Skip to main content
sharethis

5 มิ.ย. 50 - เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (4 มิ.ย.) น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมกมธ.ร่วมกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ที่ขอแปรญัตติมาตราต่างๆในหมวดที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีส.ส.ร.ขอแปรญัตติทั้งหมด 7 กลุ่ม ประกอบด้วยหลากหลายประเด็น ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ม.68 วรรคสองที่ว่าด้วยองค์กรแก้วิกฤตชาติ โดย กลุ่มของนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ และกลุ่มของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เสนอให้ตัดวรรคสองออกไปทั้งหมด ขณะที่กลุ่มของนายวัชรา หงส์ประภัศร เสนอให้คงไว้แต่ให้ตัดประธานศาลฎีกาออก ส่วนกลุ่มของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ให้เพิ่มเติมข้อความว่า


"ทั้งนี้โดยผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้เรียกประชุมก็ได้แต่ต้องมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงเป็นองค์ประชุม ... ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใดในวรรคสองให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอยู่เป็นองค์ประกอบของการประชุมได้ โดยให้ถือจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอยู่เป็นองค์ประชุม"


พิเชียร เสนอพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เหตุมีภัยบ่อนเซาะต้องทำนุบำรุงพระศาสนา
จากนั้นได้อภิปรายประเด็นศาสนาพุทธ โดยกลุ่มของนายพิเชียร เสนอให้เพิ่มเติมถ้อยคำในมาตรา 2 ใหม่ว่า "ประเทศไทยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ"


นายพิเชียร กล่าวว่า ปัจจุบันมีภัยคุกคามและการบ่อนเซาะพระพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ กระแสความเชื่อเรื่องลัทธิต่าง ๆ รวมทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์ วัตถุนิยม บริโภคนิยมมีมากเกินไป และบ่อนทำลายและคุกคามความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา จึงจำเป็นที่จะต้องบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าวัฒนาสถาพรสืบไป


เสนอเรียกชื่อ "รัฐธรรมนูญ 2540 แก้ไขเพิ่มเติม 2550" แต่สมคิดไม่เอา
ในช่วงบ่ายได้พิจารณาคำขอแปรญัตติในกลุ่มของนายวัชรา หงส์ประภัศร ที่เสนอขอแก้ชื่อของรัฐธรรมนูญที่จากเดิมคือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550" ให้เปลี่ยนเป็น "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2550"


นายสมคิด เลิศไพทูรย์ เลขาฯ กมธ. กล่าวว่า  กมธ.ไม่เห็นด้วยเพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ได้กำหนดให้ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ใช่แก้ไขเพิ่มเติม เพราะถึงแม้รัฐธรรมนูญปี 2540 จะมีข้อดีหลายจุดแต่หลายฝ่ายก็พบว่ามีข้อบกพร่องอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ตนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มาก็พบว่ามีข้อบกพร่องอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจารย์จากค่ายธรรมศาสตร์ก็บอกว่าอยากให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญปี2540 เพราะจะให้เกิดความต่อเนื่องซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ต่อเนื่องเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่การทำรัฐประหาร


ส.ส.ร.เสนอให้ รธน.คุ้มครองทุกคนรวมคนข้ามชาติ สมคิดแย้ง ชี้มีกฎหมายอื่นคุ้มครองแล้ว
ต่อมานายสวิง ตันอุด ส.ส.ร.ได้ขอแปรญัตติใน ม.5 ที่เดิมระบุว่า ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ ศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยให้เพิ่มเติมคำว่า "และบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย" เนื่องจากจะทำให้ทุกคนที่มาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยจะได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นคนต่างประเทศหรือคนต่าวด้าวและคนทุกคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย


แต่นายสมคิดแย้งว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญตั้งใจจะคุ้มครองเฉพาะคนไทยเพราะคนต่างชาติไม่สามารถมาเข้าถึงข้อมูลเราได้ และไม่มีสิทธิได้เรียนฟรี 12 ปี ซึ่งคนไทยจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน แต่คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็จะมีกฎหมายคุ้มครองเขา


นอกจากนี้ นายสุรชัย ได้ขอแปรญัตติใน ม.14 ว่าด้วยคุณสมบัติขององคมนตรีที่แต่เดิม กำหนดว่าห้ามเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการองค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ไม่แสดงการฝักในพรรคการเมืองใดๆ แล้ว ต้องไม่เป็นกรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัย ด้วย


ส.ส.ร.เสนอคุ้มครองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายร้อนแรงขึ้นเมื่อถึง ม.30 วรรคสอง ที่เดิมบัญญัติว่า "ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน" ให้เพิ่มเติมว่า "ชายและหญิงและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิเท่าเทียมกัน"


