Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย วิจักขณ์ พานิช


 



Eliade, Mircea (1963) Myth and Reality, trans. W. Trask, New York: Harper & Row.


 


เบื้องหลังและที่มาของหนังสือ


 


เอลิอาเดตั้งคำถามให้กับงานชิ้นนี้ของเขาว่า อะไรเล่าคือความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตำนาน? เขาพยายามถอดถอนตัวตน เพื่อการพยายามที่จะเข้าใจ ไขกุญแจสู่ความหมายอันลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าของชนพื้นเมือง ราวกับเขาสามารถมองด้วยสายตาของพวกเขาเหล่านั้น โดยเฉพาะตำนานอันศักดิ์สิทธิ์หรือ เทพปกรณัม("M"yth) ว่าอิทธิพลของเรื่องเล่าสามารถสร้างสรรค์ให้เกิดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนอันซับซ้อนได้อย่างไร


 


ความหมายของคำว่า "ตำนาน" นั้นได้ถูกบิดเบือนไปมาก การจะเอามุมมองแบบตะวันตกไปนิยามความหมายของตำนาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะมองตำนาน เป็นเรื่องเล่าลมๆแล้งๆ ประเภทนิทานปรัมปรา หรือ เรื่องหลอกเด็กให้กลัว ซึ่งทั้งหมดนี้หาใช่ความหมายที่แท้จริงในวัฒนธรรมพื้นเมือง ผู้คนในสังคมสมัยใหม่มักจะใช้มาตรวัดทางวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมไปตีค่าความงามในประสบการณ์และวิถีชีวิตผู้คนอย่างปราศจากความเคารพ จึงยากที่เราจะเข้าถึงความลึกซึ้งของความหมายที่มีชีวิตในตำนานหรือเทพปกรณัมที่ว่านี้


 


คุณค่าของตำนานในสังคมดั้งเดิม เกิดขึ้นจากพื้นฐานของการใช้ชีวิตของผู้คนใช้ชีวิตอย่างไม่แยกขาดออกจากผืนดินและธรรมชาติ ความซับซ้อนของวิถีชีวิต การดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด ลมฟ้าอากาศ โรคภัยไข้เจ็บ และความสงบสุขของชุมชน ตำนานคือระบบการศึกษาในตัวของมันเอง คือการเรียนรู้ที่แทรกตัวอยู่กับทุกมุมของชีวิตประจำวัน เอลิอาเดกล้าหาญที่จะตั้งคำถามอย่างถึงราก ต่อการตีความคำว่า "ความจริง" ของผู้คนสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการตั้งคำถามเชิงคุณค่าว่าวัฒนธรรมชนพื้นเมืองได้ให้ความหมายของความจริงต่างออกไปอย่างไร ความสนใจของเขาในงานชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่ตำนานที่มีชีวิต ซึ่งหมายถึง ตำนานอันยังคงเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของผู้คนในสังคม


 


โครงสร้างของหนังสือ การเรียบเรียงเนื้อเรื่อง การจัดแบ่งเนื้อหา


๑)      โครงสร้างของตำนาน


๒)     กลับสู่ต้นกำเนิด


๓)     ตำนานและพิธีกรรมสู่การกำเนิดใหม่


๔)     กำเนิดจักรวาล


๕)     ก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลา


๖)      ศาสตร์แห่งตำนานและประวัติศาสตร์


๗)     ความยิ่งใหญ่และการเสื่อมถอยของตำนาน


๘)     การอยู่รอดและการปรับเปลี่ยนของตำนานในโลกสมัยใหม่


 


เนื้อหาหนังสือโดยย่อ


 



 


ในบริบทของโลกที่มีชีวิตและศักดิ์สิทธิ์ เทพปรณัม (ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์) ถือเป็นการเล่าเรื่องในแบบของพิธีกรรม (ritual) พิธีกรรมเป็นหนทางที่ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีผ่านเข้าสู่โลกเหนือกาลเวลา มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน "จุดเริ่มแห่งเวลา (Primordial Time)"  ตัวละครที่เป็นสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์เป็นผู้ก่อกำเนิดสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นจักรวาลอันมีชีวิต เกิดเป็นมนุษย์ สรรพสัตว์ ภูเขา ต้นไม้ ฯลฯ เทพปกรณัมจะกล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์อันเป็นจุดกำเนิด ให้เราเข้าใจถึงความหมายของการมีอยู่ของชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัว


 


ดังนั้นเทพปกรณัมคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง พิสูจน์ได้จากการมีอยู่ของสรรพสิ่งในโลก เรื่องจริงจะต้องมีนัยของความศักดิ์สิทธิ์ สามารถพาผู้ฟังให้เข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์เหนือกาลเวลา นำมาซึ่งการตระหนักถึงคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


