Skip to main content
sharethis


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้


 

 


ภาพรวมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 40 เดือนตั้งแต่เดือนม.ค. 47 ถึงเดือนเม.ย. 50 เกิดความรุนแรงและการก่อเหตุก่อกวนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่จำนวนรวมทั้งสิ้น 6,685 ครั้ง ในเหตุการณ์ที่มีความหมายในทางการเมือง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมแล้วประมาณ 5,854 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 2,200 คนและผู้บาดเจ็บ 3,654 คน


 


จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบสามปีที่ผ่านมา ปี พ.ศ. 2547 มีการก่อเหตุความรุนแรง 1,850 ครั้ง ปี พ.ศ. 2548 มีการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ 2,297 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2549 มีจำนวน 1,815 ครั้ง และในปี พ.ศ. 2550 มีการก่อเหตุความไม่สงบตั้งแต่เดือนม.ค. - เม.ย. จำนวน 723 ครั้ง เหตุการณ์โดยทั่วไปยังมีระดับความรุนแรงค่อนข้างคงที่ และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาในแง่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต


 


 



 


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เริ่มไต่ระดับขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร ระดับความรุนแรงหลังการรัฐประหารในเดือนก.ย. 49 ลดลงเหลือ 86 ครั้ง แล้วเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนต.ค. กลายเป็น 104 ครั้ง ในเดือนพ.ย.


 


กระแสคลื่นเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มพุ่งสูงโด่งอีก เป็นประมาณ 208 ครั้ง ในเดือนธ.ค.ปี 2549 เหตุการณ์ความรุนแรงยังอยู่ในระดับสูงถึง 193 ครั้ง เมื่อเริ่มศักราชใหม่ปี พ.ศ. 2550 เหตุการณ์ในเดือนม.ค. แม้จะลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงถึง 132 ครั้ง เมื่อดูจากภาพรวม ยังนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในช่วงต้นปีในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2549 เหตุการณ์ในเดือนก.พ.ยังแสดงให้เห็นแนวโน้มกระแสความรุนแรงของเหตุการณ์ที่สูงมากขึ้นไปอีกถึง 210 ครั้ง การก่อเหตุความรุนแรงในเดือนเม.ย.มีจำนวนมากถึง 210 ครั้งเช่นกัน


 


อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2550 การก่อเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะไม่พุ่งโด่งขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน ซึ่งสภาพเช่นนี้อาจจะสะท้อนข้อเท็จจริงในสองด้านคือ ด้านหนึ่งมีความพยายามควบคุมจัดการความรุนแรงจากรัฐไทยด้วยการทุ่มกำลังทางยุทธการลงไปในพื้นที่และชุมชนที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ทั้งในแง่กำลังทหารราบ หน่วยรบพิเศษ และทหารพราน และมีการรุกทางการเมืองด้วยการทำโครงการพัฒนาของ ศอ.บต. และงานมวลชนของทหาร แต่ก็ยังเกิดเหตุขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายที่ก่อเหตุความรุนแรงก็ยังมีเสรีที่จะก่อเหตุการณ์ได้มากพอสมควร ในแง่ยุทธวิธีการก่อเหตุก็ยังคงใช้วิธีการเดิมคือ การยิงรายวันสลับกับการวางระเบิดและการวางเพลิง นอกจากนี้ การเกิดสถานการณ์ประท้วงถี่ครั้งมากขึ้นในระยะหลัง ก็แสดงให้เห็นภาพใหม่ของการรุกทั้งการทหารและการเมืองไปพร้อมๆ กัน


 


 



 


 


ผลกระทบจากเหตุการณ์ในเดือนก.พ. มี.ค. และ เม.ย. นับว่าสูงมากเมื่อพิจารณาจากความเสียหายในด้านผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในปี 2550 ในเดือนก.พ.มีจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับสถิติรายเดือนในรอบ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา รองลงมาก็คือเดือนเม.ย. โดยเฉพาะเดือนเม.ย.มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันแล้วเป็นจำนวนประมาณ 248 ราย เป็นผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สูงถึงประมาณ 179 ราย ผู้ที่เสียชีวิต 69 ราย


 


เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจจะวิเคราะห์ได้อีกว่า การปฏิบัติการของฝ่ายก่อเหตุต่อต้านรัฐมีจำนวนมากครั้งขึ้นในแต่ละเดือน และใช้เทคนิคการโจมตีด้วยระเบิดมากขึ้น แต่ละครั้งรุนแรงขึ้น อันเป็นสิ่งบอกเหตุถึงความตั้งใจที่จะทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มเลวร้ายลงในช่วงปีนี้ ในอีกด้านหนึ่ง การที่มีผู้บาดเจ็บมากขึ้นและมีผู้เสียชีวิตในจำนวนไม่สูงมาก อาจจะเป็นผลมาจากเป้าหมายการโจมตีที่เป็นเป้าทางการทหาร ลักษณะดังกล่าวชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นการปะทะกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นระหว่างกำลังของทั้งสองฝ่าย


