิกแบบก้าวหน้าและกลุ่มเต้นแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำมีสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และกลุ่มอายุ 30-39 ปี  40-49 ปี และ 50-59 ปี มีความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวขณะพัก แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อรวมทุกกลุ่มอายุ 20-59 ปี ทั้ง 2 กลุ่มมีสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดและความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนค่าเอชดีแอล-คลอเรสตอรอลของทุกกลุ่มอายุทั้ง 2 กลุ่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05    แต่เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุไม่พบความแตกต่าง  


 


นอกจากนี้ยังพบว่า สภาพก่อนการทดลอง หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และ 12 สัปดาห์ กลุ่มเต้นมวยไทยแอโรบิกแบบก้าวหน้าทุกกลุ่มอายุ มีการเปลี่ยนแปลงสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด ความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ รวมทั้งค่าเอชดีแอล-คลอเรสตอรอลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเต้นแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำ 


 


"ส่วนผลการวิจัยในเรื่องคุณค่าและความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาไทย  กลุ่มเต้นมวยไทยแอโรบิก


 


แบบก้าวหน้าทุกกลุ่มอายุล้วนเห็นตรงกันว่าเป็นการสร้างสรรค์รูปแบบการออกกำลังกายใหม่ที่เป็น


 


เอกลักษณ์ของไทย ทำให้รู้จักศิลปะมวยไทยมากขึ้น และทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทย"


 


รศ.ดร.ถนอมวงศ์ กล่าวว่า ในขั้นเริ่มต้น ผู้ที่คิดจะออกกำลังกายด้วยวิธีนี้ควรเริ่มจากง่ายไปยาก จากเบาไปหนัก เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้และมีความปลอดภัย สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายหรือร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ควรเริ่มฝึกการเคลื่อนไหวเบื้องต้น การวางท่าทางร่างกายทุกส่วน การบังคับการเคลื่อนไหวเฉพาะส่วน และฝึกประสาทสัมผัส โดยทั่วไปใช้เวลาเต้นประมาณ 30 นาที เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้เต้นสามารถปรับตัวได้แล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มความยาก ความหนัก และเวลา การเพิ่มเวลาควรเป็น 35 นาที นาน 5 สัปดาห์ และ 40 นาที นาน 5 สัปดาห์ และที่สำคัญควรสวมชุดเต้นแอโรบิกที่ไม่หลวมเกินไป สวมรองเท้าและถุงเท้าสำหรับเต้นแอโรบิกเพราะจะช่วยลดแรงกระแทกและลดแรงกดในส่วนต่างๆ ของเท้าได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net