 


ส่วนเทพนิยาย นิทาน เรื่องเล่าทั่วไป จะบอกถึงเรื่องราวสามัญ การผจญภัยของเหล่าวีรบุรุษ วีรสตรีบนโลกที่เราอาศัยอยู่ โดยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกเหนือการเวลา ณ จุดเริ่มต้นของจักรวาลแต่อย่างใด


 


เทพปกรณัมหรือตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงจุดเริ่มของจักรวาล จะประกอบด้วยตำนานย่อยๆ อันแสดงถึงรายละเอียดของความสัมพันธ์อันซับซ้อนของชีวิตและสรรพสิ่งในจักรวาล เช่นเดียวกันกับเทพปกรณัม ตำนานจะประกอบด้วยตัวละครเหนือมนุษย์ โดยมากมักจะเป็นเหล่าทวยเทพที่มีอิทธิฤทธิ์บันดาลสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นได้ในพริบตา การกระทำของตัวละครในตำนานจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโลกที่เราอาศัยอยู่โดยตรง เพราะผลของการกระทำนั้นเกิดขึ้นในจุดเริ่มต้นแห่งการเวลาและการมีอยู่ ส่วนการกระทำของตัวละครในเทพนิยายหรือนิทานหาได้ส่งผลใดๆ เป็นเพียงเรื่องสอนใจในบริบทของความสามัญในขั้นโลกๆของมนุษย์เดินดินเท่านั้น


 


เช่น ในตำนานการกำเนิดของมนุษย์ เหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงพิสูจน์ได้จากการดำรงอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบัน แต่มนุษย์ก็หาได้เป็นอมตะ วันหนึ่งเราทุกคนต้องตาย เหตุผลของการไม่เป็นอมตะก็เพราะ มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นใน "จุดเริ่มต้นแห่งกาลเวลา"  ถ้าเหตุการณ์นั้นไม่อุบัติขึ้น เราก็คงมีชีวิตอยู่เป็นอมตะอย่างภูเขาหรือท้องฟ้า  ตำนานแห่งความตายบอกให้เราได้รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลา ที่มีผลกระทบสืบเนื่องมาสู่ความดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ


 


โครงสร้างของตำนาน ประกอบด้วยส่วนสำคัญๆดังต่อไปนี้


๑)      เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันเป็นผลจากการกระทำของเทพเจ้า หรือสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์


๒)     ประวัติศาสตร์นั้นถือเป็นเรื่องจริง อันพิสูจน์ได้จากการดำรงอยู่ของผลพวงในปัจจุบัน


๓)     ตำนานจะเกี่ยวข้องกับการกำเนิดเกิดขึ้นของบางสิ่งบางอย่างเสมอ


๔)     เมื่อเราเข้าใจถึงต้นกำเนิด สัมผัสถึงความหมายของการดำรงอยู่ เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนาน มีชีวิตอยู่ในตำนาน และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนที่เหมาะสมตามเหตุปัจจัยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าตำนานหาใช่เรื่องนอกตัว เรื่องนามธรรมอันจับต้องไม่ได้ แต่ตำนานคือปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์ตรงจากการเป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ในวิถีแห่งพิธีกรรม อันเป็นสะพานเชื่อมนำเราจากโลกสามัญร่วมสมัย ไปสู่โลกศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลาอันเป็นจุดกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง  เพราะความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง (transformation) จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลาเท่านั้น


๕)     ชีวิตที่มีความหมายที่แท้จริง คือ ชีวิตที่ดำเนินไปบนพลังความศักดิ์สิทธิ์ของตำนาน (Living a myth) เป็นชีวิตที่ไม่แยกขาดจากจุดกำเนิดเดิมแท้ (Primordial Source) ในทุกลมหายใจเข้าออก ชีวิตในตำนานแสดงถึงประสบการณ์อันลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ ที่แตกต่างไปจากประสบการณ์ธรรมดาสามัญในชีวิตอย่างโลกๆ


 