 


อย่างไรก็ดี การมุ่งทำลายกองกำลังของรัฐบาลด้วยวิธีการโจมตีในระยะหลัง ยังมุ่งทำให้เกิดการสูญเสียของฝ่ายรัฐมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มว่า อัตราการสูญเสีย (attrition rate) ของกองกำลังฝ่ายรัฐอาจจะเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงและความเสี่ยงที่จะมีการการตอบโต้ที่มีผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้นอีก


 


สภาพทั่วไป จากสถิติเราพบว่า การโจมตีด้วยการยิง (ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายพลเรือน) จะมีมากที่สุด รองลงมาก็คือการวางเพลิงและโจมตีด้วยระเบิด โดยเฉพาะการโจมตีด้วยระเบิดในเดือนก.พ. 50 สูงมากกล่าวคือ มีรายงานว่า เกิดเหตุโจมตีด้วยการยิงประมาณ 80 ครั้ง และการวางระเบิด 81 ครั้ง ดังนั้นในช่วงเดือนก.พ.นี้จึงมีเหตุการณ์ระเบิดที่มากที่สุดในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมา จะมีการสถิติการวางระเบิดสูงมากในระดับใกล้เคียงกันเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในเดือนมิ.ย.49 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เดือนที่มีการวางระเบิดมากอีกเดือนหนึ่งก็คือเม.ย.ที่ผ่านมา


 


 



 


 


เมื่อพิจารณาในด้านของเป้าหมายของการโจมตีและความเสียหายที่เกิดขึ้นในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมา แบบแผนที่ซ้ำกันคือ ราษฎรทั่วไปหรือพลเรือนเป็นเหยื่อของการโจมตีมากที่สุด จำนวนรองลงมาคือเป้าหมายที่เป็นทหารและตำรวจ ซึ่งรวมทั้งตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อพิจารณาเฉพาะข้อมูลในปี พ.ศ. 2550 ปรากฏว่าเป้าหมายสำคัญก็ยังเป็นราษฎรทั่วไปซึ่งเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาเป็นลำดับสองคือเจ้าหน้าที่ทหาร อันดับที่สามก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือตำรวจตระเวนชายแดนหรือนปพ. แต่เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ในสี่เดือนแรกของปีนี้ ผู้เสียชีวิตที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งมากพอกันกับการสูญเสียของทหารในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น ตัวเลขในปี พ.ศ. 2550 ผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นเช่น อบต. เสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน  


 


 



 


 


กล่าวในภาพรวม จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเทียบระหว่างคนสองศาสนาในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมา คนมุสลิมและพุทธจะถูกทำร้ายหรือตกเป็นเป้าของความรุนแรงในจำนวนมากใกล้เคียงกัน คนมุสลิมจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิตในจำนวนมากกว่าเล็กน้อย ผู้เสียชีวิตที่เป็นมุสลิมมีจำนวน 1,130 ราย และเป็นคนพุทธ 1,002 ราย


 


อย่างไรก็ดี ผู้ได้รับบาดเจ็บที่เป็นคนพุทธมีจำนวนที่สูงกว่ามาก ผู้บาดเจ็บที่เป็นคนพุทธมีจำนวนสูงมากถึง 2,161 คน เป็นคนมุสลิมจำนวน 1,022 คน แบบแผนการโจมตีก่อเหตุจะมีลักษณะเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต โดยทั่วไป การก่อเหตุความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการยิง การวางระเบิด วางเพลิง หรือการก่อกวนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชน ทั้งในกลุ่มคนพุทธและมุสลิม แม้ว่าในระยะหลังคนพุทธจะมีแนวโน้มถูกคุกคามและทำร้ายมากขึ้น แต่คนมุสลิมเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ชีวิตถูกคุกคามด้วยเช่นเดียวกัน การพุ่งเป้าการโจมตีไปที่กลุ่มคนไทยพุทธจึงเป็นการมุ่งสร้างความรู้สึกปฏิปักษ์ขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา นี่คือสงครามซึ่งสะท้อนการเมืองแห่งอัตลักษณ์อย่างชัดเจน


 


แนวโน้มความรุนแรงและความสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 40 กว่าเดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า รัฐไทยและสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับ "สงครามแบบใหม่" หรือที่นักวิชาการเรียกว่า New Wars อันเป็นสงครามในนิยามใหม่ ซึ่งแตกต่างจากสงครามในยุคก่อนสงครามเย็น