นายเจิมศักดิ์กล่าวว่า ที่ต้องแปรญัตติประเด็นนี้เนื่องจากต้องการให้สังคมไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติในการมองบุคคลเพศที่สามโดยต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนปรกติเหมือนเรา แม้แต่วงการแพทย์ก็พิสูจน์แล้วว่าในโลกนี้นอกจากจะมีชายและหญิงแต่ยังมีเพศอื่นอยู่กับเราอีกด้วย ไม่ต้องการให้มองว่าคนเหล่านี้เป็นคนวิปริตทางเพศเหมือนในอดีต


น.ส.อลิสา พันธุศักดิ์ ส.ส.ร.ซึ่งเป็นทายาทอาณาจักรทิฟฟานี่ โชว์พัทยา ชี้แจงว่า ปัจจุบันบุคคลเพศที่สาม หรือ สาวประเภทสองถูกเลือกปฏิบัติอย่างมากหลากหลายวิธีการเช่นสาวประเภทสองที่ทำศัลยกรรมหน้าอกแล้วขี่มอเตอร์ไซค์แล้วถูกตำรวจจับก็ถอดเสื้อผ้าเพราะต้องการกลั่นแกล้งโดยเห็นว่าเป็นผู้ชายที่ไปทำหน้าอก นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังถูกกีดกันไม่ให้ทำอาชีพตามที่คนทั่วไปไปสามารถทำได้ จึงทำให้คนเหล่านี้หาทางออกไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีความสามารถหลายอย่าง เราต้องการแค่ความเท่าเทียมกันเหมือนชายกับหญิงไม่ต้องการให้ถูกดูถูกมากไปกว่านี้


กรรมาธิการอภิปรายสนุนความหลากหลายทางเพศ
จากนั้น กมธ.ยกร่างได้อภิปรายร่วมโดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้บรรจุความหลากหลายทางเพศไว้ในรัฐธรรมนูญเช่น นายจรัญ ภักดีธนากุลกล่าวว่า ทุกวันนี้คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากค่านิยมเก่า ๆ ที่ไม่ยอมรับกับสภาพทางเพศหรือรสนิยมทางเพศที่เป็นเขาเป็น แต่เขาก็เป็นคนไทยแล้วเขาก็ไม่ได้ขอให้รัฐธรรมนูญส่งเสริมยกย่องให้เขาเป็นตัวอย่างของชาติเพียงแต่ขอให้เขาคุ้มครองอย่าถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพราะเหตุที่เขามีวิถีทางเพศเป็นแบบนั้น ไม่ได้เป็นการเสียหายอะไรเลยแต่เป็นการร้องขอในระดับคนพิการ ชนกลุ่มน้อย หรือคนที่สุขภาพไม่ดี ขอให้กมธ.พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง


"คนเหล่านี้มีนับล้านคนในสังคม แต่ถูกล้อมกรอบให้ต้องกดเก็บเอาไว้ไม่สามารถแสดงออกถึงศักยภาพได้อย่างเต็มที่สังคมจึงสูญเสียพลังไปมากมายที่ไม่ได้เปิดเผยออกมา" นายจรัญกล่าว


น.พ.ชูชัย ศุภวงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไหนที่มองความคนพวกนี้ผิดปรกติถือว่าล้าหลังอย่ายิ่ง เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้ปรับทัศนคติมาได้กว่า 30 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่เข้าใจจะเห็นได้จากเวลาเกณฑ์ทหารจะระบุว่าคนพวกนี้เป็นโรคจิตถาวรประกอบอาชีพอื่นก็ไม่ได้ ทั้งที่เขาก็เป็นคนเหมือนเรา รัฐธรรมนูญต้องหาทางไม่ให้เขาถูกย่ำยีอีกต่อไป


สุพจน์ ไขมุกด์ขวางยัน รธน.รับรองแค่สองเพศ ถ้ามีเพศที่สามจะแก้กฎหมายอุตลุด
แต่นายสุพจน์  ไข่มุกด์กลับค้านว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องรับรองเฉพาะสองเพศเท่านั้นคือชายกับหญิง ถ้ามีเพศที่สามต้องแก้กฎหมายอื่นกันอุตลุด ทุกวันนี้เราได้ให้ความยุติธรรมกับคนเหล่านี้มากพอแล้วขอให้กรรมาธิการยืนยันว่าต้องรับรองแค่สองเพศเท่านั้นให้เป็นไปตามครรลองของธรรมชาติ