หน้าที่ที่สำคัญของตำนาน ก็คือ การเป็นสะพานให้เราก้าวข้ามผ่านโลกแห่งกาลเวลา กลับไปสู่จุดกำเนิด ความว่างอันเป็นอนันตกาล ความสมบูรณ์ อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ยามที่ผู้คนเจ็บไข้ เกิดภัยธรรมชาติ เหตุการณ์ร้ายแรงทำให้ผู้คนเสียขวัญ ภูตผีวิญญาณร้าย หรือแม้นจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล ขึ้นปีใหม่ หรือ ภัยธรรมชาติเพิ่งผ่านพ้น พิธีกรรมรวมถึงวิธีการเล่าตำนาน หรือเทพปกรณัม จะเป็นหนทางที่จะนำให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสถึงการเริ่มต้นที่สดใหม่อีกครั้ง และดูเหมือนโลกและจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์ มีชีวิต จะเข้าใจความหมายอันเป็นสากลแห่งพิธีกรรมเหล่านั้นเป็นอย่างดี จนกลายเป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่น ที่ไม่สามารถแยกขาดกันได้ระหว่างจิตวิญญาณของความมนุษย์กับความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติในสากลจักรวาล


 


ในวัฒนธรรมพื้นเมืองนั้น วิถีชีวิตของผู้คนเป็นวิถีชีวิตที่เปิดรับข้อความที่ส่งมาจากโลกเหนือมนุษย์อยู่เสมอ คุณค่าเหล่านั้นเป็นคุณค่าที่อยู่เหนือจิตสำนึกด้านสว่างที่บ่งบอกถึงแบบแผนตายตัวที่คับแคบ แทนที่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขารู้ กลับพยายามสร้างความสัมพันธ์กับมณฑลแห่งความไม่รู้ ความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอน โดยใช้ตำนานและพิธีกรรมเป็นสะพานเชื่อมต่อ เพื่อเข้าสู่ธรรมชาติอันมีชีวิตอันมีเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้นอย่างแท้จริง


 


แต่ปัจจุบันในโลกวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมสมัยใหม่ คุณค่าและความหมายของพิธีกรรม ตำนาน และความศักดิ์สิทธิ์ดูจะค่อยๆถูกลบเลือนลงไปเรื่อยๆ  เกิดเป็นปรากฏการณ์ของการสูญค่าความศักดิ์สิทธิ์แห่งตำนาน (demythicization) กลายเป็นจักรวาลที่เปราะแตกแยกส่วน


 


โลกวิทยาศาสตร์ได้นำมามนุษย์สู่วิถีการมองโลกเป็นวัตถุ ที่ต้องอาศัยการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยตัดขาดจากแง่มุมทางประสบการณ์ตรงที่เกินกว่าคำอธิบาย อีกทั้งยังได้เปลี่ยนนิยามของ "เรื่องจริง" กับ "เรื่องเท็จ" จากหน้ามือเป็นหลังมือ เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ถูกตัดสินว่าเป็นเรื่องเท็จ ไร้ข้อพิสูจน์ อย่างที่ไม่ต้องให้ความสนใจใดๆ จึงทำให้ตำนานถูกลดทอนคุณค่ากลายเป็นเหมือนนิทานหลอกเด็กเรื่องหนึ่งก็เท่านั้น


 


เมื่อจักรวาลแห่งประสบการณ์อันกว้างใหญ่ได้ถูกปิดลง เหลือเพียงสิ่งที่เรา "คิดว่าเรารู้"  แล้วกีดกันเอาจักรวาลอันกว้างใหญ่ของความไม่รู้ (เรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้) เป็นเรื่องงมงายหรือเรื่องเท็จเสียแล้ว ความหลากหลายทางศักยภาพของมนุษย์ก็ถูกลดทอนลงอย่างน่าใจหาย เราได้แยกตัวเองออกมาจากองคาพยพอันศักดิ์สิทธิ์ของการเลื่อนไหลแห่งจักรวาล นำมาซึ่งความหยิ่งทะนง ความโลภ ความเกลียดชัง ฯลฯ  เรากำลังตัดขาดตัวเองออกจากประสบการณ์การเรียนรู้จากความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ หรือบรรพบุรุษในตำนาน หมกมุ่นอยู่แต่กับความรู้อันคับแคบแบบแยกส่วนที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น 


 


ความศักดิ์สิทธ์ของประสบการณ์ที่เลือนหายหมายความถึง จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ค่อยๆเลือนค่าตามไปด้วย เพราะมันถูกมองเป็นเพียงแค่ ฝันลมๆแล้งๆ หรือ อุดมคติที่กินไม่ได้ จนในที่สุดชีวิตก็ถูกจำกัดอยู่ในมิติของเวลาและสถานที่ ถูกลดทอนความเป็นไปได้อันไพศาล จนหลงเหลือเพียงเปลือกที่ถูกกำหนดขึ้นตามปัจจัยภายนอก ที่กำลังบั่นทอนคุณค่า ความหมาย และลมหายใจของความเป็นมนุษย์ที่แท้อย่างน่าเศร้าเป็นที่สุด


 


หมายเหตุ: บทความได้รับการโพสต์ลงในคอลัมน์ "ธรรมดา ธรรมดา" เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net