 


สิ่งที่เห็นคือ ความรุนแรงในรูปแบบใหม่ที่มีธรรมชาติทางการเมือง ความรุนแรงชนิดนี้ทำให้หาเส้นขีดแบ่งไม่ได้เลยระหว่างสงครามแบบเก่าที่รัฐกระทำต่อรัฐหรือกับกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธ กับการก่อความรุนแรงแบบอาชญากรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง


 


ความรุนแรงแบบนี้เป็นสงครามแบบใหม่ที่ไม่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงยุทธวิธีหรือเทคโนโลยีทางการทหารเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย รัฐไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดความรุนแรง แต่ความรุนแรงสามารถจะสร้างให้เกิดขึ้นได้ในทุกระดับจนถึงระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มเอกชน


 


เป้าหมายสำคัญที่สุดของสงครามแบบใหม่ชนิดนี้ก็คือ การเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์ ซึ่งจะแตกต่างไปจากเป้าหมายการต่อสู้เพื่อดินแดนและอุดมการณ์แบบสงครามในอดีต นี่คือการก่อความรุนแรงที่เป้าหมายการต่อสู้ก็เพื่อประกาศตัวตนทางชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ และศาสนา ดังนั้น วิธีการทำสงครามจะเปลี่ยนไปเป็นการใช้วิธี "สร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชัง" วัตถุประสงค์ก็เพื่อการควบคุมประชากรด้วยการขจัดใครก็ตามที่มีอัตลักษณ์ต่างจากพวกตน (หรือคนกลุ่มเดียวกันที่มีความคิดเห็นต่างจากตน) และสร้างบรรยากาศของความกลัวขึ้นมา


 


ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลที่ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และแนวโน้มความรุนแรงส่วนมาก จะพุ่งเป้าไปที่ประชาชนทั่วไปมากกว่าทหารและเจ้าหน้าที่รัฐ


 


นอกจากนี้ ในความขัดแย้งและการก่อความรุนแรงแบบดังกล่าว จะมีการใช้ยุทธวิธีการสร้างความรุนแรงแบบสะเทือนขวัญที่โจ่งแจ้งเปิดเผย บ่อยครั้งด้วยวิธีที่โหดเหี้ยมทารุณ เช่น ในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมา มีการฆ่าตัดคอเหยื่อที่ถูกสังหารถึง 24 ราย กล่าวคือในปี พ.ศ. 2547 เกิดกรณีฆ่าตัดคอ 5 ราย ปี พ.ศ. 2549 มีการฆ่าตัดคอ 10 ราย ในปี พ.ศ. 2550 เกิดกรณีฆ่าตัดคอ ถึง 9 ราย ทั้งที่เวลาผ่านมาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกรณีการฆ่าและเผาเหยื่อสังหาร รวมทั้งการฆ่าผู้หญิงและเด็กอีกจำนวนหนึ่ง  


 


 



 


 


ในรอบ 40 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2550 มีปรากฏการณ์ที่สะท้อนมิติแห่งการต่อสู้ทางการเมืองในท่ามกลางความรุนแรงอย่างชัดเจน ก็คือ การต่อสู้ด้วยการชุมนุมประท้วงของชาวบ้าน ทั้งคนมุสลิมและพุทธ กล่าวได้ว่าในรอบ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา มีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านรวม 34 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2550 นับเป็นช่วงเวลาที่มีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านมากที่สุด กล่าวคือเกิดการประท้วง 8 ครั้งในปี พ.ศ. 2549 และในปี 2550 เกิดการประท้วงมากถึง 24 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. โดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.และเม.ย. ระท้วงมากรวมกันถึง 17 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการประท้วงของกลุ่มประชาชนชาวมุสลิม


 


การชุมนุมประท้วงแม้จะมีลักษณะยั่วยุ ท้าทาย และมีนัยทางการเมือง ที่หลายครั้งเป็นการละเมิดกฎหมายเช่น การปิดถนน แต่ในแง่ของการจัดการ รัฐยังคงต้องใช้วิธีการเจรจาและผ่อนปรนบนพื้นฐานของหลักการแห่งการสร้างยุติธรรมและสมานฉันท์ ซึ่งทำให้การชุมนุมสลายตัวอย่างสงบ หลักการจัดการของรัฐต่อการชุมนุมประท้วงจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรมและความเป็นธรรม โดยมองว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีเจตนาบริสุทธ์ ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ และพยายามแยกกรณีการประท้วงเพื่อขอความเป็นธรรมจากการก่อความไม่สงบโดยทั่วไป


 