"ขอร้องว่าสังคมทุกวันนี้เบี่ยงเบนไปมากแล้วอย่าให้เพี้ยนไปมากกว่านี้ แม้ผมจะเห็นใจคนกลุ่มนี้แต่ก็อยากให้เขาเห็นใจส่วนรวมด้วย คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมวลมนุษยชาติ ขอให้เข้าใจว่าพระเจ้ากำหนดธรรมชาติมาไว้ดีแล้วอย่าทำอะไรให้ผิดปรกติ" นายสุพจน์กล่าว


สมคิดสรุป กมธ.ไม่เห็นด้วย ยืนตามร่างเดิม เจิมศักดิ์โต้ กมธ.ตั้งธง จะไม่ร่วมมือ ส.ส.ร. หรือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเริ่มระอุมากขึ้น เมื่อนายสมคิดสรุปว่าที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยจึงขอให้ยืนตามร่างเดิม และขอให้ ส.ส.ร.ที่ไม่เห็นด้วยสงวนเอาไว้ไปอภิปรายในที่ประชุมใหญ่ แต่นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ตนฟังแล้วกมธ.ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับตนจึงขอให้กมธ.โหวตลงมติ  นายสมคิด โต้ว่า ไม่เห็นด้วยเพราะวันนี้เป็นการรับฟังเหตุผลของ ส.ส.ร. ที่มาแปรญัตติและหลังจากนั้น กมธ.จะไปประชุมและลงมติกันเองและไม่มีที่ไหนที่เมื่อฟังความเห็นของผู้มาชี้แจงและโหวตต่อหน้าผู้มาชี้แจง


แต่นายเจิมศักดิ์ แย้งว่า เมื่อพวกตนมาเสนอความคิดเหตุผลแล้ว กมธ.ก็สามารถจะเปลี่ยนแปลงความคิดได้เพราะ กมธ.ก็เป็นมนุษย์เหมือนกันย่อมเปลี่ยนได้ ถ้าตั้งธงอย่างนี้ แสดงว่า กมธ.จะไม่ร่วมมือกับส.ส.ร.ใช่หรือไม่ และอย่าลืมว่าส.ส.ร.มีศักดิ์และสิทธิเท่ากับกมธ.ยกร่างฯทุกประการ พวกท่านเป็นแค่คณะที่ส.ส.ร.ตั้งไว้ ไม่ใช่ว่าให้ท่านร่างทั้งหมด แต่พวกตนแค่มาเจ๊าะแจ๊ะ หรือแค่มาดูเล็กๆน้อยๆ การทำอย่างนี้เหมือนกับเห็นตนเป็นแค่องค์กรที่ 13 ที่ท่านจะรับฟังความเห็นแต่ไม่ต้องใส่ใจก็ได้ ถ้าไม่ลงมติผมไม่ยอมเด็ดขาด


สุดจะทน ย้อนถาม กมธ. อยากให้ ส.ส.ร.รวมกลุ่ม 60 คน คว่ำทุกประเด็นหรือ
"ตอนนี้มี ส.ส.ร.หลายท่าน ทนไม่ไหวกับการทำงานของกมธ.ที่ไม่ฟังเสียง ส.ส.ร. มีความคิดว่าจะจับกลุ่มกัน 60 คนแล้วยกมือแปรญัตติทุกประเด็น ชนะตลอด แต่ผมบอกว่ายังไม่ถึงเวลา ขอให้ฟังเขาก่อนแล้วค่อยสงวนไว้ก่อน แต่ถ้าไม่ฟังกันอีกคืนนี้พวกผมก็รวมกลุ่มกัน 60 คน แล้วยกมือล้มทุกประเด็น จะเอาอย่างนั้นหรือ" นายเจิมศักดิ์ กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายเจิมศักดิ์อภิปรายเสร็จสิ้น มี ส.ส.ร.หลายคนอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กมธ.ยกร่างฯอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นว่ากมธ.ยกร่างฯ ไม่สนใจความเห็นหรือข้อเสนอของ ส.ส.ร.เท่าที่ควร


จากนั้น นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ รองประธานคนที่หนึ่งทำหน้าที่ประธานแทน น.ต.ประสงค์ ได้ขอให้ข้ามการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อนแล้วกมธ.ยกร่างฯจะลงมติเรื่องนี้ภายหลัง และจะแจ้งผลการลงมติกลับไปให้ ส.ส.ร.รับทราบ


นายสมคิด ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าในวันอังคารที่ 5 มิ.ย.จะเป็นกำหนดการประชุมร่วมกับ ส.ส.ร.ที่ขอแปรญัตติในกรอบ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมือง อาทิ ระบบส.ส. หรือที่มา ส.ว.โดยจะเป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างกมธ.ยกร่างฯ กับ ส.ส.ร.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net