ตัวอย่างเช่นกรณีที่อ.เมืองปัตตานีเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ชาวบ้านชุมนุมแสดงความไม่พอใจที่กำลังทหารเข้าระงับเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงเผาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แล้วเข้าใจผิดคิดว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ยืนจับกลุ่มริมถนนในพื้นที่ก่อเหตุลอบเผาถูกยิงเสียชีวิต 3 ศพ และบาดเจ็บ 2 ราย และเรียกร้องให้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และกรณีที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐเร่งจับกุมผู้ก่อเหตุวางระเบิดรถกระบะของนายก อบต.เขื่อนบางลาง และซุ่มยิงถล่มรถชาวบ้าน ขณะกลับจากร่วมพิธีศพนายก อบต.เขื่อนบางลาง


 


ทั้งสองกรณี ฝ่ายปกครองคือผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม รับปากจะดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และจะพิจารณาหาเงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างเร่งด่วน ทำให้สถานการณ์คลายวิกฤตลงได้ การจัดการด้วยการอาศัยกระบวนการที่มีเหตุผลและชอบธรรม เป็นหนึ่งในวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์และความไม่เป็นธรรม แทนที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้กับความรุนแรงในสงครามแบบใหม่ ซึ่งรัฐไม่มีทางชนะได้เลยหากใช้วิธีการตอบโต้แบบนั้น ดังประสบการณ์ที่เห็นได้จากหลายประเทศทั่วโลก


 


 



 


 


ความรุนแรงและภาวะเสี่ยงต่อสงครามกลางเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงดำเนินต่อไปในท่ามกลางนโยบายสมานฉันท์ที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามประกาศให้ชาวโลกเห็น มีคำถามอยู่มากมายต่อความเหมาะสมของการใช้นโยบายนี้ในการยุติการนองเลือดที่เกิดขึ้น แม้แต่ประชาชนในพื้นที่เองก็ยังมีเสียงสะท้อนว่า นโยบายสมานฉันท์ไม่มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน การดำเนินการไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการ จนถึงกระทั่งมีคนมองว่ารัฐ "ขาดความจริงใจและจริงจัง" ในการใช้นโยบายสันติวิธีและสมานฉันท์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐก็ถูกมองว่าผ่อนปรนและอ่อนแอจนเกินไปในการแก้ปัญหา


 


สภาพดังกล่าวทำให้เกิดความกดดันอย่างมากต่อรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะประสบความล้มเหลว เพราะภายในพื้นที่ก็ถูกรุกทั้งทางการเมืองและตั้งรับการทหาร นอกพื้นที่ก็ถูกโจมตีว่าอ่อนแอ ขาดความเด็ดขาด ปัญหาจึงนับวันจะยิ่งหนักหน่วงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ผลที่ตามมาก็คือ การดำเนินการของรัฐแม้จะยังอยู่ในกรอบเหตุผลของนโยบายสมานฉันท์อยู่เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็กำลังถูกผลักให้ไปอยู่บนขอบปลายสุดของการใช้เหตุผลและสมานฉันท์


การยืนอยู่บนขอบปลายสุดของการใช้เหตุผลอาจจะเป็นจุดได้เปรียบก็ได้ ถ้ามีการปรับแนวคิด ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้เหมาะสม


 


ในสังคมที่มีความขัดแย้งและสงครามแบบใหม่ การหาทางแก้ปัญหาในระยะยาวของการเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์เป็นเรื่องยาก เพราะความขัดแย้งแบบนี้สามารถขยายตัวแตกปลายออกไปเป็นปัญหาอื่นๆ ในหลายมิติทั้งในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ


 


แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยรัฐอย่างเดียวในลักษณะจากบนสู่ล่าง มีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ หัวใจของการแก้ปัญหาในระยะยาวจึงอยู่ที่การฟื้นคืนอำนาจอันชอบธรรมหรืออำนาจของสังคม โดยการฟื้นอำนาจการควบคุมความรุนแรงของสังคมหรือชุมชน ด้วยการใช้อำนาจสาธารณะและพื้นที่สาธารณะในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ และสนับสนุนอำนาจสาธารณะ โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำการปกครองท้องถิ่น และผู้นำศาสนา เช่น โต๊ะอิหม่าม สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมและหลักนิติธรรม ความเห็นของผู้นำท้องถิ่น ก็คือ "ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมายค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ผู้ใช้กฎหมายไม่นำมาใช้ให้เหมาะสม" กฎหมายจึงต้องให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ในอีกแง่หนึ่งจะต้องมีการเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้พลังประชาสังคมเข้มแข็งจนบังเกิดเป็นพันธมิตรระหว่างผู้รักสันติและต้องการปกป้องการใช้เหตุผลแบบประชาสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net